19 ก.ย. 67 นี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!
‘อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม’ เข้าขั้นวิกฤต กระทบ 150 ครัวเรือน กว่า 500 คน
Thai PBS News สำรวจพื้นที่วิกฤตน้ำท่วม จ.นครพนม โดยพบว่า หมู่ 4 บ้านท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม เป็นจุดที่เริ่มมีน้ำเอ่อท่วม กระทบไปถึงทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่กว่า 500 ครัวเรือน ทั้งยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสัตว์เลี้ยง จนต้องเร่งเคลื่อนย้ายไปยังที่สูง โดยมีเจ้าหน้าที่จาก อบต.ท่าบ่อสงคราม และกำลังพลจากหน่วยทหารพัฒนา ชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว คอยให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
พ.อ.อธิป แก้วดวงใหญ่ ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้ประเมินสถานการณ์ไว้เบื้องต้นแล้ว และเตรียมพร้อมสำหรับน้ำที่กำลังมา โดยได้จัดเรือ กำลังพล และเครื่องมือไว้ช่วยเหลือ เนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วน้ำขึ้นเร็วมาก บางคืนน้ำขึ้นมาถึง 50 เซนติเมตร และขณะนี้สถานการณ์น้ำยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะรอดูสถานการณ์อีก 1-2 วัน หากน้ำเพิ่มระดับอีก จึงจะประเมินการช่วยเหลืออีกครั้ง
ตรัง-สงขลา-ยะลา ฝนตกอย่างต่อเนื่อง! เร่งกู้สถานการณ์
Thai PBS News รายงานสถานการณ์แม่น้ำตรัง ในขณะนี้มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 2 ตำบล ติดแม่น้ำตรังและลำคลองสาขา คือ ต.บางรัก และ ต.ควนปริง ใน อ.เมืองตรัง มีผู้ได้รับผลกระทบเกือบ 250 ครัวเรือน โดยเฉพาะ ต.บางรัก ในพื้นที่หมู่ 5 กว่า 10 หลังคาเรือน ต้องเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไปยังวัดแจ้ง และพื้นที่ริมถนนเป็นการชั่วคราว ขณะที่พระและเณรในวัดต่างช่วยกันบรรจุถุงยังชีพให้ประชาชนที่เดือดร้อน
สงขลา เร่งขุดลอกท่อคู่ระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ หลังฝนตกหนักต่อเนื่องและเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนของภาคใต้ ช่วงเดือน ต.ค. – ธ.ค.ของทุกปี
ส่วน ยะลา ฝนยังตกต่อเนื่อง 4 วัน เกิดดินสไลด์ทับเส้นทางหลายจุดที่ อ.เบตง ทำให้สัญจรได้ทางเดียว ด้านเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงชนบทยะลา ต้องนำป้ายติดแจ้งเตือนประชาชน และเตือนนักท่องเที่ยวให้เพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะเส้นทางไปยังสวนดอกไม้เมืองหนาว เนื่องจากถนนพังเป็นแนวยาว 5 ม.ลึก 10 ม.
น้ำโขงลด แต่ต้องเฝ้าระวัง ‘ดีเปรสชัน’ รอถล่ม
Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำโขง ที่ อ.เมือง จ.นครพนม พบว่า ขณะนี้ ระดับน้ำโขงลดลง 8 เซนติเมตร ซึ่งต่ำกว่าระดับวิกฤต 21 เซนติเมตร แต่จากการสำรวจเวลา 12.30 น. พบว่า บริเวณ ถ.ชยางกูร ซึ่งเป็นถนนเลียบน้ำโขง ในตัวพื้นที่เทศบาลเมืองนครพนม ยังมีน้ำโขงที่เอ่อท่วมถนนอยู่บางช่วง จนทำให้รถ 4 ล้อ ไม่สามารถผ่านได้ อีกทั้งบางพื้นที่ลุ่มต่ำน้ำยังคงท่วมสูงอยู่
อย่างไรก็ตาม แม้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเริ่มลดลงบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ โดย วันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ระบุว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์พายุดีเปรสชันอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ตามการแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 23 ก.ย. 2567
สำหรับภาพรวมใน จ.นครพนม ขณะนี้ มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบจากน้ำโขงหนุนสูง 250 หลัง อยู่ในเขตพื้นที่ อ.เมืองนครพนม 10 หลัง อ.ท่าอุเทน 10 หลัง อ.บ้านแพง 50 หลัง และ อ.ศรีสงคราม 180 หลัง ส่วนความเสียหายของพื้นที่การเกษตรเบื้องต้นพบความเสียหายแล้ว 60,000 ไร่
ส่วน หนองคาย มีการรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อย ๆ โดยบางพื้นที่เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ จนประชาชนกลับเข้ามาทำความสะอาดบ้านเรือนและฉีดล้างดินโคลนแล้ว ส่วนพื้นที่ช่วงหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคายถึงหน้าตลาดสดโพธิ์ชัย ยังมีน้ำท่วมอยู่ประมาณ 40-50 เซนติเมตร ทั้งนี้ ยังต้องระวังผลกระทบจากพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาในช่วงปลายสัปดาห์ว่าจะทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มสูงขึ้นอีกรอบหรือไม่เช่นเดียวกับนครพนม
อุตุฯ เตือนผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน ‘ซูลิก’
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุ “ซูลิก” ฉบับที่ 10 (202/2567) โดยพายุโซนร้อน “ซูลิก” ได้เคลื่อนที่ขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีศูนย์กลางห่างไปทางทิศตะวันออกของจังหวัดนครพนม ประมาณ 250 กิโลเมตร และคาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรง ในช่วงวันที่ 19–23 ก.ย. 67 โดยขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากมีดังนี้
วันที่ 19 ก.ย.67
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก : จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ : ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 20 ก.ย. 67
- ภาคเหนือ : ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง : นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ : ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 21 ก.ย. 67
- ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และนครราชสีมา
- ภาคกลาง : นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ : เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
ช่วงวันที่ 22-23 ก.ย. 67
- ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัยกำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง : นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ : ระนอง และพังงา
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 19–22 ก.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรง
- ทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร
- อ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวไว้ด้วย