‘พล.อ. นิพัทธ์’ รับข้อเสนอประชาชนเชียงราย-ภาคเหนือ เตรียมชง ‘ภูมิธรรม’ ตั้ง คกก.จัดการภัยพิบัติฯ

พร้อมเดินหน้าพื้นที่ต้นแบบจัดการภัยพิบัติ 4 พื้นที่ เริ่มที่ ‘แม่ยาวโมเดล’ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนเชียงราย วางแผนร่วมเครือข่ายทุกภูมิภาค ติดตามความคืบหน้านโยบายส่วนร่วมจากประชาชน 

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 67 ที่โรงเรียนบ้านรวมมิตร ต.แม่ยาว อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันเอก จักรวีร์ เสนีย์วรยุทธ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, อภิรักษ์ อินต๊ะวัง นายกเทศมนตรีตำบลแม่ยาว และ ปรัตถกร การเร็ว ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว พร้อมด้วยตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วม  Kick Off ซ่อม-สร้างบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ พร้อมเดินหน้าดัน ‘แม่ยาวโมเดล’ สู่ต้นแบบพื้นที่จัดการภัยพิบัติยั่งยืน 

โดยได้ลงพื้นที่บ้านรวมมิตร หมู่ 2 ต.แม่ยาว ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และมอบถุงกำลังใจให้กับ ยูเซ็ต พะอึ เพื่อเป็นการ Kick Off การซ่อมสร้างบ้านของ ต.แม่ยาว

บ้านของนายยูเซ็ต เป็นหนึ่งใน 238 ครัวเรือน ใน 11 หมู่บ้าน ของ ต.แม่ยาว ที่ได้รับผลกระทบความเสียหายกว่า 70% จากอุทกภัยน้ำท่วม-ดินโคลนถล่ม อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ผู้มีรายได้น้อย และผู้สูงอายุ  

“รู้สึกดีใจที่ได้บ้านหลังใหม่ ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาช่วยกันหางบฯ มาให้  ขอบคุณคนที่มาช่วยสร้างบ้านด้วยเพราะลำพังตนเองคงไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาสร้างใหม่ เพราะมีรายได้พอกินไปวัน ๆ เท่านั้น นอกจากการฟื้นฟูบ้าน อยากให้ทุกฝ่ายผลักดันวางแผนการจัดการภัยพิบัติ เพื่อลดความเสียหายในอนาคต”

ด้าน พอช. ได้มอบงบประมาณสนับสนุน 30,110,831.39 บาท ในโครงการบ้านมั่นคงภัยพิบัติ ซ่อม สร้าง บ้านผู้ประสบอุทกภัย ในจังหวัดเชียงราย 6 ตำบล รวม 875 ครัวเรือน

เดินหน้าดัน ‘แม่ยาวโมเดล’ ต้นแบบพื้นที่จัดการภัยพิบัติยั่งยืน 

ตัวแทนชาวบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ใน 11 ชุมชน ต.แม่ยาว  นำโดย ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายถึงรัฐบาล และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) 

โดยชาวตำบลแม่ยาว ได้ร่วมกันระดม 4 ด้าน  คือ ด้านที่ดิน, ด้านการจัดการภัยพิบัติ,  ด้านวัฒนธรรม สังคม สิ่งแวดล้อม และ ด้านสิ่งแวดล้อม 

ปรัตถกร การเร็ว  กำนันตำบลแม่ยาว ในฐานะ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว กล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งท้องถิ่น ท้องที่ ให้ความสำคัญและได้หารือเรื่องแม่ยาวโมเดล ถึงแผนรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งทางประชาชนและสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว ได้ทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาล เพื่อให้สนับสนุนแผนดังกล่าวให้เกิดรูปธรรม

“ผมเป็นตัวแทนพี่น้องชาวบ้าน มีความคาดหวังให้รัฐบาลมองเห็นข้อเสนอประชาชนในพื้นที่ ที่ผ่านมารัฐบาลสั่งการลงมาตามโครงสร้าง จากบนลงล่าง  แต่วันนี้เรายื่นเสนอความต้องการขึ้นไปหารัฐบาลแล้ว ตัวแทนรัฐบาลก็มารับเรื่องโดยตรง คาดหวังว่าเป็นไปได้สูง ที่รัฐบาลจะทำตามแผนที่ชาวแม่ยาวตั้งใจและคาดหวังไว้”

ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ยาว ยังกล่าวว่าในระหว่างนี้ ท้องถิ่น ท้องที่ มีแผนเตรียมการซักซ้อมรับมือภัยพิบัติตลอดจนการบริหารงบประมาณไว้ป้องกันภัยพิบัติโดยเฉพาะในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า นอกจาก พอช. จะมีบทบาทสำคัญในการหนุนเสริมเรื่องของกระบวนการ กรอบองค์ความคิดต่าง ๆ เพื่อได้ข้อสรุปในการแก้ปัญหาร่วมกันแล้ว เรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณที่ พอช. มีอยู่ ทั้งการซ่อมบ้าน สร้างบ้าน การพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนรวมทั้งการฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม  พอช. จะเข้ามาหนุนเสริม

แต่เรื่องไหนที่นอกเหนือ  ก็สนับสนุนพี่น้องเครือข่ายทั้งในพื้นที่ และอำเภอ จังหวัด ต่อเชื่อมหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจในการที่จะผลักดันนโยบาย การผลักดันงบประมาณลงมา เพื่อสร้างให้เกิดความสำเร็จในเรื่องนี้  ยึดเป้าหมายการตอบโจทย์แก้ปัญหาของเชียงรายทุกมิติ  โดยจังหวัดเชียงราย เป็น  1 ใน 13 จังหวัดที่ผลักดันให้เป็นจัดการตนเอง วางกลไกสำคัญต่อเขื่อมการทำงานทุกภาคส่วน ทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัดให้ได้ 

ตัวแทนรัฐบาล รับข้อเสนอประชาชนเชียงราย-ภาคเหนือ  เตรียมชง ตั้งคกก.จัดการภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืนทุกระดับพร้อมเดินหน้านำร่อง 4 พื้นที่ สู่  ต้นแบบจัดการภัยพิบัติ

ตัวแทนชาวจังหวัดเชียงราย ตัวแทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน จ.เชียงรายและภาคเหนือ ได้ยื่นข้อเสนอ ที่ภาคประชาสังคม เอกชน วิชาการ ภาครัฐ และสื่อ รวม 50 องค์กร ชวนกันคิดหาวิธีเพื่อกำหนดอนาคตของตัวเอง โดยมีเป้าหมายให้เชียงรายปลอดภัย และเป็นเมืองต้นแบบจัดการภัยพิบัติจัดทำเป็นแผนฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน หรือ Build back greener Chiang Rai ถึง คณะรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศปช.) 

โดยแผนนี้มีสาระสำคัญให้พิจารณาเห็นชอบหลักการข้อเสนอนโยบายการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนของจังหวัดเชียงราย    ทั้งการเพิ่มบทบาทชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และการจัดการความรู้ รวมทั้งสร้างสมดุลระหว่างคนกับธรรมชาติ

พร้อมทั้งให้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนวัตกรรมนโยบายจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืน จังหวัดเชียงราย

นอกจากนี้ยังเสนอให้อนุมัติ แผนเร่งด่วน ฟื้นฟูเชียงรายอย่างมีส่วนร่วม โดยเสนอรูปธรรมแซนด์บ็อกซ์ใน 4 พื้นที่ได้แก่ กลุ่มพื้นที่เขตเศรษฐกิจชายแดน อ.แม่สาย, กลุ่มพื้นที่ชุมชนเกษตรกรลุ่มน้ำ อ.เทิง, กลุ่มพื้นที่สูง อ.เวียงป่าเป้า และกลุ่มพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยว อ.เมือง  อย่าง ใน ต.แม่ยาว ที่เริ่มเดินหน้าแล้ว 

ขณะที่ ประนอม เชิมชัยภูมิ ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคเหนือ ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน โดย เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ ถึง ครม. 

โดยมีข้อเสนอต่อการจัดการเชิงนโยบาย ต่อการจัดการภัยพิบัติ ดังนี้

  1. กระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยการแต่งตั้งกลไกคณะทำงานการจัดการภัยพิบัติในระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับชุมชนท้องถิ่น
  2. ทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการภัยพิบัติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ชุมชน
  3. สนับสนุนให้เกิดกองทุนจัดการภัยพิบัติ ในระดับชุมชนท้องถิ่น ที่ช่วยเหลือการจัดการภัยพิบัติในทุกมิติ ภายใต้แผนการจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่
  4. จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร (Data center) ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้และถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน
  5. สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (SAND BOX) ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ในเชิงภูมินิเวศที่รองรับการจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ

ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า การจะผลักดันการจัดการภัยพิบัติโดยภาคประชาชนให้สำเร็จ สำคัญคือ ต้องมีกลไกในการขับเคลื่อนแต่ละจังหวัด ตรงนี้รัฐบาลต้องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในทุกจังหวัดที่เกิดปัญหาภัยพิบัติในภาคเหนือ  เพราะว่าที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า ในพื้นที่เราหาเจ้าภาพหลักไม่เจอ และขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพราะฉะนั้นกรรมการที่จะแต่งตั้งขึ้นมาใหม่จะเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนทั้ง การแก้ไขปัญหาในช่วงที่เกิดสถานการณ์ ช่วงการฟื้นฟูด้วย อันนี้กรรมการชุดนี้จะเป็นชุดสำคัญ ที่รัฐบาลต้องตั้งมา  และต้องมีพื้นที่ปฏิบัติการเป็นพื้นที่นำร่อง อย่างเช่น ที่เชียงรายเสนออยู่ 4 พื้นที่

“ปัจจัยที่จะทำให้พื้นที่นำร่องมันนำไปสู่ความสำเร็จได้ สำคัญ คือ แซนด์บ็อกซ์ หรือการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ คือ ต้องมีทั้งเรื่องของชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นข้อจำกัดการพัฒนาของชุมชนไปก่อน เช่นพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าไม้ ทำไงที่จะชะลอการใช้กฎหมายป่าไม้  ทั้ง ป่าสงวน ป่าอุทยานฯ ไปก่อน เพื่อที่จะนำร่องเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ  ไม่ใช่ว่าบังคับใช้กฎหมายที่เป็นปัญหาเหมือนเดิม เวลาจะทำอะไรก็ต้องวิ่งไปขอถามขออนุญาตอธิบดีที่เกี่ยวข้อง อันนี้ผมคิดว่าเป็นอุปสรรคสำคัญที่รัฐบาลต้องตระหนักให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เราเสนอแซนด์บ็อกซ์ 4 พื้นที่ จึงเป็นพื้นที่ที่ปฏิบัติการได้จริง”

อีกข้อเสนอที่อยากให้ทางรัฐบาลเห็นความสำคัญและสนับสนุน คือเรื่องกองทุนฟื้นฟูภัยพิบัติ ซึ่งกองทุนนี้จะไม่ไปซ้ำกับกองทุนที่ทางป้องและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ.เขาดูแลอยู่ แต่เป็นกองทุนแก้ปัญหาภัยพิบัติเบื้องต้น ช่วยเหลือการจัดการภัยพิบัติทุกมิติในระดับพื้นที่ 

ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคเหนือ ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังหารือกันกับเครือข่ายทุกภูมิภาค เพราะขณะนี้ก็เกิดสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เพื้อสร้างกลไกข้อเสนอต่าง ๆ เพื่อติดตามร่วมกัน ทั้ง 3-4 ภาค ผลักให้เกิดกลไกเรื่องนี้ให้ได้ โดยจะเอาจริงเอาจังกับการติดตามการเปลี่ยนแปลงทางนโยบาย 

“ถ้าตราบใดนโยบายรัฐไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตราบใดข้อเสนอเราไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานภาครัฐ เราก็เห็นว่าปัญหานั้นก็จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหมือนเดิม เราไม่อยากเห็นปัญหาเกิดขึ้นกับพี่น้อง เพราะว่าพอปัญหาเกิดขึ้นผู้ได้รับความยากลำบากคือพี่น้องประชาชนในพื้นที่  โดยเรากำลังจะไปคุยกับรองนายกฯ ภูมิธรรม ว่า จะทำยังไงเพื่อให้ข้อเสนอของเรา ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานภาครัฐ”

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชม สิ่งที่ชาวเชียงราย เครือข่ายภาคีต่าง ๆ ได้จัดการตนเอง ได้ดูแลทุกสิ่งทุกอย่างฟื้นฟูกันมาถึงวันนี้ โดยข้อเสนอต่าง ๆ ที่ยื่นผ่านทางตนนั้นจะยื่นเข้าสู่ระบบถึงรองนายกฯ ภูมิธรรมต่อไป  

เมื่อถามถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ที่จะมีการตั้งกลไกคณะกรรมการเพื่อจัดการภัยพิบัติ ในทุกระดับ ทั้งชุมชน ตำบลและจังหวัด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งนี้ถือว่ามีความรวดเร็วเป็นเอกภาพ และสามารถบูรณาการกันเองในจังหวัด จากการที่ตนได้ฟังจากการบรรยายสรุป สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน  นักวิชาการเขาร่วมกันถอดบทเรียนเสร็จแล้ว เพื่อบอกกับรัฐบาลว่าจะต้องใช้กลไกอะไรในการทำงาน ซึ่งสำคัญคือความต้องการมีส่วนร่วมในกลไกระดับจังหวัด ซึ่งเดิมอาจจะมีอยู่แล้ว แต่รอบนี้ภาคประชาชนขอเข้าไปมีส่วนร่วม

จริง ๆ แล้ว ถ้าเรามองภาพรวม ในระดับรัฐบาล มีการตั้งรองนายกฯ ภูมิธรรม เป็นประธาน ศปช. ดูแลเรื่องภัยพิบัติทั้งหมด ที่เชียงรายได้ส่ง รมช.มหาดไทย และ รมช.กลาโหม มาทำงานในพื้นที่ มีการจัดตั้งศูนย์ต่าง ๆ ในการบริหารจัดการ มีเรื่องของศูนย์พัฒนาองค์กรเอกชนเข้ามา ถือว่าเป็นโมเดล ที่เป็นรูปเป็นร่าง และได้ถามทุกท่านในพื้นที่ก็บอกว่า เป็นโมเดลการทำงานที่ดีที่สุดที่ได้ทำงานกันมา โดยเฉพาะฝ่ายทหารที่เป็นกำลังหลักเข้ามาบริหารจัดการที่ จ.เชียงราย ส่วนเรื่องระดับพื้นที่ ก็มีโมเดลที่ดี และวันนี้คือ แม่ยาวโมเดล ซึ่งรัฐบาลได้มาช่วย เริ่มต้นช่วงเร่งด่วน คือการมาซ่อมบ้านให้แล้ว แผนงานต่าง ๆ ก็เห็นชอบกับการทำงานในลักษณะนี้  

“คงเป็นสิ่งที่รัฐบาลพอใจที่สุดในฐานะที่เป็นผู้บริหารตรงนี้ และความพอใจที่สุด คือมาจากชาวบ้าน มาจากข้างล่างที่เสนอขึ้นไป  ตรงนี้ผมเชื่อรัฐบาลมีความเต็มใจที่จะมารับเรื่องเหล่านี้ โดยได้ส่งผมมารับเรื่องและรับแล้ว เพื่อไปพิจารณาเสนอต่อท่านรองนายกภูมิธรรมต่อไป”

เช่นเดียวกับ พันเอก จักรวีร์ เสนีย์วรยุทธ์ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าข้อเสนอของชาวเชียงรายและภาคเหนือ เป็นแนวคิดที่ดีมาก เป็นสิ่งที่เราขอชื่นชม เพราะเป็นความคิดจากชาวบ้านอย่างแท้จริง ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา  เดิมที่ผ่านมาเรามีศูนย์ภัยพิบัติของจังหวัดอยู่แล้ว มีหน่วยงาน ราชการภาครัฐเอกชน แต่ไม่มีการมีส่วนร่งมประชาชน ซึ่งยังไม่มีกลไกนี้ก็ดีมาก  ทั้งนี้ตนจะนำข้อเสนอการจัดการภัยพิบัตินี้ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด  

“แม่ยาวโมเดล คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น มีการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนตั้งแต่แรกในการดำเนินการต่างๆ เป็นสิ่งที่ดี จะพยายามนำเรียนท่านผู้ว่าฯเชียงราย ให้เกิดรูปธรรม ไม่น่ามีปัญหาอะไร”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active