วันนี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!
สทนช. ประกาศ ‘ลำปาง-ตาก-เชียงใหม่’ และ ‘ร้อยเอ็ด’ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง
เวลา 7.00 น. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากขณะนี้ยังเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำบางพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและชุมชนริมแม่น้ำได้ จึงขอให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ดังนี้
วันที่ 24 ก.ย. – 3 ต.ค. 67 ในพื้นที่ลุ่มน้ำวัง
- จ.ลำปาง ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.เถิน ประมาณ 0.2 – 0.5 ม. ในช่วงวันที่ 28 ก.ย. – 2 ต.ค. 2567
- จ.ตาก ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.สามเงา ประมาณ 1.0 – 1.3 ม. ในช่วงวันที่ 24 ก.ย. – 3 ต.ค. 2567
วันที่ 25 – 30 ก.ย. 67 ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำปิง โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ มีแนวโน้มล้นตลิ่ง โดยจะมีระดับน้ำสูงสุด ในวันที่ 26 – 27 ก.ย. 2567 ประมาณ 1.0 – 1.5 ม. จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้น เตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขา รวมทั้งแจ้งเตือนล่วงหน้าให้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
- อ.เมือง ในพื้นที่ ต.ช้างคลาน ป่าแดด หายยา ช้างม่อย วัดเกต ช้างเผือก หนองหอย ท่าศาลา ฟ้าฮ่าม ป่าตัน สันผีเสื้อ และหนองป่าครั่ง
- อ.สารภี ในพื้นที่ ต.หนองผึ้ง และท่าวังตาล
ทั้งนี้ สทนช. ได้มีการร่วมบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำหรับวางแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับฝนที่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังลำน้ำยัง ช่วงวันที่ 26-29 ก.ย.2567 ในริมลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จากปริมาณฝนตกหนักบริเวณ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำยัง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 26-29 ก.ย.นี้ ประมาณ 0.30-0.90 ม. และจะไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกเขตพนังกั้นน้ำ ริมสองฝั่งของลำน้ำยัง บริเวณ อ.เสลภูมิ และ อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด
ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันกั้นน้ำ บริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ รวมทั้งแจ้งเตือนล่วงหน้าให้แก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ
น้ำปิง จ.เชียงใหม่ ล้นตลิ่ง 4.93 ม. โค่นสถิติปี 54
Thai PBS News รายงานสถานการณ์หลังน้ำปิงล้นตลิ่ง จ.เชียงใหม่ วานนี้ (25 ก.ย. 67) โดย นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่เมื่อคืนที่ผ่านมาว่า เมื่อเวลา 03.00 น. สถิติระดับน้ำปิงขึ้นสูงสุด วัดได้ 4.93 ม. ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำสูงสุดที่เคยวัดได้ เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 (ระดับ 4.90 ม.) ส่งผลให้น้ำหลากท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ โรงพยาบาลลานนา ส่วนราชการ ตลาดไนท์บาซาร์ เป็นวงกว้าง ก่อนจะลดระดับลงในช่วงเช้า
ล่าสุด เมื่อเวลา 08.00 น. ระดับน้ำปิงวัดได้ 4.84 ม. และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ลดลงตามลำดับ ชั่วโมงละ 1-2 ซม. หากลดลงถึง 4.30 ม. น้ำที่ท่วมในเขตเมืองจะลงอย่างรวดเร็ว และมวลน้ำจะไปบริเวณโซน 7
น้ำท่วมกระทบ รร.ในเชียงใหม่ หยุดกรณีพิเศษ 13 แห่ง
Thai PBS News รวบรวมรายชื่อโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใน จ.เชียงใหม่ ซึ่งได้ประกาศหยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษ และประกาศปิดภาคเรียน ดังต่อไปนี้
- โรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน หยุดเรียนกรณีพิเศษเพิ่ม 1 วัน วันพฤหัสบดี ที่ 26 กันยายน 2567
- โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ปิดภาคเรียนที่ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน และเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 15 ตุลาคม
- โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกประถม หยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษ วันที่ 26 และวันที่ 27 กันยายน 2567
- โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม หยุดเป็นกรณีพิเศษ วันที่ 26 ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2567
- โรงเรียนพระหฤทัยเชียงใหม่ ปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2567 ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน และเปิดภาคเรียนที่ 2 ในวันที่ 16 ตุลาคม
- โรงเรียนดาราวิทยาลัย หยุดเรียนกรณีพิเศษ วันที่ 26 กันยายน
- โรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ปิดภาคเรียนที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน- 15 ตุลาคม
- โรงเรียนวิชัยวิทยา ปิดภาคเรียนที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน และ เปิดภาคเรียนที่ 2 วันที่ 21 ตุลาคม
- โรงเรียนจิตราวิทยา จ.เชียงใหม่ ปิดเรียนเพิ่ม วันที่ 26-27 กันยายน
- วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา เชียงใหม่ หยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษ วันที่ 26-27 กันยายน
- โรงเรียนเทศบาลวัดป่าแพ่ง นครเชียงใหม่ หยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษ วันที่ 26-27 กันยายน
- โรงเรียนวัดท่าต้นกวาว หยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษ วันที่ 26 กันยายน
- โรงเรียนเทศบาลวัดพวกช้าง เทศบาลนครเชียงใหม่ หยุดเรียนเพิ่มเติม วันที่ 26-27 กันยายน
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศให้ผู้ปฏิบัติงานบางส่วนที่ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติงาน ณ ที่ตั้ง แต่ยังสามารถปฏิบัติงานที่บ้าน (Work From Home) ได้
รถไฟสายเหนือ ปรับเส้นทาง 12 ขบวน
การรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งปรับเส้นทางเดินขบวนรถ โดย วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเมือง จ.เชียงใหม่ มีมวลน้ำจากแม่น้ำปิงเอ่อล้นทะลักเข้าภายในพื้นที่เขตตัวเมืองชั้นใน ทำให้เกิดน้ำท่วมทางรถไฟ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 745/9-13 และ 750/1-4 ระหว่างสถานีสารภี – เชียงใหม่ โดยมีระดับน้ำสูงเหนือสันราง 5 เซนติเมตร และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ขอแจ้งปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทาง ขบวนรถโดยสารภาคเหนือ จากสถานีเชียงใหม่ เป็นสถานีลำปาง เป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์น้ำจะลดลง เพื่อดูแลความปลอดภัยในการเดินทาง จำนวน 12 ขบวน ดังนี้
- รถด่วนพิเศษขบวนที่ 7/8 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ – กรุงเทพอภิวัฒน์ ปรับเปลี่ยนเป็น กรุงเทพอภิวัฒน์ – ลำปาง – กรุงเทพอภิวัฒน์
- รถด่วนพิเศษขบวนที่ 9/10 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ – กรุงเทพอภิวัฒน์ ปรับเปลี่ยนเป็น กรุงเทพอภิวัฒน์ – ลำปาง – กรุงเทพอภิวัฒน์
- รถด่วนพิเศษขบวนที่ 13/14 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ – กรุงเทพอภิวัฒน์ ปรับเปลี่ยนเป็น กรุงเทพอภิวัฒน์ – ลำปาง – กรุงเทพอภิวัฒน์
- รถด่วนขบวนที่ 51/52 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ – กรุงเทพอภิวัฒน์ ปรับเปลี่ยนเป็น กรุงเทพอภิวัฒน์ – ลำปาง – กรุงเทพอภิวัฒน์
- รถเร็วขบวนที่ 109/102 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ – กรุงเทพอภิวัฒน์ ปรับเปลี่ยนเป็น กรุงเทพอภิวัฒน์ – ลำปาง – กรุงเทพอภิวัฒน์
- รถท้องถิ่นขบวนที่ 407/408 นครสวรรค์ – เชียงใหม่ – นครสวรรค์ ปรับเปลี่ยนเป็น นครสวรรค์ – ลำปาง – นครสวรรค์
การรถไฟฯ จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร โดยจัดรถยนต์ให้บริการระหว่าง สถานีลำปาง สถานีลำพูน และสถานีขนส่งอาเขต จังหวัดเชียงใหม่ ดังนี้
- รถด่วนพิเศษขบวนที่ 9 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ ขนถ่ายผู้โดยสารที่ สถานีลำพูน
- รถด่วนพิเศษขบวนที่ 13 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ ขนถ่ายผู้โดยสารที่ สถานีลำปาง
- รถด่วนขบวนที่ 51 กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ ขนถ่ายผู้โดยสารที่ สถานีลำปาง
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือ ดูแลความปลอดภัยในการเดินทางแก่ผู้โดยสาร เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และเร่งซ่อมแซมทางรถไฟที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขสถานการณ์อย่างทันท่วงที
นายกฯ ลงพื้นที่ เชียงใหม่-เชียงราย พรุ่งนี้ (27 ก.ย. 67) ด้าน ภูมิธรรมเผย เยียวยาแน่! ครอบครัวละ 5,000 บาท
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย หลังการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ว่า น้ำท่วมในครั้งนี้ จะต้องรับมือต่างจากครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดปัญหาดินโคลนที่ทับถมตามบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก จึงต้องทำการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูบ้านเรือนที่ประสบภัยจากโคลนที่มากับน้ำ
โดย พรุ่งนี้ (27 ก.ย. 67) นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ทั้ง จ.เชียงใหม่ และเชียงราย เพื่อรับทราบสถานการณ์ และแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นการแยกไปดูในจุดวิกฤต
หลังจากนายกฯ ลงพื้นที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการสั่งการเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ครม. ได้อนุมัติเงินจำนวน 3,000 ล้านบาท ไปยัง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องกฎระเบียบการใช้เงิน ซึ่งจะลดขั้นตอนจาก 30 วัน ให้เหลือ 5 วัน โดยเงินก้อนแรกจะจ่ายให้ครอบครัวละ 5,000 บาท ในเบื้องต้นพยายามจะจ่ายให้ทั่วถึงก่อน จากนั้นจะพิจารณาเพิ่มเติม
‘อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย’ ยังคงวิกฤต! คาด แม่น้ำยมจาก จ.แพร่ มาเติมเพิ่ม
Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย โดย วิทยา สันติกุล นายอำเภอศรีสำโรง ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากคันกั้นแม่น้ำยมแตกจนทำให้น้ำทะลักไหลเข้าท่วมพื้นที่ อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีถนนเรียบแม่น้ำพังบางจุด
โดยเฉพาะ บริเวณหมู่ที่ 6 และหมู่ที่ 9 ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง เนื่องจากถนนเรียบแม่น้ำยมซึ่งถือเป็นคันกั้นน้ำแตกเป็นระยะทางยาวกว่า 20 เมตร กระทบถึงบ้านเรือน 500 หลังคาเรือน และมีประชาชนเดือดร้อนกว่า 1,000 คน ซึ่งก่อนหน้านี้ในพื้นที่หมู่ 6 ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง เจ้าหน้าที่ได้ทำบิ๊กแบ็ค 2 ชั้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำ แต่ชั้นแรกต้านกระแสน้ำไม่อยู่ ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมบ้าน 40 หลังคาเรือน จากครั้งก่อนที่ท่วม 500 หลังคาเรือน
ด้าน ประชาชน มีการรวมตัวกันสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อไม่ให้มวลน้ำเข้าท่วมบ้านเรือน หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำยมที่ จ.แพร่ ยังมีปริมาณมากและคาดว่าจะมาเติมที่ จ.สุโขทัย อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเรื่องน้ำจะกัดเซาะถนนปิ่นวิเศษ บริเวณถนนเรียบคลองแม่น้ำยมหรือพนังกั้นน้ำพัง เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่าน
ลุ่มภาคกลางยังรอด! เส้นทางน้ำเหนือไม่กระทบ
Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำลุ่มภาคกลาง จากการประมวลผลแม่น้ำ ทั้งแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน พบว่า ขณะนี้สถานการณ์ไม่น่ากังวล เนื่องจากเส้นทางน้ำเหนือสามารถควบคุมได้โดยไม่กระทบกับภาคกลาง ดังนี้
- น้ำปิง จาก จ.เชียงใหม่ ลงเขื่อนภูมิพลทั้งหมด เพราะขณะนี้น้ำในเขื่อนมีเพียงครึ่งเดียว จึงสามารถรับมวลน้ำได้อีกจำนวนมาก
- น้ำยม จาก อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ขณะนี้คันดินแตก และน้ำท่วมขยายวงกว้างเพิ่มขึ้น (หากจะมาถึงเมืองสุโขทัย ก็จะโดนผันไปตะวันออก ไปลงแม่น้ำยมสายเก่า และลงบางระกำ) ขณะนี้รับน้ำได้อีกประมาณ 100 ล้าน ลบ.ม. หรือไปลงน่าน ก็จะลงบึงบอระเพ็ด ซึ่งรับน้ำได้อีก 100 ล้าน ลบ. ม. เช่นเดียวกัน
- น้ำเจ้าพระยา มีการระบายน้ำประมาณ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที และวันที่ 27 ก.ย. นี้ อาจระบายน้ำเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรองรับหากมีฝนตก ซึ่งยังเป็นไปตามแผน โดยจะไหลลงอ่าวไทยช่วงที่น้ำทะเลลดพอดี คือ ช่วงวันที่ 2-3 ต.ค. นี้
ส่วน ระดับน้ำเจ้าพระยาที่เพิ่มขึ้นใน จ.นครสวรรค์ และ จ.ชัยนาท จากการรายงานของ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อเวลา 07.00 น. พบว่า ขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าตลิ่ง แม้ว่าจะมีฝนตกทางพื้นที่ตอนบนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณไหลลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น แต่ กรมชลประทาน ได้มีการทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและฝนที่ตกในระยะนี้
อย่างไรก็ตาม จะมีน้ำท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ อ.บางบาล อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา โดยกรมชลประทานพยายามส่งน้ำเข้าระบบชลประทานบางส่วน เพื่อไม่ให้ อ.บางบาล อ.เสนา มีระดับน้ำเพิ่มขึ้นมากนัก
ด้าน กทม. ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่ขอให้จับตาฝนภาคกลาง ช่วงปลายเดือน ก.ย. ถึง ต้นเดือน ต.ค. ซึ่งคาดว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าจะจัดการได้ เพราะยังมีพื้นที่ทุ่ง 10 ทุ่ง เป็นมาตรการสุดท้าย ร่วมกับการผันน้ำไปซ้ายขวา ตามศักยภาพการระบายของคลอง