ความรุนแรงของไซโคลน โมคา เทียบเท่าเฮอร์ริเคน ระดับ 5 คาดอนาคตต่อจากนี้ปัญหาโลกร้อนจะมีผลอย่างมากต่อความรุนแรงมากกว่าเดิม เชื่อ การพยากรณ์และการวางแผน ช่วยลดความสูญเสียของผู้คนจากภัยพิบัติได้
แม้พายุไซโคลน “โมคา” ( MOCHA) บริเวณอ่าวเบงกอลตอนบน จะขึ้นฝั่งแล้วที่ชายฝั่งเมืองซิตตเว รัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 16.00 น.ของวันที่ 14 พ.ค. 2566 จะมีผลต่อ 2 ประเทศ ทั้งเมียนมาและบักลาเทศ อย่างในพื้นที่เมืองซิตตเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา ต้องเผชิญพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนัก หลังจากที่พายุลูกนี้ ซึ่งมีความเร็วลมสูงสุดที่ 195 กิโลเมตรต่อชั่วโมงพัดขึ้นฝั่งถล่มพื้นที่ระหว่างเมืองซิตตเวและบริเวณคอกซ์ บาซาร์ ทางตะวันออกของบังกลาเทศ จนถือเป็นหนึ่งในพายุที่ใหญ่ที่สุดที่ถล่มพื้นที่อ่าวเบงกอลในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา
แต่หากเทียบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นที่เมียนมามีความน่ากังวลอย่างสูงก่อนพายุเข้า ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า หากย้อนไป เมื่อ 2551 ช่วงต้นพฤษภาคม เกิดพายุไซโคลน “นาร์กิส” มีความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลาง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมียนมา สูญเสีย กว่า 130,000 คน และถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดของประเทศ
ขณะที่ พายุ พายุไซโคลน “โมคา” 2566 ความเร็วลมใกล้จุดศูนย์กลาง 220 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถือว่ามีขนาดกว่าพายุไซโคลน “นาร์กิส” แต่รอบนี้สูญเสียไม่มาก เนื่องจากบทเรียนในอดีจากพายุ “นาร์กิส” ทำให้เกิดการเตรียมพร้อม
แต่หากมองถึงภัยธรรมชาติที่ควรจับตา จะเห็นว่า ระยะหลัง ๆ ที่เกิดความแปรปรวนสภาพอากาศและโลกร้อนขึ้น ขนาดของพายุที่รุนแรงมาก ก็จะเพิ่มขึ้นอีก อย่างความรุนแรงของไซโคลน โมคาลูกนี้ เทียบเท่าเฮอร์ริเคนระดับ 5 และความน่ากลัวของพายุลูกนี้ไม่ใช่แค่สร้างความเสียหายต่อบ้านเมืองเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงค่ายผู้ลี้ภัยทั้งในเมียนมาและบังกลาเทศที่มีค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
ขณะที่ก่อนหน้านี้ศูนย์ร่วมเตือนภัยไต้ฝุ่นของสหรัฐฯ ระบุว่า พายุไซโคลนโมคาอาจมีความเร็วลมสูงสุดถึง 259 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเทียบเท่ากับความรุนแรงของพายุเฮอริเคนระดับ 5
รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติในรัฐยะไข่ หลังจากพายุพัดทำลายบ้านเรือนหลายร้อยหลัง มีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน ในจำนวนนี้มีเด็กชายวัย 14 ปีที่เสียชีวิตจากการถูกต้นไม้โค่นใส่รวมอยู่ด้วย และยังมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 700 คน ตามข้อมูลจากแกนนำกลุ่มเยาวชนในซิตตเว
ประชาชนในท้องถิ่น เปิดเผยว่า พายุทำให้พื้นที่กว่า 90% ของเมืองซิตตเวได้รับความเสียหาย สายสัญญาณสื่อสารต่างๆ ไม่สามารถใช้การได้ โดยแรงลมที่มีความเร็วสูงสุด 209 กิโลเมตรต่อชั่วโมงทำให้เสาสัญญาณต่าง ๆ และต้นไม้โค่นล้มจำนวนมาก
ด้านหน่วยงานด้านอุตุนิยมวิทยาอินเดีย ระบุว่า พายุลูกนี้จะอ่อนกำลังลงหลังปะทะกับภูเขาภายในเมียนมา ซึ่งเมื่อสายวานนี้พายุได้พัดผ่านไปแล้ว แต่ยังคงทิ้งซากความเสียหายไว้ให้ประชาชนในพื้นที่ไม่น้อย เกิดน้ำท่วมสูงบางจุด 1 เมตร 50 เซนติเมตร อพยพผู้คนกว่า 8 หมื่นคน ทั้งต้นไม้หักโค่น บ้านเรือนเสียหายกว่า 1,400 หลัง เสียชีวิต สิ่งปลูกสร้างพังถล่ม และบางพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณเส้นทางสัญจรด้วย
นอกจากพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่แล้ว บริเวณค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ในคอกซ์ บาซาร์ ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกในบังกลาเทศ ยังได้รับผลกระทบเพราะเป็นทางผ่านของพายุ จนกระทบต่อที่พักอาศัยของผู้ลี้ภัยกว่า 400 ถึง 500 หลัง แต่เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ เปิดเผยว่า ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
เจ้าหน้าที่ทางการเปิดเผยว่า มีที่พักกว่า 1,300 หลังได้รับความเสียหายจากแรงลม รวมถึงศูนย์การเรียนและมัสยิดอีก 16 แห่ง รวมถึงยังมีรายงานการเกิดดินถล่มร่วมด้วย
ด้านหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติและเจ้าหน้าที่ด้านการช่วยเหลือได้เตรียมอาหารแห้งหลายตัน พร้อมด้วยรถพยาบาลหลายสิบคันและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยคอกซ์ บาซาร์ เพื่อรองรับและให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
ขณะที่บริเวณพื้นที่ต่าง ๆ ในบังกลาเทศต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ด้านภัยพิบัติของบังกลาเทศ ระบุว่า ไม่มีรายงานความเสียหายร้ายแรง เนื่องจากทางการได้อพยพประชาชนกว่า 7.5 แสนคนแล้ว ก่อนหน้าที่พายุจะพัดถล่ม
พายุไซโคลนโมคาถือเป็นพายุที่รุนแรงที่สุดที่พัดถล่มบังกลาเทศในรอบเกือบ 20 ปี นับตั้งแต่พายุพายุไซโคลนซีดร์ ที่พัดถล่มเกาะทางตอนใต้ของประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2007 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3 พันคน และยังสร้างความเสียหายอีกมูลค่ากว่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาการพยากรณ์และการวางแผนอพยพล้วนมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ช่วยลดความสูญเสียของผู้คนจากภัยพิบัติได้
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์หลายคน เตือนว่า พายุต่าง ๆ จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สภาวะโลกร้อนทำให้พายุทวีความรุนแรงขึ้นจริงหรือไม่?
นักวิทยาศาตร์ เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์โลกร้อนนั้นเกิดจากก๊าซเรือนกระจก รวมถึงคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก๊าซเหล่านี้ไปปิดกั้นแสงอาทิตย์ไม่ให้สะท้อนกลับสู่อวกาศ และเก็บกักความร้อนเอาไว้ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น ด้วยอากาศที่ร้อนขึ้นนี้เองทำให้การระเหยของน้ำเกิดเร็วขึ้น ส่งผลให้มีความชื้นมากขึ้นในชั้นบรรยากาศ
ขณะที่รายงานล่าสุดของ IPCC หริอคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The Intergovernmental Panel on Climate Change )ได้ระบุว่า “ อิทธิพลของมนุษย์ทำให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และผืนดินอุ่นขึ้น” สภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้เปลี่ยนแปลงระบบสนับสนุนต่าง ๆ ของโลกไปแล้วโดยไม่สามารถย้อนคืนได้ ซึ่งจะทำให้มหาสมุทรจะยังคงอุ่นขึ้น ธารน้ำแข็งบนภูเขาและขั้วโลกจะละลายต่อไปเป็นเวลาหลายสิบหรือหลายร้อยปีต่อจากนี้ และภายในปี 2040 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติ ทั้งพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง อื่นๆ จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง