กรมอุตุฯ เตือน 16-20 ก.ค. นี้ทั่วทุกภาคของไทย ร่วมทั้ง กทม.ปริมณฑล เตรียมรับมือฝนตกหนัก-หนักมาก ดินถล่ม น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก กว่า 80 อำเภอ หน่วยงานด้านน้ำของไทยคาดการณ์เพิ่มน้ำในเขื่อนใหญ่รับมือเอลนีโญ
กรมอุตุนิยมประกาศ วันนี้ (16 ก.ค. 2566) พายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้า ๆ ในช่วงวันที่ 16-20 ก.ค. 66 โดยร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง
ช่วงเวลา 4.00 น วันนี้พายุโซนร้อน “ตาลิม” (TALIM) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 18.6 องศาเหนือ ลองจิจูด 116.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อยอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 66 เมื่อขึ้นฝั่งจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีภูเขาสูงบริเวณประเทศเวียดนามขวางกั้นและมีมวลอากาศเย็นอยู่ด้านหน้าพายุ แม่จะอ่อนกำลังลงบริเวณ สปป.ลาว แต่ก็จะทำให้มีฝนตก ที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน
ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผย วันที่ 16-20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
“ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม และเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และฝนตกแม้หลายพื้นที่จะเกิดน้ำท่วมหรือจังหวัดที่จะมีฝนตก ขอให้ประชาชนใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสเก็บน้ำในแหล่งกักเก็บให้มากที่สุดเพื่อลดปัญหาภัยแล้งเพราะไทยยังอยู่ในช่วงปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ยังขาดแคลนน้ำ”
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้
วันที่ 16 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และ เพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดหนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี และ ราชบุรี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และ ตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และ กระบี่
วันที่ 17-18 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และ กำแพงเพชร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 19-20 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดสระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศไทย วันนี้ (16 ก.ค.66)
ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคอีสาน ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมารายภาค มีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน 149 มิลลิเมตร จ.อำนาจเจริญ 91 มิลลิเมตร จ.ระนอง 63 มิลลิเมตร จ.ตราด 35 มิลลิเมตร จ.กาญจนบุรี 14 มิลลิเมตร จ.พระนครศรีอยุธยา 11 มิลลิเมตร
ปริมาตรแหล่งน้ำทุกขนาด 40,429 ล้าน ลบ.ม. (49%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 35,976 ล้าน ลบ.ม. (50%)
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เตือนเรื่องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในช่วงวันที่ 18-21 ก.ค. 66 ดังนี้
ภาคเหนือ
จ.เชียงใหม่ : อำเภอแม่แจ่ม อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด อำเภออมก๋อย
จ.น่าน : อำเภอนาน้อย
จ.อุตรดิตถ์ : อำเภอฟากท่า
จ.พิษณุโลก : อำเภอเนินมะปราง อำเภอวังทอง
จ.เพชรบูรณ์ : อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอบึงสามพัน
ภาคอีสาน
จ.หนองคาย : อำเภอสังคม อำเภอโพธิ์ตาก อำเภอท่าบ่อ
จ.บึงกาฬ : อำเภอพรเจริญ อำเภอศรีวิไล อำเภอโซ่พิสัย อำเภอเมืองบึงกาฬ
จ.สกลนคร : อำเภอกุสุมาลย์ อำเภอวานรนิวาส อำเภอคำตากล้า อำเภอบ้านม่วง อำเภออากาศอำนวย
จ.เลย : อำเภอนาด้วง อำเภอปากชม
จ.หนองบัวลำภู : อำเภอสุวรรณคูหา อำเภอนากลาง
จ.อุดรธานี : อำเภอทุ่งฝน อำเภอหนองหาน อำเภอพิบูลย์รักษ์ อำเภอน้ำโสม อำเภอนายูง อำเภอบ้านผือ อำเภอกุดจับ
จ.นครพนม : อำเภอปลาปาก อำเภอเรณูนคร อำเภอนาแก อำเภอเมืองนครพนม อำเภอธาตุพนม
จ.มุกดาหาร : อำเภอดงหลวง
จ.ชัยภูมิ : อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอแก้งคร้อ
จ.อุบลราชธานี : อำเภอวารินชำราบ อำเภอนาจะหลวย อำเภอเดชอุดม อำเภอสำโรง อำเภอน้ำยืน อำเภอทุ่งศรีอุดม อำเภอน้ำขุ่น อำเภอสิรินธร อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอเมืองอุบลราชธานี
จ.นครราชสีมา : อำเภอปากช่อง
จังหวัดบุรีรัมย์ : อำเภอกระสัง
จ.สุรินทร์ : อำเภอสังขะ อำเภอศีขรภูมิ อำเภอลำดวน อำเภอเมืองสุรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทริ์ อำเภอบัวเชด อำเภอศรีณรงค์
จ.ศรีสะเกษ : อำเภอขุขันธ์ อำเภอภูสิงห์ อำเภอปรางค์กู่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอยางชุมน้อยน้ำเกลี้ยง อำเภอโนนคูณ อำเภอพยุห์ อำเภอกันทรลักษ์ อำเภอวังหิน อำเภอเบญจลักษ์ อำเภอศรีรัตนะ อำเภอราศีไศล อำเภอไพรบึง
ภาคกลาง
จ.กาญจนบุรี : อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี
จ.สระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก อำเภอวิหารแดง
ภาคตะวันออก
จ.จันทบุรี : อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอแหลมสิงห์ อำเภอนายายอาม อำเภอเขาคิชฌกูฏ
จ.ตราด : อำเภอแหลมงอบ อำเภอเขาสมิง
สถานการณ์น้ำในเขื่อน
ขณะที่ข้อมูลวันที่ 15 ก.ค. 66 ปริมาณน้ำใช้การ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง
ปี 2566 มีน้ำใช้การ 14,322 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังน้อยกว่าปี 2565
ปี 2565 มีน้ำใช้การ 17,315 ล้านลูกบาศก์เมตร
น้อยกว่า 2,993 ล้านลูกบาศก์เมตร
ปัจจุบันสามารถรับน้ำได้อีก 38,076 ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาคเหนือ รับน้ำได้อีก : 14,995 ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาคอีสาน รับน้ำได้อีก : 5,602 ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาคกลาง รับน้ำได้อีก : 1,430ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาคตะวันตก รับน้ำได้อีก : 10,224ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาคตะวันออก รับน้ำได้อีก : 1,590 ล้านลูกบาศก์เมตร
ภาคใต้ รับน้ำได้อีก : 4,235 ล้านลูกบาศก์เมตร
ปริมาณน้ำใช้การลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
ณ. วันที่ 15 ก.ค.66 มีน้ำใช้การเพียง 3,336 ล้านลูกบาศก์เมตร
ปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ณ วันที่ 15 ก.ค.2566
มีน้ำใช้การ 3,333 คิดเป็นร้อยละ 18
สามารถรับน้ำได้อีก 14,840 ล้านลูกบาศก์เมตร
ที่มา : กรมชลประทาน