สรุป #น้ำท่วม2567 (8 ต.ค. 67)

วันนี้ จุดไหนเสี่ยง พื้นที่ไหนได้รับผลกระทบ แนวทางรับมือ เยียวยาน้ำท่วม มีมาตรการอะไรน่าสนใจ The Active รวบรวมเอาไว้ให้แล้ว!

ครม. เคาะ! เยียวยาน้ำท่วมอัตราเดียว 9,000 บาท ทุกครัวเรือน

Thai PBS News รายงานความคืบหน้าเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม โดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องทบทวนหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567 โดยเปลี่ยนเป็นให้การช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิมตามมติ ครม.17 ก.ย. 67 วงเงิน 3,045 ล้านบาท 

ด้าน ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 3 ต.ค. นี้ มีประชาชนยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ แล้ว ในพื้นที่ 50 จังหวัด รวม 67,296 ครัวเรือน จากพื้นที่อุทกภัยในฤดูฝนปี 2567 ทั้งหมด 57 จังหวัด

ส่วน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มีการส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือให้ธนาคารออมสินและได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัยแล้ว ในพื้นที่เชียงรายและเชียงใหม่จำนวน 6,363 ครัวเรือน เป็นเงิน 31.8 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับโอนเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ที่จะต้องโอนเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครบ 9,000 บาทต่อไป

สำหรับขอบเขตพื้นที่ให้การช่วยเหลือนั้นยังคงเดิม คือ จังหวัดที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ/พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด ครอบคลุมครัวเรือนผู้ประสบภัย จำนวน 338,391 ครัวเรือน ดังนี้

  • ภาคเหนือ จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และอุตรดิตถ์
  • ภาคกลาง จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี นครนายก นครปฐม พระนครศรีอยุธยา พิจิตร สระบุรี อ่างทอง อุทัยธานี สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และสุโขทัย
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 16 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บึงกาฬ อุบลราชธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ และสกลนคร
  • ตะวันออก จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว
  • ภาคตะวันตก จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก ระยอง และราชบุรี
  • ภาคใต้ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ นครศรีธรรมราช พังงา ยะลา ตรัง ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และสตูล

ปภ.จ่ายค่าล้างโคลน 1 หมื่นบาท เฉพาะเคสเจ้าของบ้านล้างเอง-จ้าง

Thai PBS News รายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือ-เยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย (มท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า มท.ได้เสนอขออนุมัติงบค่าล้างโคลนในพื้นที่ประสบอุทกภัย หลังคาเรือนละ 10,000 บาท เพื่อให้ ครม.รับทราบ ซึ่ง ครม.ไม่ต้องอนุมัติ เพราะเป็นเรื่องที่กรมป้องกันบรรเทาและสาธารณภัย (ปภ.) ขอความเห็นชอบต่อกรมบัญชีกลาง และผ่านความเห็นชอบแล้ว

นอกจานี้ อนุทิน ยังกล่าวอีกว่า ค่าล้างโคลน 10,000 บาท จะจ่ายให้บ้านที่รัฐบาลไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ หรืออาสาสมัครเข้าไปช่วยล้างโคลนแล้วจะไม่ได้รับเงินดังกล่าว จึงต้องมีการสำรวจครัวเรือนที่เจ้าของบ้านต้องล้างเอง หรือจ้างคนมาล้าง โดยการสำรวจจะสำรวจเป็นรายอำเภอ ไม่ได้ทำทั้งจังหวัด และมั่นใจว่าไม่มีบ้านที่ตกหล่นหรือกรณีตกหล่น ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถทวงสิทธิเพื่อให้เร่งดำเนินการได้ และเริ่มจ่ายเร็วที่สุดทันที เพราะใช้งบในส่วนเงินทดรองผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ ปภ. จะเข้าสำรวจและจ่ายเงินค่าล้างโคลนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ส่วนใหญ่อยู่ที่ จ.เชียงราย และเงินจำนวนนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเงินเยียวยา 9,000 บาทต่อครัวเรือน โดยขณะนี้เงินทดรองจ่ายของเชียงรายและเชียงใหม่ ได้ขยายวงเงินจาก 20 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาทแล้ว

น้ำเชียงใหม่ลดแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวัง คาดเศรษฐกิจเสียหาย 2 พันล้าน

Thai PBS News รายงานสถานการณ์หลังระดับน้ำใน จ.เชียงใหม่ ลดลง โดยเมื่อเวลา 22.00 น. ของวานนี้ (7 ต.ค.) ระดับน้ำในแม่น้ำปิงบริเวณจุดวัดน้ำ P1 สะพานนวรัฐ ยังอยู่ในระดับเฝ้าระวัง (สีส้ม) วัดได้ 3.45 ม. และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ชลประทานเชียงใหม่เร่งระบายน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ แต่ด้วยขยะและสลิงประตูระบายน้ำเสียหาย จึงทำให้การเปิดประตูระบายน้ำบางส่วนทำได้เพียงครึ่ง

อย่างไรก็ตาม มีการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ดังนี้

  • อ.เมืองเชียงใหม่ ในพื้นที่ ต.ช้างคลาน ชาวบ้านและผู้ประกอบการเริ่มสำรวจความเสียหายและทำความสะอาดร้านในเบื้องต้นแล้ว
  • อ.สารภี โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.หนองผึ้ง และ ต.สบแม่ข่า ระดับน้ำยังคงท่วมสูง ทำให้การช่วยเหลือในพื้นที่เป็นไปอย่างลำบาก
  • ด้านภาคธุรกิจโรงแรม แม้นักท่องเที่ยวจะไม่ยกเลิกการจองมากนัก แต่พบว่ามีรายได้ลดลง โดย พัลลภ แซ่จิว รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากน้ำท่วมทั้งสองรอบสูงถึง 2,000 ล้านบาท

น้ำเชียงใหม่ถึงลำพูนแล้ว! ปชช. ‘3 โซนใหญ่’ เตรียมย้ายของขึ้นที่สูง

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำใน จ.เชียงใหม่ โดยล่าสุดระดับแม่น้ำปิง เวลา 11.00 น. ณ จุด P1 สะพานนวรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ 3.81 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤต 0.11 เมตร (ระดับวิกฤต 3.70 เมตร) มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ ซึ่งคาดว่ามวลน้ำจะกระจายท่วมพื้นที่ จ.ลำพูน เป็น 3 โซนใหญ่ ดังนี้

โซนที่ 1 รับน้ำจากถนนเลียบรางรถไฟ จากนั้นจะไหลลงคลองสาขาเพื่อลงสู่แม่น้ำกวง ที่เป็นแม่น้ำสายใหญ่ โดยส่งผลกระทบยังพื้นที่ อ.เมือง จ.ลำพูน ต่อไปนี้

  • ต.อุโมงค์ ได้แก่ บ้านกอม่วง, บ้านป่าเห็ว, บ้านป่าเส้า, บ้านไร่, บ้านหนองหมู และบ้านชัยสถาน
  • ต.เหมืองง่า ได้แก่ บ้านต้นผึ้ง, บ้านเหมืองง่า และบ้านศรีบุญยืน

โซนที่ 2 จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำกวงที่เพิ่มสูงขึ้น และอาจจะล้นเข้าท่วมบ้านเรือน โดยระดับน้ำในแม่น้ำกวง ณ จุด P5 ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน เวลา 11.00 น. อยู่ที่ 4.58 เมตร ต่ำกว่าจุดวิกฤต 0.42 เมตร (ระดับวิกฤต 5.00 เมตร) ซึ่งคาดว่าระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบในพื้นที่ ดังนี้

  • บ้านแม่ร่องน้อย, บ้านฮ่องกอม่วง, บ้านปูเลย, บ้านเวียงยอง, บ้านศรีเมืองยู้, บ้างวังไฮ, บ้านสันต้นธง, บ้านหลวย, บ้านสันมะกรูด, บ้านท่าศาลา, บ้านปากล้อง ตลอดจนหมู่บ้านติดน้ำกวง

โซนที่ 3 เป็นพื้นที่รับน้ำจากหนองแฝก และจะไหลลงคลองสาขาเพื่อออกสู่น้ำปิง ต่อไป โดยมีพื้นที่ที่รับผลกระทบ ดังนี้

  • บ้านหัวฝาย บ้านหนองช้างคืน บ้านทรายมูล บ้านป่าขาม บ้านหลุก บ้านน้ำโค้ง บ้านล่ามช้าง บ้านหนองมูล บ้านประตูป่า บ้านท่ากว้าง บ้านร่องเชี่ยว บ้านเจดีย์ขาว บ้านสันริมปิง

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 3 โซน โดยเฉพาะ ต.อุโมงค์ ต.เหมืองง่า ยกของขึ้นที่สูง และย้ายยานพาหนะไปจอดยังพื้นที่สูงชั่วคราว รวมถึงให้ระวังอันตรายจากสัตว์มีพิษที่จะมากับน้ำและอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่วไหลด้วย หากต้องการความช่วยเหลือให้ติดต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ โทร.1784 สายด่วนนิรภัย ปภ. ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เร่งระบายน้ำ ‘จ.ลำพูน’ คาด 1 สัปดาห์ กลับสู่ภาวะปกติ

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำใน จ.ลำพูน หลังปริมาณน้ำจากแม่น้ำปิงได้เอ่อล้นไหลไปตามเส้นทางต้นยาง-เลียบรางรถไฟจาก อ.สารภี จ.เชียงใหม่ เข้าสู่พื้นที่ จ.ลำพูน ส่งผลให้ ต.อุโมงค์ ต.หนองช้างคืน ต.ประตูป่า และ ต.เหมืองง่า อ.เมืองลำพูน มีน้ำท่วมขัง บางจุดสูงมากกว่า 1 เมตร

ขณะเดียวกัน สำนักงานชลประทานที่ 1 โดยโครงการชลประทานลำพูน ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เร่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เข้าไปติดตั้งตามประตูระบายน้ำ (ปตร.) ต่าง ๆ ในตัวเมืองลำพูน อาทิ ปตร.ปิงห่าง, ปตร.ร่องกาศ, ปตร.ปลายเหมือง, ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และ ปตร.ล้องพระปวน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่ ปตร.สบทา เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำปิงให้เร็วที่สุด และลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และลำพูน

นอกจากนี้ ในส่วนของแม่น้ำกวงเขต จ.ลำพูน แม้จะไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำ แต่ก็เป็นพื้นที่ให้น้ำไหลผ่านลงไปสู่น้ำปิง จ.ลำพูน ซึ่งทางจังหวัดลำพูน ยังมีเครื่องสูบน้ำจากทุกหน่วยงานทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ รวมกัน 56 เครื่อง เพื่อรักษาระดับน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนอีกด้วย

ส่วนปริมาณน้ำที่เข้ามาในพื้นที่ จ.ลำพูน ขณะนี้เป็นปริมาณน้ำในระดับสูงสุดแล้ว โดยหลังจากนี้ระดับน้ำจะเริ่มทรงตัว และอีก 1-2 วัน ระดับน้ำจะค่อย ๆ ลดลง โดยระดับน้ำในแม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าภายใน 1 สัปดาห์ สถานการณ์ในภาพรวมจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกหนักและไม่มีน้ำจากพื้นที่ตอนบนไหลลงมาเพิ่ม

‘สุพรรณบุรี’ น้ำล้อม! ‘วราวุธ’ หวั่นท่วม

Thai PBS News รายงานสถานการณ์น้ำใน จ.สุพรรณบุรี โดย วราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สุพรรณบุรีน้ำเริ่มท่วมแล้ว ซึ่งสุพรรณบุรีเคยท่วมหนักที่สุดคือปี 2554 และหลังจากนั้นก็มีท่วมมาอยู่เรื่อย ๆ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือทุกปีระดับน้ำจะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

กรณีที่น้ำเยอะจริง ๆ มวลน้ำจะมารวมกันอยู่ที่ จ.สุพรรณบุรี เนื่องจากเป็นไปได้ว่าจะมีน้ำไหลในทุกทิศทาง ทั้งเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ฝนตกลงมา น้ำเหนือที่ลงมาสู่ภาคกลาง น้ำในแม่น้ำท่าจีน น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงกรณีที่น้ำทะเลหนุน ซึ่งทั้งหมดนี้อาจส่งผลให้น้ำขึ้นสูงและระบายไม่ทัน

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายอาจจะไม่ได้เป็นแบบปัจจุบันทันด่วนเหมือนทางภาคเหนือ แต่น้ำที่สุพรรณบุรีจะเป็นลักษณะน้ำปล่อยเข้าทุ่ง แล้วเอ่อขึ้นเรื่อย ๆ และอยู่เป็นเดือน ๆ ประมาณ 2 เดือน และมีบ้างบางครั้งที่มวลน้ำจะอยู่นานถึง 3 เดือน

ดังนั้น การเร่งระบายน้ำลงไปในอ่าวไทย จึงเป็นปัจจัยที่จะทำให้น้ำลงเร็ว เพราะน้ำข้างบนก็จะลงมาเรื่อย ๆ ทำให้เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 67 ที่ผ่านมา วราวุธ ต้องลงพื้นที่เพื่อดูว่าสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำอยู่ในเซฟโซนระดับไหนและยังห่างจากขอบสันเขื่อนอีกเท่าไหร่

พาณิชย์ เตือน! ห้าม ‘โรงสี-ท่าข้าว’ กดราคารับซื้อ ในพื้นที่รับน้ำ

อุดม ศรีสมทรง รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เตือนให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกปฏิบัติตามกฎหมาย โดย Thai PBS News รายงานว่า กรมการค้าภายใน ร่วมกับพาณิชย์จังหวัด และนายตรวจชั่งตวงวัด ตรวจสอบผู้ประกอบการโรงสีและท่าข้าวในพื้นที่เพาะปลูก เพื่อป้องไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสกดราคารับซื้อข้าว ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นทางน้ำผ่าน และภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี

โดยให้มีการแสดงราคารับซื้ออย่างเปิดเผยและชัดเจน ไม่คิดค่าชั่งน้ำหนักข้าวเปลือกที่รับซื้อ รวมทั้งใช้เครื่องชั่งและเครื่องวัดความชื้นที่ผ่านคำรับรองถูกต้องตามกฎหมาย

จากการตรวจสอบการรับซื้อข้าวเปลือกจากผู้ประกอบการรับซื้อ พบว่า ข้าวเปลือกในบางพื้นที่มีความชื้นสูง ราคาจึงปรับลดตามคุณภาพความชื้น เนื่องจากเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนกำหนด ประกอบกับมีผลตกชุกในพื้นที่ โดยมีการรับซื้อข้าวเปลือก ดังนี้  

  • ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% จะมีราคา 9,300-9,800 บาท/ตัน
  • ข้าวเกี่ยวสด ความชื้น 25% ราคา 8,300–8,800 บาท/ตัน

หากไม่กระทำตามกฎหมายผู้ประกอบการจะต้องโทษ ดังนี้

  • กรณีไม่แสดงราคารับซื้อตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขการรับซื้อ หรือมีการคิดค่าชั่งน้ำหนักข้าวเปลือกที่รับซื้อ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542
  • กรณีรับซื้อข้าวโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ตามพ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ.2489
  • กรณีใช้เครื่องชั่งตวงวัด ที่ไม่มีเครื่องหมายรับรองหรือคำรับรองสิ้นอายุในการซื้อขายสินค้า ต้องระวางโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • กรณีโกงเครื่องชั่งหรือใช้เครื่องชั่งตวงวัดที่มีการดัดแปลงแก้ไข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 280,000 บาท ตามพ.ร.บ.มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active