เอาจริง! ใบสั่งไม่ใช่กระดาษเปล่า ตัดคะแนน-สั่งพักใบขับขี่ ผิดซ้ำจำคุก

“ต่อไปใบสั่งจะไม่ใช่แค่กระดาษเปล่าอีกต่อไป” มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ 9 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ระหว่างรอหากทำผิดแล้วไม่ไปชำระค่าปรับตามวันเวลาที่กำหนด จะมีความผิดในข้อหาไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง มีหมายเรียกผู้ที่ได้รับใบสั่งหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถ ถ้าไม่มาตามหมายเรียกใน 2 ครั้ง จะขออำนาจศาลออกหมายจับดำเนินคดี

พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่า ในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องความเร็ว ที่ผ่านมาได้มีการบังคับใช้กฎหมายความเร็ว 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.ทางหลวง ซึ่งทางกองบังคับการตำรวจทางหลวงและตำรวจจราจรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ตรวจจับความเร็วโดยใช้เครื่องตรวจจับความเร็วในรูปแบบกล้องตรวจจับอัตโนมัติตลอด 24 ชม.และแบบเคลื่อนย้ายโดยใช้บุคคลควบคุม

ที่ผ่านมามีการตรวจจับและออกใบสั่งแต่ละปีมากกว่า 11-14 ล้านใบ มีความผิดเฉพาะการใช้ความเร็วเกินกำหนดมากถึง 6-8 ล้านใบต่อปี และไม่ไปจ่ายค่าปรับ ทำผิดซ้ำมากกว่าร้อยละ 80 ไปเสียค่าปรับเพียงร้อย 10 เท่านั้น ทำให้เห็นว่าผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร จึงต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มข้น คือ 1.มาตรการปกครอง ด้วยการงดออกป้ายวงกลมที่ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ใครที่ไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง เมื่อไปเสียภาษีที่งานทะเบียนขนส่ง ตรวจสอบข้อมูลพบว่า ไม่ได้จ่ายค่าปรับจะได้แค่เพียงใบรับรองชั่วคราว มีอายุเพียง 30 วันและให้ไปชำระให้เรียบร้อยจึงจะมารับป้ายวงกลมตัวจริงได้ และ 2.มาตรการตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถ โดยผู้ขับรถที่มีใบอนุญาตขับขี่ทุกประเภทจะมี 12 คะแนน ผู้ขับขี่ฝ่าฝืนโดนใบสั่งจะถูกตัดเริ่มตั้งแต่ 1-4 คะแนน ซึ่งการขับรถเร็วเกินกำหนด จะถูกตัด 1 คะแนน และหากกระทำผิดจนเหลือศูนย์คะแนน จะมีหนังสือแจ้งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่เป็นเวลา 90 วันและในระหว่างถูกพักใช้หากไปกระทำผิดถูกจับจะมีโทษจำคุก 3 เดือน ส่งดำเนินคดีในชั้นศาล

“มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ 9 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ระหว่างรอหากทำผิดแล้วไม่ไปชำระค่าปรับตามวันเวลาที่กำหนด จะมีความผิดในข้อหาไม่ชำระค่าปรับตามใบสั่ง มีหมายเรียกผู้ที่ได้รับใบสั่งหรือเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถ ถ้าไม่มาตามหมายเรียกใน 2 ครั้ง จะขออำนาจศาลออกหมายจับดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ต่อไปจะเห็นว่าใบสั่งไม่ใช่แค่กระดาษเปล่าอีกต่อไป หวังว่าเมื่อกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้จะทำให้ประชาชนหรือผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎหมายมากขึ้น”

ศ.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุอันดับหนึ่งของอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยและเสียชีวิตมากแต่ละปีคือ การใช้ความเร็ว เพราะเพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความรุนแรง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มมีมาตรการจัดการความเร็วอยู่บ้าง แต่ยังมีน้อยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ความรุนแรง

“5 ปีที่ผ่านมาบางหน่วยงานได้พยายามกำหนดมาตรการจัดการความเร็วเพิ่มขึ้น ทั้งด้านบังคับใช้กฎหมาย มาตรการด้านวิศวกรรม และมาตรการให้ความรู้ แต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นนโยบายที่ออกมาบางอย่างกลับสวนทางกับการจัดความเร็วที่ควรจะเป็น เช่น นโยบายการเพิ่มความเร็วจำกัดเป็น 120 กม./ชม. ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการสนับสนุนให้มีการใช้ความเร็วบนทางหลวงบางสายทางที่เพิ่มขึ้นเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและความรุนแรงต่อชีวิต”

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ยังกล่าวอีกว่า จากการทบทวนสถานการณ์ปัญหา การวิเคราะห์ปัญหาเชิงระบบอย่างรอบด้านแล้วพบว่า มาตรการสำคัญที่ควรถูกนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งเน้นขับเคลื่อนการจัดการความเร็วในประเทศไทย คือ 1.การกำหนดความเร็วจำกัดที่เหมาะสมและเป็นที่รับรู้ของประชาชน 2.การพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางกายภาพของถนนเพื่อการจัดการความเร็ว 3.การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายเรื่องความเร็วที่มีประสิทธิภาพ 4.การสร้างจิตสำนึก ความเข้าใจและการรับรู้ของผู้ใช้ถนน เพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม 5.การส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในการจัดการความเร็ว 6.การกำกับติดตาม และประเมินผล ทั้งนี้ประเทศไทยสามารถดำเนินการตามมาตรการที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เชื่อว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยจะลดลงเป็นอย่างมาก ดังเช่นที่ในประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรืออังกฤษได้ดำเนินการสำเร็จมาแล้ว

ขณะที่ ทรงฤทธิ์ ชยานันท์ วิศวกรโยธาเชี่ยวชาญ กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายให้ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม.ในเส้นทางที่กำหนดและประกาศนำร่องการใช้งานระยะที่ 1 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 จนปัจจุบันระยะที่ 3 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสิ้น 10 สายทาง ก่อนเปิดใช้ได้สำรวจปรับปรุงสิ่งแวดล้อม พบไม่มีปัญหาอุปสรรค นอกจากนี้การกำหนดตัวเลขช่องจราจรความเร็ว 80-100-120ได้มีการประชาสัมพันธ์มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปิดใช้ระยะหนึ่งผู้ใช้เส้นทางส่วนใหญ่เข้าใจมาตรการและการใช้ความเร็วในช่องจราจรได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้สถิติอุบัติเหตุทางถนนหลังใช้มาตรการ 1 ปี (ทางหลวงหมายเลข 32) พบเกิดอุบัติเหตุ 231 ครั้ง จากชนท้ายร้อยละ 39.48 ของอุบัติเหตุทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกับ 1 ปีก่อนการดำเนินการ มีอุบัติเหตุ 260 ครั้ง มีลักษณะชนท้ายร้อยละ 38.46 เป็นตัวเลขที่ลดลง แต่รูปแบบการชนท้ายก่อนและหลังใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ไม่มีความแตกต่าง

“แสดงว่านโยบายการอนุญาตให้ใช้ความเร็วให้เหมาะสมกับสภาพทางกายภาพและสภาพแวดล้อม ไม่ได้ส่งผลต่อจำนวนอุบัติเหตุให้เพิ่มขึ้น แต่ควรเน้นความเข้าใจผู้ใช้เส้นทางให้ปฏิบัติตามป้ายเครื่องหมายจราจร และหากเปลี่ยนเลนควรให้สัญญาณไฟก่อนเปลี่ยนเลนทุกครั้ง เว้นระยะห่างที่ปลอดภัย และย้ำเตือนผู้ขับขี่ที่ขับช้าแล้วอยู่ช่องขวาสุด ควรหลบซ้ายและลดความเร็วลงตามที่กำหนด เพื่อให้รถคันหลังได้ขับแซง เป็นการลดความเสี่ยงขับจี้และชนท้าย”

โดยปัจจุบันกรมทางหลวงมีป้ายแนะนำการใช้ความเร็วแบบแปรเปลี่ยนได้ รวมถึงมีป้ายกำหนดการเว้นระยะห่างปลอดภัยกำหนดไว้ ขอให้สังเกตป้ายและปฏิบัติตาม กฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการสัญจรต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น

ก่อนหน้านี้ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ร่วมกับภาคีเครือข่าย ก็เคยจัดเวทีสาธารณะในประเด็น “เร็วให้ถูกเลน ประเมินเป็น เว้นระยะ = ลดความเสี่ยง” เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการใช้ความเร็วที่เหมาะสม กระตุ้นจิตสำนึกความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน ตลอดจนร่วมตรวจสอบ แนะนำ ขับเคลื่อนการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการจัดการความเร็วบนท้องถนนของประเทศไทย เพราะแต่ละปีผู้โดนใบสั่งเฉพาะความเร็ว มีมากกว่า 6-8 ล้านใบต่อปี ไม่ไปจ่ายค่าปรับ-ทำผิดซ้ำกว่าร้อยละ 80

พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้มีนโยบายอนุญาตให้ถนนสายหลักบางเส้นทางสามารถใช้ความเร็ว 120 กม./ชม.ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ก่อนเปิดใช้งานจริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาระบบเพื่อรองรับการใช้งานอย่างเต็มที่

“แต่ก็ยังมีข้อกังวลจาก ผู้ขับขี่และผู้ใช้รถใช้ถนนเกี่ยวกับการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในช่องจราจรที่กำหนด ซึ่งอาจจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุตามมาได้ จึงอยากเห็นการขับเคลื่อน ปรับปรุงแก้ไข ซ่อมแซมส่วนที่ขาดหรือพัฒนาเพิ่มเติมเพราะอนาคตอาจมีการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นอีก นอกจากนี้อยากจะกระตุ้นให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เห็นความสำคัญของการฝึกทักษะขับขี่ปลอดภัย และตระหนักว่ายิ่งเร็ว ยิ่งเสี่ยง”

หากเทียบเท่ากับการตกจากตึกสูง เพราะการขับด้วยความเร็วสูง แรงปะทะเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็สูงตามไปด้วย เช่น ขับด้วยความเร็ว 80 กม./ชั่วโมง เท่ากับตกตึก 8 ชั้น ความเร็ว 100 กม./ชั่วโมง เท่ากับตกตึก 13 ชั้น และความเร็ว 120 กม./ชั่วโมง เท่ากับตกตึก 19 ชั้น ดังนั้นการขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ขับด้วยความเร็วที่เหมาะสมตามกฎหมายแนะนำ จะสามารถช่วยลดความสูญเสียลงได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์