คาดการณ์ช่วงหนาวที่สุดคือเดือนธันวาคม 2567 ถึงมกราคม 2568 อุณหภูมิต่ำสุด 6-8 องศาเซลเซียส ขณะที่กรุงเทพมหานคร อุณหภูมิต่ำที่สุด 16 – 18 องศาเซลเซียส
กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเริ่มต้นฤดูหนาว ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะช้ากว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2 สัปดาห์และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยปีนี้จะมีอากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 21.6 องศาเซลเซียส) และคาดว่าฤดูหนาวปีนี้อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย จะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1 องศาเซลเซียส ในบริเวณประเทศไทยตอนบน (ค่ำปกติ 19.9 องศาเซลเซียส ) ช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568 อุณหภูมิต่ำที่สุดประมาณ 6 – 8 องศาเซลเซียส ส่วนมากจะอยู่บริเวณตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะยอดดอยและยอดภูรวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง
โดยฤดูหนาวปีนี้อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย บริเวณประเทศไทยตอนบนมีค่าประมาณ 20 – 21 องศาเซลเซียส สำหรับกรุงเทพมหานคร คาดว่า อุณหภูมิต่ำที่สุดของจะอยู่ในช่วง 16 – 18 องศาเซลเซียส และเขตปริมณฑลประมาณ 14 -16 องศาเซลเซียส
จังหวัดที่มีโอกาสหนาวจัด ประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, พะเยา, น่าน, เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, สกลนคร, นครพนม
สำหรับ เดือนพฤศจิกายน ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนน้อยลงมากและอากาศเย็นตลอดเดือน จากอิทธิพลของบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน โดยมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิลดลงจนมีอากาศหนาวได้ในบางพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคใต้จะยังคงมีฝนตกชุก โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาค จากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคใต้และอ่าวไทยในเดือนนี้ปริมาณฝนรวมบริเวณภาคเหนือจะใกล้เคียงค่าปกติ ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณฝนรวมสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 สำหรับภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 20
ส่วนภาคใต้จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางช่วงส่วนมากตอนบนของภาค โดยจะยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไป
เดือนธันวาคม บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตลอดเดือน และมีกำลังแรงเป็นระยะ ๆ ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีอากาศหนาวเย็นทั่วไปโดยเฉพาะทางตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งบริเวณเทือกเขาและยอดดอยจะมีอากาศหนาวจัดได้ สำหรับภาคใต้ยังคงมีฝนตกชุกส่วนมากในช่วงครึ่งแรกของเดือนโดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของภาคเนื่องจากมีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย
โดยมีปริมาณฝนรวมตามภาคต่าง ๆ ดังนี้
ภาคเหนือประมาณ 20 – 40 มิลลิเมตร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 15 – 30 มิลลิเมตร, ภาคกลางประมาณ 20 – 40 มิลลิเมตร, ภาคตะวันออกประมาณ 50 – 80 มิลลิเมตร, กรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 40 – 60 มิลลิเมตร, ภาคใต้ ฝั่งตะวันออกประมาณ 370 – 420 มิลลิเมตร, ภาคใต้ฝั่งตะวันตกประมาณ 210 – 260 มิลลิเมตร
สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยตอนบนจะมีค่าสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.0 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณภาคใต้จะมีอุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส โดยประเทศไทยจะมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยทั้งประเทศประมาณ 22 – 24 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตามในเดือนนี้อาจมีพายุหมุนเขตร้อนเข้ามาใกล้หรือเข้าสู่ประเทศไทยได้ในบริเวณภาคใต้ตอนล่างในเดือนนี้ปริมาณฝนรวมบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะต่ำกว่าค่าปกติประมาณ ร้อยละ 50 ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติสำหรับภาคใต้ทั้งสองฝั่งจะมีปริมาณฝนรวมสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 โดยมีปริมาณฝนรวมตามภาคต่างๆดังนี้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางจะมีปริมาณฝนน้อยกว่า 10 มิลลิเมตรกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ 10 – 20 มิลลิเมตร ภาคตะวันออกประมาณ 5 – 15 มิลลิเมตร ภาคใต้ฝั่งตะวันออกประมาณ 300 – 350 มิลลิเมตร ภาคใต้ฝั่งตะวันตกประมาณ 90 – 120 มิลลิเมตร
ขณะที่อุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งประเทศจะมีค่าสูงกว่าค่าปกติประมาณ 1.0 องศาเซลเซียสโดยจะมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 21 – 23 องศาเซลเซียส ในขณะที่ภาคใต้จะมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 23 – 25 องศาเซลเซียส
เดือนมกราคม มีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป โดยเฉพาะในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบริเวณยอดเขาสูง กับมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกจะมีอากาศเย็น
สำหรับภาคใต้อากาศไม่หนาวเย็นมากนักในเดือนนี้ปริมาณฝนรวมประเทศไทยส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติยกเว้นภาคใต้จะมีปริมาณฝนรวมสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 30 โดยมีปริมาณฝนรวมตามภาคต่างๆ ดังนี้ ภาคเหนือประมาณ 5 – 10 มิลลิเมตร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร ภาคตะวันออกกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประมาณ15 – 30 มิลลิเมตร ภาคใต้ฝั่งตะวันออกประมาณ 130 – 170 มิลลิเมตร ภาคใต้ฝั่งตะวันตกประมาณ 50 – 80 มิลลิเมตร สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศไทยทั้งประเทศจะมีค่าสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีค่าเทากับ 19 – 21 องศาเซลเซียส ในขณะที่ภาคใต้จะมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22 – 24 องศาเซลเซียส
ข้อควรระวัง
- เดือนธันวาคมและมกราคม บริเวณยอดดอยและยอดภูมักจะเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ กับจะมีหมอกหนาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยานพาหนะไว้ด้วย
- เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อาจมีคลื่นกระแสลมตะวันตก เคลื่อนตัวจากประเทศเมียนมาผ่านประเทศไทยตอนบนซึ่งจะทำให้ช่วงดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรงและอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่
- เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม มักมีหย่อมความกดอากาศต่ำ และมีโอกาสสูงที่จะพัฒนาตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อนแล้วเคลื่อนตัวเข้ามาใกล้หรือเคลื่อนผ่านอ่าวไทยและภาคใต้ ซึ่งจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกหนาแน่น รวมทั้งคลื่นลมจะมีกำลังแรง และอาจมีคลื่นพายุซัดฝั่ง ความสูงของคลื่นประมาณ 3– 5 เมตร
- เกณฑ์อุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาว
อากาศเย็น หมายถึง อุณหภูมิ 16.0 – 22.9 องศาเซลเซียส
อากาศหนาว หมายถึง อุณหภูมิ 8.0 – 15.9 องศาเซลเซียส
อากาศหนาวจัด อุณหภูมิ ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส