PM 2.5 – ปลาหมอคางดำ ปชช.อยากเห็นอะไรหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ชาวบ้านพอใจฝ่ายค้านสะท้อนความเดือดร้อนจากปลาหมอคางดำในการอภิปรายฯ อยากเห็นภาครัฐตามล่าหาความจริงต่อ สภาลมหายใจฯ แนะ นายกฯ ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์แก้ปัญหา PM 2.5 ใหม่

ปัญญา โตกทอง แกนนำเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า รู้สึกพอใจในระดับหนึ่งที่ ณัฐชา อินไชยสวัสดิ์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน นำความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ 76 อำเภอ ใน 19 จังหวัด เข้าไปสะท้อนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีครั้งนี้

แต่สิ่งที่อยากเห็น และจะติดตามต่อหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ คือการเอาจริงเอาจังของภาครัฐในการตามล่าหาความจริงกับบริษัทที่ลักลอบนำเข้าปลาหมอคางดำ พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่นำผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้า “ปลาหมอคางดำ” เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย ที่สรุปผลการศึกษาหลังใช้เวลาศึกษานานกว่า 2 เดือน ซึ่งพบว่า มีเอกชนเพียงรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้า รวมถึงรายงานผลการตรวจสอบที่ 171/2561 สิทธิชุมชน กรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ขึ้นมาประกอบการพิจารณาสืบสวนหาความจริง

“ถ้าเอกชนรายนั้นอ้างว่าทำลายหมดแล้ว รัฐก็ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเองไม่พบ แล้วถ้าท่านจะตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบอีกรอบ บริษัทจะกลัวอะไร หรือกรมประมงกลัวเปิดแล้วมาเจอแผล ถ้าไม่กลัวก็ตั้งสิครับเมื่อทุกฝ่ายบริสุทธิ์ใจ แต่ที่ไม่ตั้งเพราะอะไรอันนี้ต้องตอบให้ได้ก่อน ว่าที่ไม่ตั้งเพราะอะไร”

ขณะที่มาตรการกำจัดปลาหมอคางดำ ปัญญา สะท้อนว่า รัฐยังประสบความล้มเหลว ซึ่งอาจจะมาจากการคิดแทนประชาชนไม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วม หรือหวังผลประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา หลังจัดสรรงบประมาณมาเพื่อแก้ปัญหานี้ 98 ล้านบาทแบ่งเป็น

  • งบประมาณซื้อปลาหมอคางดำ 3 ล้านกิโลกรัม เป็นเงิน 60 ล้าน มันเพียงพอกันไหมและนายกฯ รู้หรือยังว่าตอนนี้ประเทศไทยมีปลาคางดำอยู่เท่าไหร่ ไม่ใช่จัดงบฯ มาแบบลิงแก้แห
  • สนับสนุนกากชา 35,000 กิโลกรัม เป็นเงิน10.5 ล้านบาท เท่ากับกากชา กิโลกรัมละ 30 บาทแต่ชาวบ้านซื้อจริง กิโลกรัมละ 23 บาท ก็แพงแล้ว มันมีส่วนต่างกันถึง 7 บาท
  • สนับสนุนปลานักล่า 300,000 ตัว เป็นเงิน 3 ล้านบาท ปลากะพงที่ประมงปล่อยส่วนใหญ่จะเป็นปลาขนาด 3 -5 นิ้ว ที่ใหญ่สุด และราคาปลากะพงนิ้วละ 1 บาท แต่ประมงซื้อปลาตัวละ 10 บาทและปลาอีกง ตัวละ 37 สตางค์ แต่ประมงคิดเหมารวมไปทั้งหมดตัวละ 10 บาท
  • นำไปทำน้ำหมักใช้เงิน 22 ล้านบาท ประชาชนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อจ่ายเงินซื้อปลาให้แล้วกิโลกรัมละ 20 บาท ใครนำไปหมัก ก็ควรต้องเป็นผู้จ่าย ทำไมต้องออกเงินให้ไปทำน้ำหมักเพิ่มเติมอีก เพราะใครเอาไปใช้ประโยชน์ผู้นั้นก็น่าจะเป็นผู้จ่าย เช่น การยางซื้อไปครั้งแรก 50 ล้านบาท ผมเป็นชาวบ้าน ธรรมดา ย่อมมีคำถามในความโปร่งใสของหน่วยงาน ราชการ ที่ใช้เงินภาษีของประชาชน
  • สนับสนุนเครื่องมือ ใช้งบประมาณ 3 ล้าน ไม่เพียงพอกับเกษตรกรผู้เดือดร้อนในพื้นที่ทั้ง 19 จังหวัดเพราะฉะนั้นหน่วยงานจัดซื้อเครื่องมือ 3 ล้านบาทไปแจกจ่ายเฉพาะพวกพ้อง ฐานเสียง ของตัวเองเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับหน่วยงานและสร้างความชอบธรรมให้กับบริษัทที่ทำ CSR เท่านั้นและเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองในการสร้างฐานหาเสียงทางการเมืองให้กับพรรคที่เป็นเจ้ากระทรวง

ที่สำคัญ คือ ชาวบ้านต้องการให้รัฐประกาศเขตภัยพิบัติแต่รัฐไม่ประกาศ อยากทราบว่าเป็นเพราะอะไรทั้งที่มีประชาชนเดือดร้อนถึง 76 อำเภอ ใน 19 จังหวัด แล้ว

สส.ณัฐชา ชี้รัฐบาลไม่ตามล่าหาความจริง “กรณีปลาหมอคางดำ”

วันที่ 24 มีนาคม 2568 ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน ได้นำกรณีผลกระทบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร โดยชี้ให้เห็นว่า 2 รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีการคลอดงบประมาณ 450 ล้านบาท และจะอนุมัติเพิ่มอีก 98 ล้านบาทที่เปรียบเหมือนซื้อยาพาราไปรักษาโรคมะเร็ง หากไม่แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ก็จะไม่สามารถหาทางออกในเรื่องนี้ได้

การออกมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ไม่เป็นรูปธรรม แม้จะมีกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำที่สุดท้ายเป็นเพียง CSR หรือ กิจกรรมเพื่อสังคม ให้กับบริษัทเอกชน ,ปล่อยปลานักล่าไปกินหลาหมอคางดำ, หรือ การนำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์ แต่ทำได้ไม่ทันกับอัตราการเกิด ขณะที่การวิจัยหาแนวทางแก้ไขและการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ ยังเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้และไม่รู้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่

ขณะนี้มีประชาชนในพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกินพื้นที่ 76 อำเภอใน 19 จังหวัดกำลังเผชิญวิกฤตอย่างหนัก ประเมินมูลค่าความเสียหายไว้ที่กว่า 26,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมตัวเลขขาดดุลทางการค้าที่นำเข้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศในทุกๆ ปี

“นายกฯ ไม่ให้ความสนใจกับปัญหานี้ แต่กลับไปรับช่อดอกไม้จากนายทุนใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีหลักฐานเชิงภาพที่บ่งชี้ถึงความใกล้ชิดระหว่างครอบครัวของนายกรัฐมนตรีและบริษัทเอกชนที่ถูกตั้งข้อสงสัย” ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน

พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงรายงานผลการศึกษาปลาหมอคางดำของคณะกรรมาธิการ อว.ที่จัดทำและนำเสนอในสภาฯ ไปก่อนหน้านี้ โดยพบหลักฐานสำคัญว่ามีเอกชนรายเดียวขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แต่นายกฯ แพทองธาร กลับไม่นำรายงานฉบับนี้ไปบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายกฯ ยืนยัน ไม่แบ่งแยก แก้ปัญหาปลาหมอคางดำอย่างเท่าเทียม

ขณะที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า จากที่มีการเปรียบเทียบภาพที่ได้รับดอกไม้ จากคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย วันนั้นมีคนมาจากหลายจังหวัด ขอบคุณเรื่องการอนุมัติงบกลาง 1,622 ล้านบาท เพื่อชดเชยให้กับเรือประมง 923 ลำ จากกรณี IUU ซึ่งได้อนุมัติงบประมาณในรัฐบาลนี้

พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้แบ่งแยกการทำงานระหว่างกลุ่มประมงพาณิชย์ กับประมงพื้นบ้าน โดยการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในวันที่เกษตรกรมาทำเนียบรัฐบาล ก็ได้ส่งนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง และอธิบดีกรมประมงไปรับฟังปัญหาไม่ได้มีการปล่อยปละละเลย โดยได้อนุมัติงบประมาณ และมาตรการต่าง ๆ ไปแล้ว


สภาลมหายใจเชียงใหม่ ย้ำ นายกฯ ต้องปรับกระบวนทัศน์แก้ PM2.5 ใหม่



ด้าน ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ  ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นควัน  PM  2.5 เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่อยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ  มันมีตั้งแต่คนจนในป่าจนกระทั่งถึงคนรวยที่สุดในประเทศ เพราะฉะนั้นปัญหานี้แก้ไม่ได้ด้วยการมาไล่ดับไฟ เพราะว่าหนึ่งเหนื่อย สองหนัก สามเสี่ยงอันตราย มันต้องตั้งหลักใหม่ เข้าใจว่ารัฐบาลไม่ได้มองปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนและไม่ได้วางระบบที่ชัดเจน แต่กลับไปเน้นที่เขตป่า และประกาศห้ามเผาเด็ดขาด ใครเผาโดนจับ ใช้มาตราการทางกฎหมาย ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่แล้วก็ใช้แบบนี้มาตลอดต่อเนื่องมันก็ไม่ได้ผล ฉะนั้น ต้องปรับกระบวนทัศน์หรือ paradigm shift ในการแก้ไขปัญหาใหม่ 

อย่างไรก็ตาม PM 2.5 มันเกิดจากการเผาทุกชนิด เผาน้ำมัน เผาถ่านหิน เผาพื้นที่เกษตร เผาในป่า และการเผาจากเพื่อนบ้านด้วย  ต้องแก้ทุกสาเหตุต้องวางโครงสร้างวางระบบในการดูแล และที่สำคัญที่สุด คือต้องเน้นการป้องกันไม่ใช่ไล่ดับไฟ ป้องกันคือไม่ให้เกิดการเผา เป็นไปได้ไหมที่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น จะมีแรงจูงใจแบบไหน 

“เชียงใหม่ปีนี้จุดฮอตสปอร์ตน้อยแต่สภาพอากาศขึ้นแดงเถือกเลย เพราะจากข้ามจังหวัด จากเพื่อนบ้าน อันนี้ต้องมีมาตรการห้ามรับซื้อข้าวโพดที่มาจากการเผาให้ได้จริง ๆ ที่ผ่านมามันไม่ได้ หรืออีกทางคือคุยกับบริษัทเลยได้ไหม เปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่ มันสามารถทำได้ถ้ามองเชิงระบบ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active