เฝ้าระวังระดับน้ำลุ่มน้ำมูลตอนบน อุตุฯคาดพรุ่งนี้ฝนยังหนัก

กรมชลฯเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได แต่ไม่ให้กระทบพนังกั้นน้ำ ขณะที่สถานการณ์ทั่วประเทศระดับน้ำท่วมขังเริ่มคลี่คลายยังเหลืออีก 11 จังหวัดที่ยังรอการช่วยเหลือ

วันนี้ (11 ก.ย.2565) ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้มีประกาศฉบับที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2565 เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำมูล ในช่วงวันที่ 13 – 18 ก.ย.นี้ โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศลเพิ่มมากขึ้นและระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนได้เพิ่มสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำมูลในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 9–12 ก.ย.นี้ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ได้ประสานให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล อยู่ในเกณฑ์ 1,100–1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที และมวลน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชีและลำน้ำสาขา ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.เมืองอุบลราชธานีจ.อุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ 2,500–2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 13-18 ก.ย.นี้ ระดับน้ำในแม่น้ำบริเวณ อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี จะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.30–0.50 ม. โดยไม่ส่งผลกระทบกับพนังกั้นน้ำที่ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ จึงเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เช่น ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย รวมทั้งจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมเตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที และประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง 

ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่นกาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ภาคกลาง จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรีสุพรรณบุรี และราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก จ.นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง และพังงา

แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  ปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 53,058 ล้าน ลบ.ม. (65%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 46,361 ล้าน ลบ.ม. (65%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ แม่งัด แควน้อย ทับเสลา อุบลรัตน์ ขุนด่านปราการชล บางพระ หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ด

11 จังหวัดยังคงมีน้ำท่วมขัง ปภ.เร่งประสานจังหวัดสำรวจความเสียหายและช่วยเหลือผู้ประสบภัย

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วม 11 จังหวัด รวม 39 อำเภอ 182 ตำบล 884 หมู่บ้าน แยกเป็น อิทธิพลจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง โดยตั้งแต่วันที่ 4 – 10 ก.ย.นี้ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 28 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน พะเยา สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลยหนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ปทุมธานีนนทบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และ ตรัง รวม 57 อำเภอ 109 ตำบล 398 หมู่บ้านประชาชนได้รับผลกระทบ 1,227ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 20 จังหวัด

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้วได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับ แจ้งเหตุ 1784” Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active