ไขคำตอบเตือนภัย ‘แผ่นดินไหว’ เขย่าขนาดไหน ? ถึงเสี่ยง

จากเหตุเมื่อ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา แผ่นดินไหว เป็นอีกภัยพิบัติที่คนไทยให้ความสนใจ จับตา ตื่นตัวไม่น้อย ท่ามกลางช่วงเวลาที่หลายพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ เกิดเหตุแผ่นดินไหวถี่ ๆ เกิดบ่อย กรมอุตุฯ ยืนยัน ระบบเครือข่ายติดตามการสั่นสะเทือนได้มาตรฐานสากล แนะประชาชนรับรู้ข้อมูลความเสี่ยง ช่วยลดความตื่นตระหนก

นัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยกับ The Active ว่า เหตุแผ่นดินไหวขนาด 8.2 แมกนิจูด (Magnitude) จากรอยเลื่อนสะกาย ในเมียนมา ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองมัณฑะเลย์ มีความลึกลงไปใต้ดินประมาณ 10 กิโลเมตร จนแรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้หลายพื้นที่ในไทย โดยเฉพาะภาคเหนือ และ พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งปรากฎความเสียหายตามที่ประชาชนได้รับรู้ไปแล้วนั้น ต้องถือว่าเหตุการณ์ครั้งดังกล่าว ถือเป็นการเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรง ในรอบ 100 กว่าปี  

ทั้งนี้ศักยภาพความรุนแรงของรอยเลื่อนสะกาย ที่เกิดขึ้นจากการคาดการณ์ของนักวิชาการ ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายที่คาดการณ์ไว้ก่อนเกิด ซึ่งขนาด 8 ขนาด 9 ก็เกิดได้ ความยาวรอยเลื่อนก็มีผลทำให้เกิดความรุนแรงได้ เมื่อเทียบกับรอยเลื่อนในไทยอาจไม่ได้ยาวขนาดนั้น ซึ่งในไทยก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่เกินขนาด 7 จากเทคโนโนยีที่ตรวจวัดได้ เช่น ที่เคยเกิดเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ขนาด 6.3 ที่รับรู้แรงสั่นไหวได้ ขณะที่ กทม. ก็รับรู้ด้วย

แผ่นดินไหว เขย่า กทม.รับรู้แรงสั่นไหว

สำหรับพื้นดินในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นชั่นดินอ่อน มีคุณลักษณะขยายแรงสั่นสะเทือน ได้เพิ่มขึ้นถึง 3-4 เท่า กทม.มีความถี่ของการเกิดแต่ละรอบจากแรงสันสะเทือน ห่างกัน 10-20 ปีเขย่าครั้ง จะเห็นว่าจากข้อมูลที่พบคือ ในวันที่ 22 เม.ย. 2526 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.9 พื้นที่ กทม.รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ ผ่านมา 21 ปี วันที่ 26 ธ.ค. 2547 เกิดแผ่นดินไหวตอนเหนือเกาะสุมาตรา ขนาด 9.2 พื้นที่ กทม.รับรู้แรงสั่นได้ ถัดมาอีก 9 ปี วันที่ 5 พ.ค. 2557 เกิดแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงราย ขนาด 6.3 อาคารสูงหลายแห่งใน กทม.ก็รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ จนเหตุการณ์ล่าสุด ซึ่งก็ผ่านมาอีก 10 ปี วันที่ 28 มี.ค. 2568 แผ่นดินไหวในเมียนมา ขนาด 8.2 พื้นที่ กทม.รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้เช่นกัน

ทำความเข้าใจ ‘แผ่นดินไหว’ ขนาดไหน ? คนรู้สึก อาคารเสียหาย

โฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ยังให้ข้อมูลถึงขนาดของแผ่นดินไหว และผลกระทบด้วยว่า

  • ขนาดน้อยกว่า 3.0 ประชาชนไม่รู้สึกตรวจวัดได้เฉพาะเครื่องมือ อัตราเร่งพื้นดิน น้อยกว่า 0.1-0.19 (%g)

  • ขนาด 3.0 – 3.9 คนอยู่ในบ้านเท่านั้นที่รู้สึก อัตราเร่งพื้นดิน 0.2-0.49 (%g)

  • ขนาด 4.0 – 4.9 ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกได้ อัตราเร่งพื้นดิน 0.5-0.1.9 (%g)

  • ขนาด 5.0 – 5.9 ประชาชนทุกคนรู้สึกและอาคารเสียหาย อัตราเร่งพื้นดิน 2.0 – 9.9 (%g)

  • ขนาด 6.0 – 6.9 ประชาชนตื่นตกใจและอาคารเสียหายปานกลาง อัตราเร่งพื้นดิน 10.0-19.9 (%g)

  • ขนาด 7.0 – 7.9 อาคารเสียหายอย่างมาก อัตราเร่งพื้นดิน 20.0-99.9 (%g)

  • ขนาด มากกว่า 8.0 อาคารเสียหายเกือบทั้งหมด อัตราเร่งพื้นดิน มากกว่า 100.0 (%g)

ส่วนระดับแรงสั่นสะเทือน พบว่าส่งผลต่อโครงสร้างเช่นกัน หากสั่นเล็กน้อย ผนังมีรอยร้าว เล็กน้อยจนแทบไม่มี สั่นปานกลาง ผนังมีรอยร้าวตามมุมประตู-หน้าต่าง สั่นรุนแรง ผนังแตกร้าว-รอยร้าว แต่ไม่มีการยุบตัว

คลื่นแผ่นดินไหวกับผลกระทบต่อตึกสูง

สำหรับแผ่นดินไหวคลื่นสั้น อาคารสูงจะไหวเบาตามโครงสร้างอาคาร สำหรับอาคารเตี้ยจะไหวแรง ส่วนแผ่นดินไหวคลื่นยาว อาคารสูงจะเกิดการสั่นพ้องทำให้โยกกว้างและนาน อาคารเตี้ยจะไหวเบา

จับตาแผ่นดินไหวในไทยตลอด 24 ชั่วโมง

โฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นหน่วยงานที่มีระบบเครื่อข่ายตรวจความสั่นสะเทือนในระดับชาติและเป็นมาตรฐานสากล ทำหน้าที่ในการตรวจและวิเคราะห์แผ่นดินไหวทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวแบบอัตโนมัติ สถานีตรวจวัดอัตราเร่งของพื้นดิน สถานีวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก และสถานีวัดระดับน้ำทะเล ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศไทย เพื่อตรวจวัด เฝ้าระวัง และให้บริการข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องภัยแผ่นดินไหวในประเทศอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง รวมถึงการแจ้งเตือนภัยให้กับพื้นที่เสียงภัยกรณีเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล

“การเตือนภัยแผ่นดินไหวจำเป็นต้องเตรียมพร้อมก่อนล่วงหน้าเหตุการณ์ ขณะเกิดเหตุการณ์ และหลังเหตุการณ์ เพราะข้อมูลสำคัญ เหล่านี้จำเป็นต้องมีการวางแผน ทั้งทางด้านนโยบาย ด้านปฏิบัติการ ด้านวิชาการ วิเคราะห์วิจัย และด้านมวลชน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการปฏิบัติตน”

นัฐวุฒิ แดนดี

นัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ฝ่ายวิชาการ และโฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา

ส่องระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว

สำหรับระบบการแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวนั้น ขณะเกิดเหตุเมื่อคลื่นแผ่นดินไหวมาถึง จะมีการวิเคราะห์หาศูนย์กลาง ส่งข้อความประชาชนพื้นที่เสี่ยง CBC (Cell broadcast ) อีกด้าน รายงานผ่าน SMS, LINE, X, Facebook Application เว็บไซต์ โทรสาร ส่งตรงถึงหน่วยงาน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สื่อมวลชน กฟผ และกรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ภาคเอกชน และการท่องเที่ยว สนามบิน และสายการบิน มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่งพายามยาก และอื่น ๆ

ขณะที่การเตือนภัยถือว่าสำคัญมาก ในอนาคตหลายหน่วยงานก็มีแนวทาง พัฒนาการเตือนภัยและประเด็นที่น่าสนใจคือ อาจต้องมาย้อนดูความปลอดภัยกับค่ามาตรฐานในการก่อสร้างรับแรงแผ่นดินไหว ว่าตึกสูงอาจต้องมีการศึกษาวิจัยปรับการออกแบบให้แข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม

มาตรฐานการตรวจวัดของไทย

สำหรับเครื่องมือการตรวจวัดแผ่นดินไหวของไทยนั้น โฆษกกรมอุตุนิยมวิทยา ย้ำว่า มีมาตรฐานเดียวกันกับมาตรฐานโลกที่ใช้งาน ทั้งอเมริกา ทั้งยุโรป รวมถึงการแชร์ข้อมูลก็เป็นเป็นมาตตฐานเดียวกัน เมื่อก่อนเราอาจมีเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวเครือข่ายที่น้อย เพราะติดเรื่องมีงบประมาณค่อนข้างจำกัด แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ สึนามิเมื่อ ปี 2547 กับแผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 รัฐบาลค่อนข้างใส่ใจ และมีงบประมาณเพิ่มขึ้น

จากข้อมูลแบบอนาล็อก (analog) ไปเป็นแบบดิจิทัล (digital) มากขึ้น ทั้งเครื่อข่ายสถานีตรวจวัด อุปกรณ์ตรวจวัด และการหาศูนย์กลางแผ่นดินไหว และการตรวจวัดการเตรียมความพร้อมทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว เพื่อที่จะเอาไปออกแบบกฎหมายควบคุมอาคาร ทนแรงแผ่นดินไหวในพื้นที่ได้ รวมถึงเครื่องมือ พยากรณ์ล่วงหน้า มีงานวิจัยที่รองรับ มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดหลายส่วนเพื่อให้ที่ดีเพื่อให้เหมือนต่างประเทศ


“ถ้าเกิดแผ่นดินไหวในประเทศเรา หาข้อมูลเร็วเพราะเรามีสถานีตรวจวัด แต่เหตุการณ์ เมื่อวันที่ 28 มี.ค.นั้น ครั้งนี้เกิดแผ่นดินไหวนอกประเทศเราไม่มีสถานีตรวจวัดของเราเอง เราต้องรอข้อมูลจากประเทศที่มีสถานีใกล้เคียงเช่น อเมริกา จีน  รอให้เขาแชร์ข้อมูลกลับเข้ามา แล้วคลื่นแผ่นดินไหวก็มีระยะเวลาในการเดินทาง ถ้าเกิดที่ไกลกว่าข้อมูลจะวิ่งมาหาเราก็มีระยะเวลาส่วนหนึ่ง อาจทำให้ข้อมูลดีเลย์เข้ามาด้วย แต่ไทยก็มี ระบบ SOP หรือ Standard Operating Procedure คือ ระบบหรือคู่มือที่อธิบายขั้นตอนการทำงานที่เป็นมาตรฐานขององค์กร เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีประสิทธิภาพ และลดความผิดพลาด ไทยจะสามารถประกาศได้ภายใน 10-15 นาที”

นัฐวุฒิ แดนดี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active