หวั่นลานีญาน้ำมาก! กทม. เตรียมพร้อมระบบระบายป้องกันท่วมเมือง

คาด ก.ค.- ก.ย. นี้ ฝนเพิ่มขึ้น กทม. ตั้งเป้าฝนตก 2-3 ชั่วโมง เร่งระบายไม่ให้ท่วมขังนาน ส่วนแผนอนาคตเร่งสร้างอุโมงค์บึงหนองบอนให้เสร็จ ปี 2569

ตามที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ในการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากมีความเป็นห่วงแนวโน้มของอิทธิพลสภาวะลานีญาที่จะส่งผลให้สถานการณ์ฝนปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้ ที่มีความเข้มข้นของฝนสูงขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567

ณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในส่วนของ กทม. ขณะนี้ได้เร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทม. ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ระบบระบายน้ำ บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบความพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ

ณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร

พร้อมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำที่ถูกต้อง และการสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย

ขณะที่วันนี้ (3 มิ.ย. 67) ได้ประชุมหารือการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และลงพื้นที่อุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งการหารือในหลายประเด็น ได้แก่

  • เพื่อการเตรียมความพร้อมตรวจสอบแนวทาง การแก้ปัญหาน้ำท่วม

  • การบริหารจัดการน้ำร่วมกันในส่วนที่เกี่ยวข้องจังหวัดข้างเคียง และประสานงานเพื่อบูรณาการแบบส่วนร่วม เพราะไม่ว่าโครงการต่าง ๆ ที่ก่อสร้าง กทม. ก็พัฒนาในพื้นที่อย่างเดียว ไม่ได้ต้องพัฒนาทั้งระบบ

  • แนะนำโครงการ ในแต่ละโครงการที่ต้องใช้งบประมาณเพื่อจะได้หาแนวทางบริหารจัดการร่วมกัน

  • กำชับทุก 50 เขต ให้ติดตามแก้ปัญหาอย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมศูนย์เครื่องจักรกล 6 ศูนย์ ติดตามช่วยเหลือ
สุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนัการระบายน้ำ กทม.

สุราษฎร์ เจริญชัยสกุล ผู้อำนวยการสำนัการระบายน้ำ บอกว่า ขณะนี้บริเวณถนนเส้นเลือดฝอยได้ขุดลอกท่อระบายน้ำ ประมาณ 4,200 กิโลเมตร ยังขุดลอกคลองกว่า 179 คลอง รวมระยะทางกว่า 217,930 เมตร ตอนนี้เสร็จสิ้นไปกว่า 66% หรือ 144,337 กิโลเมตร เพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน คือต้องให้ทันฝนใหญ่ 

ขณะที่ปัจจุบัน ความสามารถในการรับน้ำฝน ถ้าฝนตกประมาณ 2-3 ชั่วโมง เชื่อว่าระบายทัน แต่ถ้าตก 140-150 มิลลิเมตร ตั้งเป้าว่าไม่ให้เกินข้ามคืนซึ่งตั้งเป้าตอนเช้าต้องแห้งแล้ว

ส่วนการเตรียมพร้อมคือเตรียมเครื่องจักร เตรียมเครื่องสูบน้ำชั่วคราว บุคคลากร โดยผู้ว่าฯ กทม. เตรียมแผนให้เตรียมรถ รับส่งคนในจุดบริเวณสำคัญที่ท่วมหนัก ในกรณีฝนตกหนักมาก ๆ เพราะมีคนตกค้างเมื่อน้ำท่วมหนัก

ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ยังบอกอีกว่า สำหรับบริเวณบึงหนองบอน ที่เป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ของ กทม. ซึ่งถือเป็นโครงการที่ช่วยบรรเทาน้ำท่วมได้ มีความสามารถรับน้ำได้ถึง 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 86 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตพระโขนง เขตประเวศ เขตบางนา รอบ ๆ สวนหลวง ร.9 บึงหนองบอนยังช่วยบรรเทาน้ำท่วมขัง เพราะเวลาฝนตกหนักก็เปิดให้ไหลเขามาในบึงหนองบอน ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้ามีการเอาน้ำเข้ามาในแก้มลิงก็ต้องมีการสูบออก โดยการสูบออก ก็จะใช้อุโมงค์ บึงหนองบอน ออกไปแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อรองรับฝนในช่วงต่อมาก็จะทำลักษณะกลไก จุดเสี่ยงโดยรอบ สวนหลวง ร.9 ถนนศรีนครินทร์ ย่านประเวศ ย่านมหาวิทยาลัยรามคำแหง 2 ระบายดีขึ้น

ปัจจุบันการก่อสร้างอุโมงค์รบายน้ำบึงหนองบอน จะแล้วเสร็จ 2569 และอนาคตจะมีแผนเชื่อมต่อไปที่ตะวันออก เชื่อมจากลาดกระบังและสูบออกจากลาดกระบัง ส่วนต่อขยายเราก็มีการบริหารจัดการน้ำไปพร้อมพื้นที่ข้างเคียง และฝั่งตะวันออกก็จะช่วยได้มากขึ้น

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ขณะที่ สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการประเมินสถานการณ์ฝน โดยคาดว่าลานีญาจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ทำให้ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ ซึ่งประสิทธิภาพการระบายน้ำของพื้นที่กรุงเทพมหานครอยู่ที่ 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง

ดังนั้น หากปริมาณฝนตกมากกว่านั้นจะส่งผลต่อระบบการระบายน้ำ กทม. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเหล่าทัพ และกรมราชทัณฑ์ ในการเร่งขุดลอก ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นแผนการดำเนินงานที่เร็วกว่าในทุก ๆ ปี

“พื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม. ปริมาณฝนที่ตกลงมาในคลองประเวศบุรีรมย์ และการระบายน้ำยังไม่สามารถรองรับพื้นที่ฝั่งตะวันออกได้มากนัก ซึ่ง กทม. ดำเนินการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2569 นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และคลองสี่ ระยะทาง 13.25 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาเสนองบประมาณในปี 2569 และจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2573 หากทั้งสองโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำดียิ่งขึ้น เชื่อมั่นว่า จะสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครได้เป็นอย่างดี”

สุรสีห์ กิตติมณฑล

ในส่วนของ กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ระยะเวลาดำเนินงาน 6 ปี (ปี 68-73) ซึ่งอยู่ใน 9 แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตอนล่าง ที่จะช่วยเพิ่มอัตราการระบายน้ำจาก 210 ลบ.ม./วินาที เป็น 400 ลบ.ม./วินาที สามารถป้องกันและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ 298,250 ไร่ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ ในช่วงฤดูแล้งยังสามารถเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในคลองได้ถึง 17 ล้าน ลบ.ม./ปี ปัจจุบันเตรียมเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active