สรุป #น้ำท่วม2567 (27 ก.ย. 67)

วันนี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!

นายกฯ ลุยเชียงราย เร่งเยียวยา-ฟื้นฟู

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ​เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หลังเกิดเหตุน้ำท่วม จ.เชียงราย โดย Thai PBS News รายงานว่า โดยทันทีที่นายกรัฐมนตรี​และคณะ​ เดินทางมาถึง​ในเวลา​ 16.00 น. ได้ร่วมติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ผ่านระบบ Video Conference ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดอีก​ 5 จังหวัด ดังนี้

  • ลำปาง
  • พะเยา
  • สุโขทัย
  • เชียงใหม่
  • หนองคาย​

นายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า รัฐบาลเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างดี จึงได้มอบให้กระทรวงมหาดไทย เร่งรัดการจ่ายค่าเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด ซึ่งได้รับรายงานว่า มีบางส่วนได้รับเงินเยียวยาไปแล้วกว่า 3,000 ครอบครัว และหลังจากนี้จะค่อย ๆ พิจารณาตามความเหมาะสม

แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประชุมระหว่างลงพื้นที่ จ.เชียงราย (ภาพ : ไทยคู่ฟ้า)

ส่วนบ้านเรือนที่ดินโคลนติดค้าง ขณะนี้ได้ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน โดยแบ่งโซนความรับผิดชอบ​ เพื่อความทั่วถึงและชัดเจน ว่าส่วนใดได้รับการดูแลไปแล้วบ้าง และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย​ กรม​ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย​ เป็นผู้ขับเคลื่อนในการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ พร้อมขอให้ส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนเครื่องจักรและเครื่องมือ​ อัตรากำลังพล เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง และขอบคุณทางกรุงเทพฯ ที่ส่งเครื่องจักรมาให้​ ในการช่วยเหลือกำจัดดิน

ขณะที่กระทรวงการคลัง เตรียมเรื่องซอฟท์โลน สำหรับการฟื้นฟูกิจการ และซ่อมแซมที่อยู่อาศัย​ รวมวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายกลุ่ม Micro SME ขึ้นไป​ รวมไปถึงบุคคลธรรมดา และการกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดและซ่อมแซมให้กับผู้ประสบภัยจำนวนมาก​ รวมถึงสินค้าธงฟ้าในราคาประหยัด​ เพื่อให้ประชาชน สามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้

สำหรับประชาชนในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ที่ยังมีน้ำท่วม รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชน ไปถึงผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมประชุมในครั้งนี้เพื่อสรุปสถานการณ์​ หาแนวทางเยียวยาฟื้นฟูต่อไป​

ขณะที่ ภูมิธรรม​ เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ​ผู้อำนวย​การ ศปช.​ ได้เสนอให้ตั้ง ศปช. ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคเหนือ โดยส่งให้รัฐมนตรีมาประจำอยู่ในพื้นที่​ จึงเสนอ​ ธีรรัตน์​ สำเร็จวานิช​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาอยู่​ประจำในพื้นที่ เพื่อประสานงานและเร่งรัดการช่วยเหลือในทุกด้าน

อุตุฯ แจง ‘พายุซีมารอน’ ไม่กระทบไทยโดยตรง

กรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจง เรื่องพายุโซนร้อน “ซีมารอน (Cimaron)” ที่มีการถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ว่ามีความรุนแรงกว่าพายุยางิ โดย ระบุว่า เนื้อหาข้างต้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากพายุดังกล่าว มีแนวโน้มเคลื่อนขึ้นไปทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นและจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรง แต่อาจทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และหลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง

ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลเช่นนี้ ซึ่งอากาศมีความแปรปรวนในบางวัน ส่วนกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศร้ายแรงเกิดขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศเตือนอย่างเป็นทางการต่อไป และหากมีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้น จะประกาศเตือนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน

น้ำปิง จ.เชียงใหม่ ลดแล้ว แต่ยังวิกฤต จนท.-ปชช. จับตาสถานการณ์บ่ายนี้

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่หลังน้ำปิงล้นตลิ่งจนทำให้พื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ มีน้ำท่วมขังเป็นเวลา 3 วัน โดยขณะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำปิงค่อย ๆ ลดลงแล้ว แต่ยังคงเกินกว่าระดับวิกฤต วัดได้ 4.23 ม. และหลายพื้นที่ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ ดังนี้

  • พื้นที่ ถ.ช้างคลาน บ.ป่าพร้าวนอก และถ.ประชาสัมพันธ์ ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ทำให้รถสัญจรไปมาด้วยความยากลำบาก
  • ชุมชนเชียงใหม่แลนด์ 1 ระดับน้ำสูงสุดยังอยู่ที่ประมาณหน้าอก แต่มีบางพื้นที่ที่น้ำเริ่มลดลง และชาวบ้านเริ่มทยอยออกมาซื้ออาหารและอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านเรือน
  • ต.ป่าแดด อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำลดลงแล้ว แต่ยังสูงกว่าระดับตลิ่ง และไหลเชี่ยว เสี่ยงต่อการพังทลายของแนวกั้น บริเวณใกล้กับทางลอดใต้สะพานสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 จึงต้องเฝ้าระวังตามแนวป้องกันน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชม. โดยมีเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลป่าแดด สับเปลี่ยนกันเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง

ด้าน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดทีมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการ โดยจะปฏิบัติภารกิจให้บริการ ณ ที่ตั้ง และลงพื้นที่เข้าหาประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมโดยใช้เรือท้องแบน เพื่อเข้าไปแจกยา ตรวจรักษาโรค รวมถึงสอบถามข้อมูลด้านสุขภาพ เพื่อช่วยดูแลสุขภาพของประชาชนในช่วงภาวะวิกฤต พร้อมวางมาตรการช่วยเหลือด้านสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในเขต อ.เมืองเชียงใหม่

ส่วนสถานการณ์น้ำหลังจากนี้ คาดกว่าหากไม่มีมวลน้ำมาเติม ระดับน้ำมีแนวโน้มต่ำกว่าตลิ่ง ในช่วงบ่ายของวัน อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าที่ผ่านมา ยังมีฝนตกอยู่ ประชาชนจึงต้องจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ฝนซัดดอยสุเทพ ทำน้ำป่าไหลหลาก ทะลักเข้า มช.-ชุมชน

Thai PBS News รายงาน เมื่อเวลา 09.00 น. เกิดน้ำป่าไหลหลากจากดอยสุเทพ หลังฝนตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืน ไหลผ่านการประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่ ลงถนนเลียบคลองชลประทาน ต.สุเทพ อ.เมือง ทางคูเมือง และไหลไปลงแม่น้ำปิงที่ อ.หางดง ในลำดับต่อไป สร้างความเสียหายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ทั้งต้นไม้หักโค่น ดินสไลด์ทางขึ้นดอยสุเทพหลายจุด และน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะลำห้วยแก้ว และบริเวณน้ำตกวังบัวบาน ทำให้น้ำไหลไปทางอ่างแก้ว จนล้นสปิลเวย์ของอ่าง และเข้าท่วมภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงย่านชุมชนสูง 30 ซม.

นอกจากนี้ ยังมีดินสไลด์บนดอยสุเทพ (ก่อนถึงจุดชมวิว) ทำให้รถบัสขนาดใหญ่ไม่สามารถผ่านได้ ส่วนรถเล็กจะต้องเบี่ยง และผ่านไม่ได้

ด้าน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงแจ้งปิดพื้นที่ภายในบริเวณคณะการสื่อสารมวลชน รวมถึงงดการเรียนการสอนแบบ On-site และให้คณาจารย์จัดการเรียนการสอน Online เนื่องจากเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม

ล่าสุด หลังชลประทานเชียงใหม่เร่งเปิดประตูระบายคลองชลประทาน และใช้เครื่องสูบน้ำลงคลอง ระดับน้ำจึงได้ลดลงมาประมาณ 15 ซม. แล้ว และท่วมบริเวณแยกตลาดต้นพะยอม ทำให้การจราจรติดขัด เนื่องจากน้ำท่วม จนใช้ได้เพียง 1 ช่องทางการจราจร

แตกอีก! พนังกั้นน้ำยม ‘อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย’

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย โดย เวลา 03.00 น. พนังกั้นน้ำบริเวณหมู่ 6 ต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย แตกเป็นครั้งที่ 2 ส่งผลให้น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านประชาชนในพื้นที่กว่า 30 หลังคาเรือน

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.สุโขทัย รายงานถึงสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.สวรรคโลก โดย แม่น้ำยมสายหลัก ต.ท่าทอง มีน้ำเพิ่มสูงขึ้นล้นพนังตลอดแนวริมน้ำ และมีพนังพังเสียหายหลายจุดได้แก่  ม.6 จำนวน 2 จุด และ ม.7 จำนวน 1 จุด ซึ่งได้มีการอพยพประชาชนบริเวณจุดวิกฤตไปยังศูนย์พักพิง วัดท่าทองแล้ว ได้แก่ 

นอกจากนี้ โครงการชลประทานสุโขทัย กรมชลประทาน รายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างส่วนใหญ่มีน้ำกักเก็บ 80-90% เช่น

  • อ่างเก็บน้ำห้วยแม่สูง ความจุอ่าง 12.45 ล้านลบ.ม. เก็บกักน้ำ 95.22%
  • อ่างเก็บน้ำห้วยท่าแพ ความจุอ่าง 58 ล้านลบ. เก็บกักแล้ว 85%
  • บางแห่งเต็ม 100 แล้ว เช่น โครงการแก้มลิงวังทองแดง ความจุอ่าง 10 ล้านลบ.ม.

เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม ‘นนทบุรี-อยุธยา-สิงห์บุรี’ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มอัตราการระบายน้ำ 1,699 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเตรียมปรับอัตราการระบายน้ำเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได แต่ไม่เกิน 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรองรับมวลน้ำจากทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นอกจากนี้ ยังจำเป็นจะต้องเพิ่มอัตราการระบายน้ำมากขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ไหลเข้ามาที่เขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำเจ้าพระยา เสี่ยงได้รับผลกระทบ ดังนี้

  • จ.พระนครศรีอยุธยา หน้าวัดกษัตราธิราชวรวิหาร มีนักศึกษาวิชาทหาร กว่า 100 นาย ช่วยกันนำดินบรรจุกระสอบทราย ขนใส่รถบรรทุก และลำเลียงเพื่อเป็นแนวป้องกันน้ำท่วมจุดที่เป็นฟันหลอ ระยะทางกว่า 800 เมตร บริเวณเกาะเมือง อ.พระนครศรีอยุธยา
  • จ.สิงห์บุรี โดย ทรงวิทย์ เหลืองอ่อน ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสิงห์บุรี แจ้งเตือนประชาชนที่มีบ้านพักอาศัยนอกคันกั้นน้ำ ให้ยกทรัพย์สินมีค่าขึ้นที่สูง และให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
  • จ.นนทบุรี โดย อภิชัย อร่ามศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ซึ่งมีชุมชน 30 แห่ง อาจเสี่ยงได้รับผลกระทบด้วย เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และอยู่นอกคันกั้นน้ำ จึงขอให้ประชาชนเร่งขนของขึ้นที่สูง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ

เขื่อนกิ่วคอหมา-กิ่วลม ระบายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ‘อ.เมือง-อ.สมปราบ-อ.เถิน’ เตรียมรับมือ!

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ลำปาง โดย ชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ลงพื้นที่ หมู่ 6 บ้านหนองบัว ต.ล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำวัง ซึ่งเอ่อท่วมบ้านเรือน จนเรียกได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดย ระดับน้ำที่ไหลท่วมจุดที่ลึก อยู่ระดับ 1.50 ม. ด้านประชาชน เร่งอพยพของขึ้นที่สูง ตามคำเตือนของนายอำเภอเถินที่ประกาศแจ้งเตือนก่อนหน้านี้

ด้าน สมศักดิ์ วัชรธาดาพงศ์ นายอำเภอเถิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทางอำเภอ ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำวัง และลำน้ำสาขา รวมถึงกรณีการแจ้งเตือนจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ที่ปัจจุบันยังพบปริมาณน้ำท่า ไหลลงเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องระบายน้ำออกมาลงแม่น้ำวัง ผ่านทาง อ.เมือง, อ.สมปราบ และผ่านสู่ อ.เถิน ในวันพรุ่งนี้ (28 ก.ย.) เพิ่มขึ้น

ส่วนพื้นที่ อ.เถิน ได้เฝ้าระวังกันอย่างเต็มที่ โดยขณะนี้ทางอำเภอและเทศบาลเมืองล้อม ร่วมกันแจกจ่ายกระสอบทรายให้กับประชาชนไปแล้ว 9,400 กระสอบ อีกทั้งยังเร่งนำทรายมาลงเพิ่ม เพื่อให้ประชาชนมากรอกทำเป็นกระสอบทรายเพิ่มเติม รวมถึงเตรียมศูนย์ประสานงาน, การตั้งโรงครัว และการเร่งอพยพผู้ป่วยและผู้สูงวัย ออกจากพื้นที่ไว้ล่วงหน้าแล้ว พร้อมนำข้าวกล่อง และถุงยังชีพเข้าไปแจกจ่ายประชาชนที่ยังอยู่ในบ้านเรือนอีกด้วย

ขณะที่เทศบาลเมืองล้อมแรด ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ หลังจากเริ่มมีน้ำผุดขึ้นจากท่อระบายน้ำถนนหน้าบ้าน บริเวณถนนสวนสาธารณะเมืองล้อมแรด เพื่อเร่งสูบน้ำจากพื้นที่ในชุมชนระบายลงแม่น้ำวัง

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำจากเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมาที่ระบายเพิ่มขึ้นนั้น ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา แจ้งว่า จะมาถึง อ.เถิน ในวันพรุ่งนี้ (28 ก.ย.)

  • เวลา 10.00 น. จากปริมาณน้ำที่ อ.สบปราบ รวมกับปริมาณน้ำจาก ห้วยสมัย ห้วยแม่ทก ห้วยแม่เรียง ห้วยแม่ปราบ ในพื้นที่ อ.สบปราบ ห้วยแม่ถอด ห้วยแม่ปะ อ.เถิน
  • เวลา 16.00 น. น้ำจะไหลผ่านริมตลิ่งแม่น้ำวัง ในเขตพื้นที่ อ.แม่พริก (รวมปริมาณน้ำ จากห้วยแม่อาบ ห้วยแม่วะ อ.เถิน)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active