รายงานตรวจพบ ทุ่นเตือนภัยสึนามิ ระยะใกล้ สถานี 23461 ระหว่างภูเก็ต และ หมู่เกาะอันดามัน แจ้งสถานะ “ไม่ทำงาน” ปภ. ระบุ ยังเหลืออีกทุ่น ไว้ติดตาม เฝ้าระวัง แต่นักวิชาการ หวั่นหากแผ่นดินไหวเกิดซ้ำ อาจประมวลผลช้า แจ้งเตือนประชาชนคลาดเคลื่อน
มีรายงานข้อมูลจากเว็บไซต์ National Oceanic and Atmospheric Administration’s ที่แสดงตำแหน่งและรายละเอียดของทุ่นเตือนสึนามิทั่วโลก โดยหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA) โดยพบว่า ทุ่นที่อยู่ในความดูแลของประเทศไทย จำนวน 2 ทุ่น หายไปจากระบบ 1 ทุ่น
นั่นคือ สถานี 23461 ห่างจาก จ.ภูเก็ต ไปทางตะวันตกประมาณ 340 กิโลเมตร หรือ ทุ่นเตือนภัยสึนามิระยะใกล้ แสดงสถานะสีแดง “ไม่ทำงาน” และ หายจากระบบ ซึ่งทุ่นที่สถานี23461 มีความสำคัญ เพราะอยู่ระหว่างหมู่เกาะอันดามัน และภูเก็ต หากเกิดเหตุแผ่นดินไหว และเกิดสึนามิขึ้น จะสามารถแจ้งเตือน ทำให้มีเวลาเตรียมพร้อมรับมือลดความเสี่ยงได้ภายใน 1 ชั่วโมง
ส่วน ทุ่นที่ 2 คือ สถานี 23401 ห่างจาก จ.ภูเก็ต 965 กิโลเมตร หรือทุ่นเตือนภัยสึนามิระยะไกล แสดงสถานะสีเหลือง คือ ยังปกติ
แต่จากการรายงานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็ยืนยันว่า ระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสึนามิทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกลไกเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิอย่างเป็นระบบ ผ่านข้อมูลวิชาการและเครื่องมือเฝ้าระวังแบบ Real Time โดยติดตามข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังการเกิดสึนามิของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวังสึนามิที่ถูกส่งไปยังหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and atmosphere administration : NOAA) รวมถึงข้อมูลจากทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย จำนวน 2 ตัว ที่ติดตั้งในทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย ข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลนานาชาติ (The Intergovernmental Oceanographic Commission : IOC) จากประเทศอินเดีย อินโดนิเซีย ออสเตรเลีย และสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศไทยที่เกาะเมียงและเกาะราชาน้อย
ทั้งนี้ ปภ.จะนำข้อมูลมาประมวลผลและวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดสึนามิของประเทศไทยที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากสึนามิ แสดงข้อมูลในแต่ละพื้นที่ถึงช่วงเวลาการเข้าถึงฝั่งของคลื่นสึนามิใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ที่ สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และภูเก็ต โดยปัจจุบันทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทยในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 มีสถานะการทำงานเป็นปกติ ซึ่งได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังและแจ้งเตือนการเกิดสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยกับ The Active ว่า แม้ ปภ.จะรายงานว่าทุ่นเตือนภัยระยะไกลของประเทศไทย ที่สถานี 23401 ในมหาสมุทรอินเดียที่ยังทำงานปกติ แต่ไม่ได้รายงานข้อมูลสถานะทุ่นระยะใกล้ สถานี 23461 ห่างจาก จ.ภูเก็ต ไปทางตะวันตกประมาณ 340 กิโลเมตร ว่าหายไปไหน
“สำหรับแผ่นดินไหว เป็นภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่เราจะสามารถคาดการณ์ และเตือนภัยสึนามิได้ ด้วยการใช้ข้อมูลเตือนภัยจะทำให้หนีทัน แต่ในกรณีนี้หากเกิดแผ่นดินไหวบริเวณแนวรอยเลื่อนพาดหมู่เกาะอันดามัน ในขณะที่ทุ่นเตือนภัยระหว่างภูเก็ตและหมู่เกาะอันดามันระยะใกล้ สถานี 23461 ใช้งานไม่ได้ อาจทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงสูงเพราะเวลาหนี้ภัยอาจสั้นลง”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
รศ.เสรี บอกอีกว่า สำหรับประเทศไทย จะมีรอยเลื่อนซุนดา ซึ่งเป็นตัวหลักที่ต้องระวังเรื่องแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หรือสึนามิเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นปี 2547 แน่นอนฝั่งตะวันออกแผ่นฟิลิปปินส์แผ่นใหญ่ นอกนั้นมีแผ่นเล็ก ๆ ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.6 หรือ 3 ถ้าเกิดแผ่นดินไหวเล็ก ๆ บ้านหรืออาคารที่สร้างเป็นไปตามกฎกระทรวง จะไม่ได้รับผลกระทบมาก
“ที่น่ากังวลคือ แผ่นรอยเลื่อนซุนดา จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไรนั้นไม่มีใครตอบได้ แต่งานวิจัยล่าสุดมหาวิทยาลัยโทโฮกุ รายงานว่า แผนดินไหวขนาดนั้นใน 400 ปี มีโอกาสเกิดครั้งหนึ่ง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าปีไหน ไม่มีใครรู้ คือใน 400 ปีข้างหน้า จะเกิดแต่ไม่รู้วันไหน แต่ถ้าเราต้องป้องกันไว้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาทระบบพร้อมหรือไหม”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
รศ.เสรี ยังบอกอีกว่า วันนี้ทุ่นเตือนภัยระยะใกล้ สถานี 23461 ใช้งานไม่ได้ หายไปทุ่นหนึ่งหาไม่เจอ ดังนั้นต้องรีบจัดการหามา และมีความพร้อมตลอดเพราะอย่างน้อย ๆ เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจะทำให้ยังพอมีเวลาเตรียมตัว แต่ต้องมีข้อมูลชัดเจน เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวรับมือ ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่
“แม้ได้ซ้อมแผนกันมาต่อเนื่อง แต่ถ้าทุ่นเตือนภัยสึนามิเสีย ก็ต้องหาอะไรมารองรับก่อน ถ้าเทียบกับญี่ปุ่น เขาเกิดบ่อยและเหตุการณ์จะเกิดใกล้ ๆ ประเทศของเขาเลย เขาเลยต้องเตือนภายใน 3 นาที ของเราซ้อมให้ได้ 30 นาทีไว้ก่อน เพื่อการรับมือที่ทันเวลา”
รศ.เสรี ศุภราทิตย์
แม้ขณะนี้ ปภ.ชี้แจงว่า หากเกิดแผ่นดินไหวจริง ยังสามารถรับมือได้ผ่านการประมวลผลและวิเคราะห์ช่วงเวลาการเข้าถึงฝั่งของคลื่นสึนามิใน 6 จังหวัดอันดามัน ที่ สตูล ตรัง กระบี่ พังงา ระนอง และภูเก็ต พร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์ทั้งหอเตือนภัย จำนวน 130 แห่ง ที่ติดตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย และเครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม จำนวน 47 แห่ง แต่นักวิชาการ ย้ำว่า หากทุ่นเสีย หรือหายไป อาจทำให้การประมวลข้อมูลคาดเคลื่อนได้