อุตุฯ เตือน พายุ ฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บ จากนั้นอากาศจะลดลง ในช่วงวันที่ 16 – 20 มี.ค. นี้ อีสาน อุณหภูมิลดฮวบ 5 – 8 องศาฯ
วันนี้ (14 มี.ค. 68) นัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาฝ่ายวิชาการ และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 16 – 20 มี.ค.นี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีสภาพอากาศแปรปรวน มีพายุฝนฟ้าคะนอง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่
หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง โดย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะลดลง 5 – 8 องศาเซลเซียส ส่วนภาคอื่น ๆ จะลดลง 2 – 4 องศาเซลเซียส เนื่องจากมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน แต่เนื่องจากขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงฤดูร้อน จึงทำให้รู้สึกอากาศเย็นลง วูบวาบ
โดยเฉพาะภาคอีสานที่จะได้รับผลกระทบก่อนภาคอื่น ๆ ในช่วงกลางวันที่อุณหภูมิสูงสุดต้นทุนเดิม 38 – 39 องศาเซลเซียส อาจจะลดลงเหลือ 30 – 31 องศาเซลเซียส ส่วนตอนเช้าอุณหภูมิต่ำสุด 16 – 17 องศาเซลเซียส

เกิดอะไรขึ้น ทำไม ? อุณหภูมิลดกระทันหัน ?
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มาจากปัจจัย “มวลอากาศเย็นที่เคลื่อนลงมาผ่านประเทศจีน” เป็นหลัก แต่ปัจจัยทางอ้อมคือ “กระแสลมวนขั้วโลก (Polar Vortex)” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อากาศเย็นขนาดใหญ่ซึ่งหมุนวนอยู่บริเวณขั้วโลกเหนือ โดยปกติจะถูกกั้นไว้ด้วยกระแสลมกรดขั้วโลก (Polar Jet Stream) แต่เมื่อกระแสลมวนขั้วโลกขาดเสถียรภาพ ทำให้กระแสลมกรดถูกรบกวนจนมีกำลังอ่อนลงไปด้วย อากาศเย็นบริเวณขั้วโลกดังกล่าวจึงสามารถแผ่ขยายลงมายังละติจูดต่ำ ๆ ได้ สร้างความหนาวเย็นให้กับเขตพื้นที่ที่อุ่นกว่า
อีกทั้งจากภาวะโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ประเทศไทย และกรุงเทพมหานครได้รับผลกระทบจากกระแสลมวนขั้วโลกบ้าง แต่ไม่ใช่ผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีเทือกเขาหิมาลัยขวางกั้น แต่ปัจจัยความหนาวเย็นที่สำคัญของไทยคือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมเป็นระลอก ๆ ทำให้อุณหภูมิลดลงเป็นระลอกเช่นกัน ระยะเวลาที่อุณหภูมิลดลงรอบนี้ จึงยาวขึ้นจากเดิม 2 – 3 วัน เป็น 3 – 5 วัน
“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยได้สัมผัสอากาศเย็นในช่วงเดือน มี.ค – เม.ย. แต่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงปี 2554 ปี 2559 และปี 2565”
นัฐวุฒิ แดนดี
สถิติจากศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุสภาวะอากาศประเทศไทยเดือนมีนาคม 2554 อุณหภูมิต่ำที่สุดวัดได้ 12 องศาเซลเซียส ที่ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน เมื่อวันที่ 17 และ 18 มี.ค. 2554
ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีอุณหภูมิต่ำสุดเมื่อวันที่ 17 มี.ค 2554 อยู่ที่ 18 องศาเซลเซียส ต่อมาในเดือน เม.ย 2554 ไทยได้รับอิทธิพลความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมาปะทะกับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเป็นระยะทำให้อุณหภูมิลดลง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ 16 องศาเซลเซียสช เมื่อวันที่ 1 เม.ย 2554 ที่ อ.เมืองเลย จ.เลย
ถัดมาในปี 2559 แม้ไทยจะได้รับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนต่อเนื่อง แต่ก็ยังพบอุณหภูมิต่ำสุดที่วัดได้ 10.2 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 25 มี.ค 2559 ที่ จ.นครพนม โดยหย่อมความกดอากาศต่ำยังคงแผ่อิทธิพลปกคลุมประเทศไทยต่อเนื่องถึงเดือนเมษายน 2559
และในปี 2565 ไทยเจออากาศเย็นในฤดูร้อนอีกครั้ง เมื่อวันที่ 2 – 3 เมษายน อุณหภูมิต่ำสุดพื้นราบวัดได้ 14.8 องศาเซลเซียส ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในวันที่ 3 เมษายน 2565