คาดปี 2568 ฤดูฝนมาเร็วกว่าปกติแนวโน้มฝนมาก

สทนช. เตือนระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน วันนี้ -20 มี.ค. คาดปีนี้จะเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปกติ และปริมาณฝนค่อนข้างมาก ชี้ปริมาณน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ยังมีอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 64 แห่ง พร้อมเร่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนล่วงหน้า

วันนี้ (17 มีนาคม 2568) สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ปีนี้คาดว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนเร็วกว่าปกติคือในช่วงเดือนพฤษภาคม และมีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างมาก โดยมากกว่าค่าปกติ 17% และอาจจะมีฝนทิ้งช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ก่อนที่ฝนจะกลับมาตกมากอีกครั้งในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะมีฝนมากกว่าค่าปกติถึง 29%

นอกจากนี้ ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2568 พบว่ามี 21 แห่ง ที่จะอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก และขณะนี้ได้ ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์โดยใช้ข้อมูลคาดการณ์ฝนจำลองสถานการณ์ของอ่างเก็บน้ำในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อปรับแผนการระบายน้ำ

โดยในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน อาจจะมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยจะมีการประสานกับประชาชนบริเวณท้ายน้ำเพื่อทราบการพร่องน้ำไว้รองรับน้ำหลากและนำน้ำไปใช้ประโยชน์ได้ ขณะนี้ทุกหน่วยงานได้เร่งขับเคลื่อน 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบ โดยเป็นการดำเนินการเชิงป้องกันล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดู เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนจากอุทกภัยในช่วงฤดูฝนให้ได้มากที่สุดด้วย


เลขาธิการ สทนช. ยังเปิดเผยว่า ปัจจุบันปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยอยู่ในสภาวะเป็นกลาง แต่เนื่องจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนส่งผลให้มีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บในบางพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนจากภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

ปี 2568 ไทยจะมีปริมาณฝนมากแค่ไหน

คาดการณ์ปริมาณฝน พบว่า ช่วงเดือนมีนาคม จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 22% และเดือนเมษายน จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ 49% สำหรับสถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำทั่วประเทศในปัจจุบัน มีปริมาณน้ำ 51,989 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 65% ของความจุ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และมากกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2567 ซึ่งมีปริมาณน้ำ 50,835 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 63% ของความจุ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้ส่งผลให้ปัจจุบันมีน้ำไหลเข้าแหล่งน้ำบางแห่งเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอกอ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด และมีแหล่งน้ำขนาดกลางเฝ้าระวังน้ำน้อยอีก 60 แห่ง ซึ่ง ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมวางแผนบริหารจัดการน้ำ วางแผนการเพาะปลูกพืช และจัดสรรน้ำโดยการจัดลำดับความสำคัญ พร้อมชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) และลงพื้นที่เพื่อทำงานเชิงรุก ช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำให้ประชาชนอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงยังคงดำเนินการตาม 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 อย่างเคร่งครัด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง

วันน้ำโลกปีนี้ เน้นประเด็น ‘การอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง’
ปัจจุบัน ปัญหาด้านน้ำถือเป็นวาระสำคัญระดับโลก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อแหล่งน้ำทั่วโลก โดยเฉพาะธารน้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งกำลังละลายอย่างรวดเร็ว องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ได้กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น “ วันน้ำโลก (World Water Day)” จึงได้ให้ “Glacier Preservation” หรือ “การอนุรักษ์ธารน้ำแข็ง” เป็นประเด็นสำหรับวันน้ำโลกในปีนี้

โดย สทนช. ในนามรัฐบาลไทย จะเป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมวันน้ำโลกภายใต้แนวคิด “น้ำคือชีวิต การอนุรักษ์น้ำและธารน้ำแข็งเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นเตือนทุกภาคส่วน ในวันที่ 21 มีนาคม 2568 ณ ห้องแคทลียา ชั้น 1 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยในงานจะมีการฉายวิดีทัศน์การแถลงสารจากนายกรัฐมนตรี เพื่อประกาศนโยบายและเจตนารมณ์ในการรณรงค์ให้เกิดการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และร่วมปรับตัวต่อสถานการณ์น้ำของโลก

​ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม เป็นประธานในพิธี โดยภายในงานจะมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของน้ำและธารน้ำแข็ง รวมถึงประเด็นทรัพยากรน้ำในประเทศไทย และมีการจัดเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ “Climate Change Adaptation (การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ)” จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานวันน้ำโลก ปี 2568 หรือติดตามรับชมกิจกรรมภายในงานผ่านการถ่ายทอดสดทาง Facebook Live ของ สทนช. ตั้งแต่เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active