เดินหน้า เยาวชนมลายู ตระหนักถึงการมีส่วนร่วม จิตอาสา ปกป้องทรัพยากร เผชิญหน้าวิกฤต สร้างเครือข่ายให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ปรึกษางานฯ หวัง ฝ่ายความมั่นคงเปลี่ยนหลักคิด อย่าปิดกั้น พื้นที่สื่อสารสาธารณะอย่างเปิดเผย หวั่นย้อนแย้งกระบวนการสันติภาพ
ตามที่ สำนักจุฬาราชมนตรี โดย อรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ออกประกาศวันที่ 30 มีนาคม 2568 ระบุว่า กำหนดวันที่ 1 ของเดือนเซาวาล (วันอีดิ้ลฟิตรี) ฮิจเราะห์ศักราช 1446 หลังจากมีผู้เห็นดวงจันทร์ในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2568 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ตามประกาศดังกล่าว วันอีดิ้ลฟิตรี ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาอิสลามที่มาหลังจากการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จึงตรงกับวันจันทร์ ที่ 31 มีนาคม 2568 นั้น
หนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นทุกปีในพื้นที่ชายแดนใต้ ภายหลังการเฉลิมฉลองเนื่องในวันฮารีรายอ คือ การรวมตัวแต่งกายด้วยชุดมลายู ของเยาวชน คนรุ่นใหม่ ณ ชายหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งในปี 2568 จัดขึ้นภายใต้ชื่อ Melayu Raya 2025 Green Melayu Suci PATANI ในวันที่ 2 – 3 เม.ย. 68
อานัส พงค์ประเสริฐ นายกสมาคม The Looker ในฐานะที่ปรึกษางานมลายู รายา 2025 เปิดเผยกับ The Active ถึงการจัดงาน ว่า ปีนี้คณะทำงานได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจึงใช้ชื่อว่า Green Melayu เพราะตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในพื้นที่ชายแดนใต้ประสบปัญหาวิกฤตน้ำท่วมอย่างหนัก และยังถือเป็นวิกฤตของโลกที่ต้องเผชิญกับปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประชาชนทุกคนต้องตระหนัก โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ จึงถือโอกาสงานในปีนี้สร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น โดยใช้พื้นที่การแสดงออกของกิจกรรมรวมตัวชุดมลายู

ทั้งนี้การทำให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงการมีส่วนร่วม เป็นจิตอาสา ช่วยดูแล ปกป้องทรัพยากร ไปจนถึงการรวมกลุ่มให้ความช่วยเหลือในวิกฤตภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น น้ำท่วม ของกลุ่มเครือข่ายเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ ถือว่าเป็นไปตามคำสัตยาบรรณที่ทุกคนให้ไว้ภายในงานมลายู รายาทุก ๆ ปี ว่า “พวกเราในฐานะเยาวชนจะช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะทุกข์หรือสุข เราจะร่วมกันสู้ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรจะช่วยกัน เยาวชนจะไม่หันหลังให้กับสังคม”
“สิ่งเหล่านี้จึงถูกส่งต่อผ่านเยาวนในทุก ๆ ปี เป็นภารกิจร่วมเพื่อสร้างการตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ที่ไม่ใช่แค่เรื่องปรากฎการณ์ภัยพิบัติ แต่พูดถึงการที่คนที่นี่ได้เรียนรู้ เข้าใจเรื่องทรัพยากร สิทธิการเข้าถึงทรัพยากร การดูแล หวงแหน ทรัพยากรในพื้นที่ ในการออกมายืนหยัดว่านี่คือแผ่นดินของบรรพบุรุษคนมลายู”
อานัส พงค์ประเสริฐ

ส่วนอีกประเด็นสำคัญที่เป้นธีมงานในปีนี้ คือ คำว่า Suci PATANI (ซูจี ปาตานี) ซึ่งมีความหมายในเรื่องของ “ความบริสุทธิ์ สะอาด” โดย อานัส อธิบายว่า ไม่เพียงแค่การสะท้อนผ่านการสร้างเมืองให้สะอาด การจัดการปัญหาขยะ หรือ มลพิษ แต่ในความหมายหลักของคำ ๆ นี้ คือ อยากให้ความสะอาดเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ โดยเฉพาะ การเมืองที่สะอาด คือ สิ่งที่พยายามปลูกฝังเยาวชนในพื้นที่ให้ตระหนักเรื่องนี้ เพื่อไปสู่การสร้างสังคมให้สะอาด
“ยอมรับว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาทั้งสนามการเมืองใหญ่ ไปจนถึงการเมืองท้องถิ่น ล้วนเป็นการเมืองรูปแบบเดิม ที่มีแต่ความสกปรก เราจึงอยากให้เยาวชนตระหนักถึงการสร้างการเมืองให้สะอาด รวมทั้งอยากให้เศรษฐกิจอยู่ภายใต้กรอบความเชื่อศาสนา สร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชนด้วยคำว่า Green Melayu Suci PATANI ให้เยาวชนมลายูใส่ใจโลก มีจิตใจที่สะอาดคอยขับเคลื่อนสังคม”
อานัส พงค์ประเสริฐ
หวังฝ่ายความมั่นคงเปลี่ยนมุมมอง เปิดพื้นที่แสดงออกอย่างเปิดเผย
ส่วนประเด็นความกังวลการจัดงานในปีนี้ ที่ปรึกษางานมลายู รายา 2025 เปิดเผยว่า หลังจากที่จัดตั้งแต่ปีแรกมาจนถึงปัจจุบัน ก่อนจัดงานได้พูดคุย ปรึกษากับเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายความมั่นคงมาตลอด เพื่อหารือ วางแผนร่วม กันกับหน่วยงานในท้องที่ เทศบาล อำเภอ ฝ่ายความมั่นคงเองก็คุยกันมาตลอด ยอมรับว่า แม้เจ้าหน้าที่ระดับปกครองจะเข้าใจวัตถุประสงค์ และทราบถึงเจตนาดีของการจัดงาน แต่ยังมีหลักคิดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ที่ยังไม่ไว้ใจ เป็นกังวล การจัดงาน แต่ทางคณะผู้จัดก็ยืนยันปฏิบัติตามเงื่อนไข และเป็นไปตามกฎหมาย

“มันยากมาตลอดตรงหลักคิด ความเข้าใจของฝ่ายความมั่นคง ที่ยังติดกรอบความคิดเดิม ๆ ทั้งในช่วงที่มีเหตุการณ์รุนแรง หรือไม่มีก็ตาม การจะจัดกิจกรรมรวมตัวกันของประชาชนในพื้นที่ถือว่าทำได้ยากมาก เหมือนที่เขาพยายามแถลงการณ์ว่าสนับสนุนการจัดงาน แต่ก็อยู่บนเงื่อนไขมากมาย ทั้งที่เราพยายามยืนยันมาตลอดว่าจัดงานอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ภายใต้รัฐธรรมนูญ และยิ่งมีเงื่อนไขความรุนแรงในพื้นที่มากขึ้นในช่วงเวลานี้ ก็ยิ่งทำให้การจัดงานยากขึ้นตามไปด้วย”
อานัส พงค์ประเสริฐ
อานัส ยังย้ำว่า งานนี้สะท้อนชัดเจนถึงความพยายามจะสร้างพื้นที่สาธารณะให้คนได้แสดงออก ให้ได้พูดคุย แม้มีควรเห็นต่างกันอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การสื่อสารในพื้นที่สาธารณะอย่างเปิดเผย จะช่วยหนุนเสริมเรื่องสันติภาพในพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้
“เราไม่ต้องการแค่การคุยสันติภาพบนโต๊ะเจรจา โดยคนเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่ต้องการพื้นที่สาธารณะโดยไม่ถูกปิดกั้น ต้องคุยในบรรยากาศที่ประชาชนพูดคุยแสดงออกได้ ถ้าถูกจำกัดแบบนี้ การพูดคุยระหว่างขบวนการ กับรัฐก็อาจไม่มีประโยชน์”
อานัส พงค์ประเสริฐ