วันนี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!
น้ำป่าซัด ‘ชุมชนริมห้วยแม่ตาน จ.ลำปาง’ เสียหาย 40 หลังคาเรือน สูญหาย 2 คน
Thai PBS News รายงานสถานการณ์หลังเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าชุมชนบ้านห้วยเรียน หมู่ 6 ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง จากฝนตกหนักจนทำให้น้ำท่วมสูงกว่า 1.50 เมตร ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล และน้ำในลำห้วยที่เอ่อท่วมหมู่บ้านต้นน้ำที่บ้านปางปง-ปางทราย บ้านแม่ตาลน้อย และบ้านห้วยเรียน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนและกำแพงในชุมชนริมห้วยแม่ตานถึง 40 หลังคาเรือน ทั้งยังมีผู้สูญหายอีกจำนวน 2 ราย พัดหายไปกับกระแสน้ำ ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการค้นหาอย่างเร่งด่วน
รฟท. งดเดินทาง ‘นครลำปาง-เชียงใหม่’
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศปิดทางและงดเดินขบวนรถช่วงระหว่าง สถานีนครลำปาง-เชียงใหม่ เนื่องจากวานนี้ (22 ก.ย. 67) เวลา 23.42 น. พบดินสไลด์และน้ำป่าเซาะหินรองรางในเส้นทางสายเหนือระหว่างสถานีแม่ตานน้อย-ขุนตาน-ทาชมภู ทำให้ขบวนรถไม่สามารถผ่านได้
นอกจากนี้ Thai PBS News รายงานอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ลำปาง ยังคงน่าเป็นห่วง โดยบ้านจำ ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มีน้ำท่วมสูงและดินสไลด์ทับเส้นทางในบางช่วง รวมถึงระดับน้ำในแม่น้ำวังยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปภ. เผย น้ำท่วม 33 จังหวัด กระทบ 160,739 ครัวเรือน 6 จังหวัด ยังท่วมอยู่!
Thai PBS News สรุป รายงานสถานการณ์น้ำท่วม โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 16 ส.ค. – 23 ก.ย. 2567 เกิดสถานการณ์น้ำท่วม รวม 175 อำเภอ 766 ตำบล 4,017 หมู่บ้าน กระทบถึงประชาชน 160,739 ครัวเรือน เสียชีวิตรวม 46 ราย บาดเจ็บรวม 24 คน ในพื้นที่ 33 จังหวัด ดังนี้
- ภาคเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ และอุตรดิตถ์
- ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม บึงกาฬ และหนองบัวลำภู
- ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล
- ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี และระยอง
- ภาคตะวันตก 1 จังหวัด ได้แก่ ตาก
ส่วน สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ยังมีน้ำท่วมอยู่ 6 จังหวัด รวม 27 อำเภอ 130 ตำบล 598 หมู่บ้าน กระทบถึงประชาชน 18,087 ครัวเรือน ดังนี้
ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่
- เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย และ อ.เมืองฯ รวม 4 ตำบล 26 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,268 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.แจ้ห่ม อ.งาว อ.เมืองฯ อ.เกาะคา อ.ห้างฉัตร อ.เมืองปาน และ อ.แม่พริก รวม 11 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 92 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่
- พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ และ อ.เมืองฯ รวม 7 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 576 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
- พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.เสนา อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางปะอิน และ อ.บางไทร รวม 67 ตำบล 301 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 7,702 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่
- หนองคาย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.สังคม อ.ศรีเชียงใหม่ อ.ท่าบ่อ อ.เมืองฯ อ.รัตนวาปี และ อ.โพนพิสัย รวม 33 ตำบล 175 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 8,199 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
- นครพนม เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าอุเทน อ.ศรีสงคราม และ อ.เมืองฯ รวม 8 ตำบล 53 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 250 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ทั้งนี้ ทาง ปภ. ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย เช่น เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32, เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล, เครื่องสูบน้ำ, รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย, รถกู้ภัยเคลื่อนที่เร็ว, รถผลิตน้ำดื่ม, รถไฟฟ้าส่องสว่างขนาด 200 KVA, รถบรรทุกเล็ก, รถลากเรือเคลื่อนที่เร็ว, เรือท้องแบน และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ช่วยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็ว
เช็กสถานการณ์น้ำท่วมทั่วไทย
ขณะเดียวกันวันนี้ (23 ก.ย. 67) จากสถานการณ์ฝนตกหนักกระจายทั่วทุกภาคของไทย ส่งผลให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม เช่น
ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน เกิดปัญหาดินดินทรุดตัวบริเวณสันเขื่อนหน้าศาลเจ้าของหมู่บ้าน หลังฝนตกหนัก
เกิดเหตุน้ำไหลทะลักน้ำท่วมที่ บ้านจำ ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มีบ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 200 หลังคาเรือน ซึ่งบางจุดน้ำมีความสูงเกือบถึงหน้าอก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ติดอยู่ภายในบ้านในจุดที่น้ำท่วมสูงออกมาในพื้นที่ปลอดภัย
เกิดเหตุน้ำท่วมหนักที่ บ้านซำรังหมู่ 4 ตำบลชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก น้ำจากคลองชมพูล้นตลิ่ง 13:00 น. 23 กันยายน 2567 เริ่มท่วมชุมชน
อบต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม เชียงใหม่ ประกาศยกระดับการเตือนภัย ระดับ 4 ภาวะเสี่ยงอันตรายสูงจากเหตุอุทกภัย
ฝนตกหนักในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม จ.เชียงใหม่ ส่งผลให้น้ำป่าไหลลงสู่ลำน้ำแม่สา เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว
น้ำป่าไหลหลากส่งผลให้น้ำท่วมที่ ถนนแม่ริม สะเมิง จ. เชียงใหม่
ชุมชนหล่ายต้า บ้านร่องไผ่ ม.10 ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา น้ำล้นตลิ่งข้ามถนนท่วมชุมชน
น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนน บริเวณสี่แยกนาทะนุงทางไป หมู่บ้านปากนาย หมู่ที่ 3 ต.นาทะนุง อ.นาหมื่น จ.น่าน
สถานการณ์น้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วม บ้านผาเจริญ บ้านท่าสะอาด อ.นาด้วง จ.เลย เมื่อคืนที่ผ่านมา ความเสียหายเบื้องต้น 60 หลังคาเรือน โดยเช้าวันนี้ระดับน้ำได้ลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ยังท่วมบ้านเรือนในที่ลุ่มไม่กี่หลังคา พื้นที่ลุ่มต่ำต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
มท. เตรียมเสนอ ครม. ‘ค่าน้ำ – ไฟ’ ฟรี! เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศในขณะนี้ เรียกได้ว่าสร้างความเสียหายหลายด้านทั้งทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน มาตรการเยียวยาจากทางภาครัฐจึงเป็นความหวังที่ประชาชนผู้ประสบภัยตั้งตารอให้เข้ามาช่วยเหลือและเยียวยากับอุทกภัยในครั้งนี้
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้ การช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม คือสิ่งที่กังวลและต้องเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยกระทรวงมหาดไทยมีการส่งเครื่องจักร อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว
นอกจากนี้ ทางกระทรวงมหาดไทยจะมีการนำเสนอให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บค่าไฟฟ้าและค่าประปา ในเดือนกันยายน ให้กับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย ในวันที่ 24 ก.ย.นี้ ซึ่งหากมีความผิดพลาด โดยการออกบิลในเดือนกันยายนไปแล้ว ขอให้ประชาชนไม่ต้องชำระค่าไฟ และหากมีความลำบากในเรื่องของการชำระค่าไฟในเดือนก่อน ๆ ให้แจ้งความจำนงในการขอผ่อนค่าไฟได้ ทั้งนี้ จะไม่มีการตัดไฟหรือยกเลิกการให้บริการไฟฟ้าและน้ำประปาในพื้นที่ประสบภัยเป็นอันขาด
เชียงราย ฝนตกต่อเนื่อง! น้ำป่าถล่ม ‘บ้านห้วยหินลาดใน’ นายอำเภอ เตือน! น้ำมีแนวโน้มเพิ่มอีก
Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงราย เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ว่า บ้านหินลาด อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เกิดน้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนจำนวน 7 หลัง และโรงเรียนในพื้นที่ รวมถึงรถยนต์ 2 คัน พัดไปกับกระแสน้ำ แต่ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
นอกจากนี้ พงศ์ศักดิ์ เพชรคงแก้ว นายอำเภอเวียงป่าเป้า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อคืน (22 ก.ย.) ที่ผ่านมา ฝนตกต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ทำให้น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนนทางหลวง 118 สายเชียงใหม่–เชียงราย 2 จุดใหญ่ ดังนี้
- บริเวณบ้านบวกขอน หมู่ 9 ต.แม่เจดีย์ใหม่
- หน้าโบสถ์คริสต์บ้านทรายมูล ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้ฝนหยุดตกและมีปริมาณน้ำลดลงในบางพื้นที่แล้ว แต่ยังมีแนวโน้มว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก เนื่องจากยังคงมีฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำ เหนืออ่างเก็บน้ำแม่ฉางข้าว ที่น้ำได้ล้นสปิลเวย์แล้ว เช่นเดียวกับเขื่อนดอยงู ที่มีรายงานว่า น้ำได้ล้นสปิลเวย์ 50 ลบ.ม.ต่อวินาที ในส่วนของประชาชน โดยเฉพาะหัวหน้าชุมชน จึงต้องเฝ้าติดตามการแจ้งเตือนเพื่อเตรียมความพร้อมกับน้ำที่จะไหลลงมาในเขตตำบลเวียงต่อไป
อุตุฯ เตือน ฝนตกหนักถึงหนักมากทั่วไทย อันดามัน-อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นลมแรง
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่องฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน ฉบับที่ 6 (212/2567) มีผลกระทบถึงวันที่ 23 ก.ย. 2567 โดยภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง
ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก มีดังนี้
- ภาคเหนือ ได้แก่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร
- ภาคกลาง ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี และกาญจนบุรี
- ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา และนราธิวาส
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดพังงาขึ้นมา และอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตลงไป และอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย