สรุป #น้ำท่วม2567 (30 ก.ย. 67)

วันนี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!

เชียงใหม่ น้ำ(เน่า)ท่วมขังหลายจุด แม้ระดับน้ำปิงต่ำกว่าวิกฤต

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงใหม่ หลังน้ำปิงล้นตลิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยขณะนี้ ระดับน้ำปิงระยะเฝ้าระวังวัดได้ 3.45 เมตร เป็นระดับที่ยังคงที่จากจุดวิกฤต (4.20 ม.)

แม้ระดับแม่น้ำปิงจะอยู่ต่ำกว่าระดับวิกฤตแล้ว แต่มวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมพื้นที่ใน จ.เชียงใหม่ โดยเฉพาะชุมชนที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำอย่าง ต.ชมพู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ยังคงท่วมขังยาวนานถึง 8 วัน และเริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเมื่อสัมผัสน้ำที่ท่วมขังอยู่ จะมีอาการผดผื่นขึ้นจนต้องไปพบแพทย์ เนื่องจากพื้นที่ประสบภัยดังกล่าว มีปลาตายจำนวนมาก ส่งกลิ่นเหม็น และน้ำเน่าเสีย         

เช่นเดียวกับ บ้านต้นโชค ต.ไชยสถาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่  เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน โดยปัจจุบันน้ำที่ท่วมขังเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น และไม่สามารถใช้ห้องน้ำได้อย่างปกติ ทำให้กระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก  

ด้าน นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งระดมทุกหน่วยงาน ให้เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทางตอนล่างที่กำลังถูกผลกระทบจากน้ำท่วม โดยให้เจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด เพื่อเตรียมรับมือกับฝนที่คาดว่าจะตกในพื้นที่ จ.เชียงใหม่อีก

นอกจากนี้ อัศนี บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในจุดต่าง ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในลำน้ำปิง ด้วยการจัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ที่กีดขวางทางน้ำอีกด้วย

อุตุฯเตือน อากาศแปรปรวน วันนี้-3 ต.ค.

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่องอากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน ฉบับที่ 5 (217/2567) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 3 ต.ค. 67 

ประเทศไทยตอนบน มีลักษณะอากาศแปรปรวนเกิดขึ้น โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ

หลังจากนั้น อากาศจะเย็นลงกับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียส ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย

จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

วันที่ 30 ก.ย. 67

  • ภาคเหนือ : เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง : นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
  • ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 1 ต.ค. 67

  • ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง : นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

วันที่ 2 – 3 ต.ค. 67

  • ภาคเหนือ : แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์
  • ภาคกลาง : นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรีพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
  • ภาคตะวันออก : นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
  • ภาคใต้ : เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร

ปภ. เผย เดือนครึ่ง ท่วมแล้ว 37 จังหวัด กระทบ 181,870 ครัวเรือน ปัจจุบันมี 18 จังหวัด ยังท่วมอยู่

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ระหว่างวันที่ 16 ส.ค.-30 ก.ย. 67 พบว่า ปัจจุบันมีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 181,870 ครัวเรือน ในพื้นที่ 220 อำเภอ 942 ตำบล และ 5,004 หมู่บ้าน โดยมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งหมด 49 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 28 ราย ในพื้นที่ 37 จังหวัด ดังนี้

  • ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี หนองคาย นครพนม ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม บึงกาฬ หนองบัวลำภู และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ อ่างทอง นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
  • ภาคตะวันออก 2 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี และระยอง
  • ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล

ปัจจุบัน ยังมี 18 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบ โดยกระทบถึง 41,136 ครัวเรือน ใน 71 อำเภอ 295 ตำบล และ 1,496 หมู่บ้าน ดังนี้

ภาคเหนือ 9 จังหวัด ดังนี้

  • เชียงราย ได้แก่ อำเภอเมืองฯ เวียงป่าเป้า แม่สรวย และแม่ลาว
  • เชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอสารภี หางดง และสันป่าตอง
  • ลำปาง ได้แก่ อำเภอแม่พริก สบปราบ เถิน และเกาะคา
  • ลำพูน ได้แก่ อำเภอเมืองฯ ป่าซาง บ้านธิ ทุ่งหัวช้าง แม่ทา เวียงหนองล่อง และบ้านโฮ่ง
  • แพร่ ได้แก่ อำเภอลอง วังชิ้น สูงเม่น เมืองฯ และเด่นชัย
  • ตาก ได้แก่ อำเภอสามเงา และบ้านตาก
  • เพชรบูรณ์ ได้แก่ อำเภอชนแดน ศรีเทพ หล่มเก่า หนองไผ่ และหล่มสัก
  • พิษณุโลก ได้แก่ อำเภอพรหมพิราม บางระกำ เมืองฯ บางกระทุ่ม วังทอง นครไทย และวัดโบสถ
  • สุโขทัย ได้แก่ อำเภอสวรรคโลก ศรีสำโรง และเมืองฯ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด

  • หนองคาย ได้แก่ อำเภอศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ เมืองฯ และโพนพิสัย
  • อุดรธานี ได้แก่ อำเภอเมืองฯ และสร้างคอม
  • ชัยภูมิ ได้แก่ อำเภอคอนสวรรค์ และจัตุรัสเมืองฯ
  • มหาสารคาม ได้แก่ อำเภอเมืองฯ กันทรวิชัย โกสุมพิสัย และเชียงยืน
  • อุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอเขมราฐ โพธิ์ไทร นาตาล โขงเจียม เมืองฯ และสว่างวีระวงศ์

ภาคตะวันออก 1 จังหวัด

  • ปราจีนบุรี ได้แก่ อำเภอประจันตคาม กบินทร์บุรี และศรีมหาโพธิเมืองฯ

ภาคกลาง 2 จังหวัด

  • อ่างทอง ได้แก่ อำเภอวิเศษชัยชาญ
  • พระนครศรีอยุธยา ได้แก่ อำเภอบางบาล ผักไห่ เสนา พระนครศรีอยุธยา บางปะอิน และบางไทร

ภาคใต้ 1 จังหวัด

  • ยะลา ได้แก่ อำเภอยะหา

เหนือ-อีสาน เช็ก! 9 สายทาง ผ่านไม่ได้

กรมทางหลวงชนบท รายงานสายทางที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วม หลังสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว โดย อภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการล้างทำความสะอาด และฟื้นฟูสายทาง เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ได้ตามปกติโดยเร็ว จึงรายงานทางหลวงชนบทที่ได้รับผลกระทบ 13 สายทาง ซึ่งสัญจรผ่านได้ 4 สายทาง และสัญจรผ่านไม่ได้ 9 สายทาง ในพื้นที่ 4 จังหวัด ดังนี้

จังหวัดนครพนม

  • ถนนสาย นพ.3065 แยก ทล.212 – บ้านหนองสาหร่าย อำเภอบ้านแพง, ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม (ช่วง กม.ที่ 3+100 ถึง 3+400)
  • ถนนสาย นพ.4059 แยก ทล.2032 – บ้านไทยสบาย อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม (ช่วง กม.ที่ 9+900 ถึง 10+100)

จังหวัดหนองคาย

  • ถนนสาย นค.5027 แยกทางหลวงชนบทสาย นค.3009 – บ้านสร้างคอม (ตอนอุดรธานี) อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 7+525 ถึง 8+850 และ 12+825 ถึง 13+400)
  • ถนนสาย นค.3015 แยก ทล.211 – บ้านโพธิ์ตาก อำเภอท่าบ่อ, โพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 23+600 ถึง 24+800)
  • ถนนสาย นค.3042 แยก ทล.211 – บ้านธาตุกลางน้อย อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 12+300 ถึง 12+900 และ 16+300 ถึง 17+300)
  • ถนนสาย นค.1034 แยก ทล.2 – บ้านโนนสีทอง (ตอนอุดรธานี) อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย (ช่วง กม.ที่ 9+000 ถึง 11+000)

จังหวัดอุดรธานี

  • ถนนสาย อด.4002 แยก ทล.2096 – บ้านสร้างคอม อำเภอสร้างคอมล บ้านดุง จังหวัดอุดรธานี (ช่วง กม.ที่ 35+400 ถึง 37+800)

จังหวัดสุโขทัย

  • สะพาน สท.009 สะพานคลองกระจง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
  • สะพาน สท.010 สะพานสุขุมสามัคคีสามตำบล อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักร และกำลังเจ้าหน้าที่ไว้เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

สำหรับสายทางที่ได้รับผลกระทบ ได้ดำเนินการปิดการจราจร โดยติดตั้งป้ายเตือน สัญญาณไฟ อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง

กรอบเงินพิเศษเยียวยาช่วยน้ำท่วม เตรียมชง ครม. พรุ่งนี้

Thai PBS News รายงานเกี่ยวกับกรอบเงินเยียวยาของผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดย ภูมิธรรม​ เวชยชัย​ รองนายก​รัฐมนตรี ​และ ​รมว.กลาโหม​ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม​ (ศปช.)​ กล่าวถึง การขยายกรอบวงเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย​ว่า​ ขณะนี้ยังไม่มีการส่งเรื่องมา ​แต่พรุ่งนี้จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าในช่วงบ่ายวันนี้จะทราบถึงรายละเอียด​

ส่วนกรณีประชาชนที่ได้รับผลกระทบซ้ำจะสามารถรับเงินเยียวยาได้ 2 รอบหรือไม่​นั้น ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เนื่องจากขณะนี้เงินเยียวยาที่จ่ายไปคือกลุ่มที่สำรวจมาเบื้องต้น​ ซึ่งต้องดูว่ามีความต่อเนื่องกันอย่างไร และมีรายละเอียดอะไรบ้าง

แต่ที่ให้แน่นอนคือเรียงตามคิวปัจจุบัน​ 5,000 / 7,000 และ 9,000​ บาท ส่วนที่จะให้เพิ่มเติมก็ต้องพิจารณาในรายละเอียด​ 

นอกจากนี้ ภูมิธรรม ยังระบุอีกว่า จะพิจารณากรอบเยียวยาให้เร็วที่สุด​ แต่วันพรุ่งนี้จะนำเข้าสู่ที่ประชุม​ ครม. ซึ่งน่าจะมีความชัดเจน​ โดยเงินส่วนนี้จะเป็นเงินพิเศษ​ที่จะพิจารณาเพิ่มเติมให้​

มาตรการเยียวยายังไม่ตอบโจทย์! เสียงสะท้อนของชาวสุโขทัยหลังน้ำลด

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุโขทัย หลังน้ำยมทะลักท่วมในพื้นที่กว่า 6 วัน จนพนังกั้นน้ำแตกใกล้กัน 3 จุด ที่บ้านท่าเกษม หมู่ 6 ต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ทำให้ชาวบ้านบางส่วนติดเกาะ เพราะถนนถูกตัดขาด และพัดบ้านประชาชนเสียหายถึง 2 หลัง

ล่าสุด เมื่อคืนนี้ (29 ก.ย. 67) ระดับน้ำได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จนชาวบ้านสามารถเข้าไปสำรวจความเสียหายภายในบ้านได้แล้ว แต่ยังมีความกังวล เนื่องจากมีการแจ้งเตือนว่า น้ำเหนือจะเข้ามาในพื้นที่อีกครั้ง ในวันที่ 4-5 ต.ค.นี้ และอาจจะทะลักเข้าท่วมเป็นรอบที่ 3

ด้าน วิทยา ผิวพรรณ เลขานายก อบต.ท่าทอง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย กล่าวว่า เบื้องต้นได้บรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน อบต.ท่าทอง โดยเตรียมรถ 6 ล้อ บรรทุกดิน 200 เที่ยว และเร่งดำเนินการซ่อมแซมพนังกั้นน้ำที่แตกทั้ง 3 จุด เพื่อให้ชาวบ้านมีเส้นทางเข้า-ออก รวมถึงป้องกันหากน้ำเข้าท่วมในพื้นที่เป็นรอบที่ 3

ขณะที่ชาวบ้านได้สะท้อนปัญหาเรื่องการเยียวยา โดยมองว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้น ควรกำหนดเป็นครั้ง เนื่องจากเมื่อน้ำแห้ง ชาวบ้านได้นำเงินไปซื้อข้าวของที่จำเป็นมาใหม่แล้ว แต่กลับถูกน้ำท่วมซ้ำอีก แต่การเยียวยาตามมาตรการของรัฐจะกำหนดเป็นการช่วยเหลือเป็นรอบวัน เช่น 30 วัน หรือ 60 วัน จึงอาจไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้

เช่นเดียวกับ กลุ่มเกษตรกรปลูกกล้วยตานี โดย พิมประไพ ปันเงิน เกษตรกรสวนใบตอง กล่าวว่า มาตรการการเยียวยาช่วยเหลือของรัฐขณะนี้ได้นับรวมการปลูกกล้วยไปอยู่กับไม้ยืนต้น ซึ่งจะได้รับการชดเชยต่อเมื่อยืนต้นตายไร่ละ 4,048 บาท แต่เกษตรกรปลูกกล้วยตานีเก็บใบตองขาย มีการเก็บผลผลิตทุกวัน ไม่ใช่ฤดูออกผล จึงมองว่าการเยียวยาอาจไม่ตอบโจทย์กับความเสียหายที่เกิดขึ้น

พิมประไพ ปันเงิน เกษตรกรสวนใบตอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active