ไทยติดอันดับ 9 เสี่ยงภัยพิบัติสูงสุดในโลก

สวนทางความตระหนักรู้ Climate Change รั้งท้ายอาเซียน! ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนะผู้บริหารให้ความสำคัญกับ”ภัยพิบัติ” เป็นเรื่องเร่งด่วน ขณะที่ไทย และทั่วโลกเจอปัญหาใหม่ ท่วม-แล้งซ้ำซาก ขยายวงและรุนแรงขึ้น

วันนี้ (17 ต.ค.)รศ.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้ ความเสียหายภาพรวมของประเทศไทยมีจังหวัดที่ได้รับน้ำท่วม 55 จังหวัด ได้รับผลกระทบกว่า 5 แสน 3 หมื่นครัวเรือน พื้นที่เกษตรเสียหาย 4.4 ล้านไร่ ซึ่งยังไม่นับรวมความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ จนเกือบจะเทียบเท่าผลกระทบในปี 2564 ที่มีภาคการเกษตรเสียหายกว่า 5 ล้านไร่

แม้ตัวเลขความเสียหายในปี 2565 จะน้อยกว่าหากเทียบกับมหาอุทุกภัยปี 2554 ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี สร้างผลกระทบมากกว่า 9 หมื่นครัวเรือน ความเสียหายทางการเกษตรมากกว่า 11.20 ล้านไร่ แต่ปีนี้ ทั้งไทยและทั่วโลกพบ พื้นที่ใหม่ของน้ำท่วมซ้ำซากขยายวงมากขึ้น เช่น จ.อุบลราชธานี จ.ศรีสะเกษ ซึ่งหลายพื้นที่ไม่เคยเจอกับน้ำท่วมมาก่อน เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากผลของโลกร้อน และความแปรปรวนของสภาพอากาศ

สหรัฐอเมริกา ทำวิจัยและพบว่า พื้นที่ท่วม-แล้งซ้ำซาก กระจายตัวไปในพื้นที่ใหม่ และมีความรุนแรงมากกว่าในประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผลมาจาก สภาพอากาศแปรปรวน… เราจึงไม่สามารถเอาข้อมูลเก่ามาใช้ได้ การประเมินความเสี่ยงภัยพิบัติจึงควรทำเป็นตลอดทั้งปี และควรให้ความสำคัญกับมิติสิ่งแวดล้อม ไม่น้อยไปกว่า มิติทางเศรษฐกิจ”

รศ.วิษณุ อรรถวานิช ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร

ไทยติด Top 9 เอเชีย เสี่ยงภัยพิบัติ แต่รับรู้รั้งท้ายอาเซียน

รศ.วิษณุ อ้างอิงข้อมูล Global Climate Risk Index 2021 ของ Germanwatch
ที่ทำงานวิจัยเพื่อหาว่า ประเทศใดที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสภาพอากาศแปรปรวน (Climate Change) มากที่สุด โดยศึกษาในช่วงปี 2000-2019 และพบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 9 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศที่แปรปรวนมากที่สุด

ไทยติดอันดับ 9 ประเทศที่มีความเสี่ยงภัยพิบัติจากภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศแปรปรวน

ผู้เชี่ยวชาญฯ ย้ำว่า ภาวะโลกร้อนยังทำให้สถานการณ์น้ำทะเลสูงขึ้น ขณะที่แผ่นดินของ เมืองหลวงอย่าง กทม. เจอกับปัญหาดินอ่อน และดินทรุดตัว กทม. และจังหวัดที่ติดกับทะเล จึงมีความเสี่ยงสูงที่เกิดน้ำท่วม และผลกระทบรุนแรง จึงอยากฝากไปถึงภารรัฐ ให้ตระหนักถึงการสร้างนโยบายด้านภัยพิบัติแบบเชิงรุก รายงานแบบสำรวจข้อมูลพยากรณ์สภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2565 โดยสถาบัน ISEAS Yusof Ishak ก็ยังพบว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหนักที่สุด ในปี 2558 ธนาคารพัฒนาเอเชียพยากรณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสามารถผลาญ 11% ของ GDP ภูมิภาคภายในหนึ่งศตวรรษ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ยังได้นำเสนอมุมมองของประชากรในอาเซียนที่มีต่อสภาพอากาศในภูมิภาค โดย อ.วิษณุ ย้ำว่า จากงานวิจัยพบว่า ไทยติดอันดับ 10 ของประเทศที่มีความตระหนักรู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อย หรือรั้งท้ายอาเซียนอีกด้วย

แนะผู้บริหาร เร่งผลักดัน “นโยบายภัยพิบัติ”

รศ.วิษณุ วิเคราะห์ว่าที่ผ่านมา ไทยจะลดความสูญเสียได้มากกว่าหากมีระบบการเตือนภัยที่ทำงานเชิงรุกมากกว่าเวลานี้ เพราะเรื่องของสภาพอากาศแปรปรวน ผังเมืองที่เป็นปัญหา สิ่งปลูกสร้างที่เพิ่มขึ้นจนไม่มีทางไหลของน้ำ เป็นสิ่งที่ไทยสามารถประเมินได้หากมีมาตรการเชิงรุกก็จะช่วยลดผลกระทบได้มากขึ้น มีข้อเสนอถึงทางออกว่า

  • ระยะสั้นของไทย ควรมีการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงที่ทันสมัย คำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินมากขึ้น โดยเร่งนำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงสูงมาจัดทำก่อนเพื่อลดผลกระทบ
  • ถัดมากคือ การให้ความสำคัญของการกระจายอำนาจ ให้การแก้ไขน้ำท่วม น้ำแล้งอยู่ในมือของคนที่ใกล้ภัยมากที่สุด คือ ท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมา ไทยยังบูรณาการแต่ในนาม แต่ในทางปฏิบัติยังบริหารจัดการภัยธรรมชาติแบบรวมศูนย์
  • การบูรณาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ต้องไม่เอื้อประโยชน์จนลืมความสำคัญของการจัดการผังเมือง
  • รัฐต้องสร้างความเชื่อมั่น และสื่อสารความเสี่ยงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งในภาพรวม และการสื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงในระดับพื้นที่ โดย อ.วิษณุ มองว่าที่ผ่านมารัฐยังสื่อสารได้ไม่ดีพอ มีงานวิจัยในระดับอาเซียนที่ชี้ชัดว่าทั้งตระหนักรู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกรั้งท้าย และถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศที่มีความสูญเสียทาง GDP มากที่สุด

ทั้งนี้ การสื่อสารความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ จำเป็นต้องทำต่อเนื่องทั้งปี ไม่เฉพาะแค่ฤดูภัยพิบัติ ขณะที่การสื่อสารความเสี่ยงของภาครัฐ ก็จำเป็นต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์ที่แม่นยำ เชื่อถือได้ เพราะมันส่งผลโดยตรงกับชีวิตของประชาชน Climate Change จึงเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่กำลังขยายวงความรุนแรง และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ระดับผู้บริหารนโยบายควรเน้นย้ำ และให้ความสำคัญมากที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active