‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ รับปาก ชงข้อเสนอ ‘จัดการภัยพิบัติภาคประชาชน’ เข้าหารือ ครม.

ชาวบ้านห้วยหินลาดใน จ.เชียงราย ขอเร่งอนุมัติไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน เสียโอกาสเข้าถึงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ขณะที่ ‘สมัชชาคนอยู่กับป่า’ วอนรัฐบาล ยกเลิกกฎหมายลำดับรอง ป่าอนุรักษ์ หวั่นกระทบที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ลิดรอนสิทธิ์ความมั่นคงชุมชนดั้งเดิม

เมื่อวันที่ (29 พ.ย. 67) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน ลงพื้นที่ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย หนึ่งในพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้โรงเรียนพังเสียหายเกือบ 100% บ้านเรือนประชาชนบริเวณริมห้วยเสียหาย 6 หลังคาเรือน

โดยการลงพื้นที่ของ รองนายกฯ ครั้งนี้จึงเป็นตัวแทนรัฐบาล เพื่อติดตามการเดินหน้าการฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติในระยะเร่งด่วน ซ่อม และสร้างบ้าน เพื่อคืนที่อยู่อาศัยให้ประชาชนตามโครงการ “บ้านมั่นคงภัยพิบัติ” โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.

รองนายกฯ ยังได้มอบอุปกรณ์ด้านพลังงานให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น โคมไฟถนน Street Light Solar Cell พร้อมติดตั้ง 17 ชุด และหลังการลงพื้นที่ครั้งก่อนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่า โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง จึงได้สั่งการให้ กฟผ. ดำเนินการสำรวจและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ซึ่ง กฟผ. ได้ตรวจสอบโครงสร้างหลังคาอาคารของโรงเรียน และดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 10 กิโลวัตต์ ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้งานภายในโรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน  

ชาวบ้านห้วยหินลาดใน ขออนุมัติไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน หลังเสียโอกาสเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค

ปรีชา ศิริ ผู้อาวุโสบ้านห้วยหินลาดใน เห็นว่า เป็นเรื่องดีที่นำโซลาร์เซลล์มาให้เพื่อเข้าถึงไฟฟ้าเบื้องต้น แต่หากให้พูดตรง ๆ ก็ยังไม่ตอบโจทย์ เพราะอย่างวันนี้ไม่มีแดด ก็อาจจะไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง อีกอย่างยังไม่ทั่วถึงในแต่ละครัวเรือน เพราะมีความจำเป็น อย่างการสื่อสารรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จะเป็นการแจ้งสถานการณ์น้ำ หรือเตือนภัย ก็ต้องใช้อินเตอร์เนต หรือไวไฟ เพื่อให้สามารถติดต่อภายนอก ติดตามสถานการณ์ให้ทันท่วงที แต่เมื่อยังไม่มี ก็กลายเสียโอกาสต่อไป ก็อยากให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน รัฐบาลเดินหน้าให้ชาวบ้านเข้าถึงไฟฟ้าได้จริงสักที

ส่วนที่ รองนายกฯ พีระพันธุ์ ย้ำถึงข้อจำกัด เนื่องจากชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนฯ อยู่ในการดูแลของหลายส่วนราชการ กว่าจะทำได้ต้องขออนุญาตหลายขั้นตอนนั้น ปรีชา เห็นว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นเมื่อชาวบ้านไม่มีไฟฟ้า ก็ให้เอาระบบโซลาร์เซลล์เข้ามาก่อน ทั้งนี้ตนได้บอกกับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้ลองหาทางดูว่าจะทำยังไงให้มาติดตั้งไฟฟ้าให้ชาวบ้านที่นี่ได้

ปรีชา ศิริ ผู้อาวุโสบ้านห้วยหินลาดใน พบกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงพลังงาน

“เรื่องปัญหาพื้นที่ชุมชนในเขตป่า ทาง ครม.ก็มีการพูดคุยกันอยู่ เริ่มทดลองอนุมัติบางส่วนเสนอเข้า ครม.ไปแล้ว และในพื้นที่บางส่วนจะเสนอเพิ่ม อย่างเรื่องปัญหาที่หินลาดใน ตนก็ได้พูดในที่ประชุม ครม.และมีอีกหลายพื้นที่ปัญหาในลักษณะเดียวกันที่ควรอนุญาตเพิ่มเติม ทางนายกฯ ก็รับทราบและสั่งการให้เอาความคิดเห็นที่ผมเสนอแนะไปประกอบการพิจารณาเพื่อขยายพื้นที่อนุญาต รวมถึงที่นี่ด้วย”

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค

ฝากข้อเสนอจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน ส่งถึง ครม.

ขณะที่ ประนอม เชิมชัยภูมิ ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคเหนือ ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน โดย เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ ถึง ครม. ผ่านรองนายกฯ พีระพันธุ์

ประนอม เชิมชัยภูมิ ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคเหนือ ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการภัยพิบัติภาคประชาชน

โดยมีสาระสำคัญ ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติที่มีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อชุมชนในหลายมิติทั้งด้านที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจปากท้อง สุขภาพและสุขภาวะทางกายและใจ และมีแนวโน้มที่สถานการณ์ภัยพิบัติจะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อความเสียหายต่อชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ดังนั้นการออกแบบการจัดการภัยพิบัติจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วม ทางเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือจึงมีข้อเสนอต่อการจัดการเชิงนโยบาย ต่อการจัดการภัยพิบัติ ดังนี้

  1. กระจายอำนาจการจัดการภัยพิบัติสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยการแต่งตั้งกลไกคณะทำงานการจัดการภัยพิบัติในระดับ ชาติ ระดับจังหวัด และระดับชุมชนท้องถิ่น

  2. ทบทวนข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการภัยพิบัติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ชุมชน

  3. สนับสนุนให้เกิดกองทุนจัดการภัยพิบัติ ในระดับชุมชนท้องถิ่น ที่ช่วยเหลือการจัดการภัยพิบัติในทุกมิติ ภายใต้แผนการจัดการภัยพิบัติในระดับพื้นที่

  4. จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลข่าวสาร (Data center) ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมให้มีการจัดการความรู้และถอดบทเรียนการทำงานร่วมกัน

  5. สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (SAND BOX) ที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ในเชิงภูมินิเวศน์ที่รองรับการจัดการภัยพิบัติทั้งระบบ

ด้าน รองนายกฯ พีระพันธุ์ รับปากจะนำข้อเสนอนี้ เสนอต่อ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) โดยจะหารือกันใน ครม. ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดเหตุ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตนโดยตรง แต่ในฐานะรัฐบาลและเป็นฝ่ายนโยบายอยู่แล้ว ยืนยันว่าตนสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ต้องเอาข้อมูลกลับไปรวมที่คณะรัฐมนตรี ว่าแต่ละพื้นที่มีข้อเสนออะไรบ้าง เพื่อเอาไปประชุมหารือกันอีกอีกที

‘สมัชชาคนอยู่กับป่า’ เสนอรัฐบาล ยกเลิกกฎหมายลำดับรอง ป่าอนุรักษ์

ชัยธวัช จอมติ กรรมการหมู่บ้านห้วยหินลาดใน และในฐานะสมัชชาคนอยู่กับป่า ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล โดยขอให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

ชัยธวัช จอมติ สมัชชาคนอยู่กับป่า ยื่นหนังสือถึงรัฐบาล

ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวม 2 ฉบับ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งในที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบพระราชกฤษฎีกา ทั้ง 2 ฉบับแล้ว และได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา แต่กลับไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ริดรอนสิทธิความมั่นคงชุมชนดั้งเดิม

“ความขัดแย้งรัฐประชาชนจะไม่จบลง เพราะนโยบายและกฎหมายไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม อย่าง พ.ร.ฎ. ฉบับล่าสุด ที่นำร่างเข้าไป และกำลังพิจาณาอยู่ จำเป็นต้องยกเลิก ชะลอ และเปิดช่องให้กับทางภาคประชาชน ภาควิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นความขัดแย้งรัฐประชาชนเขตป่าก็จะยืดเยื้อ มาตรา 64 ยังพูดถึงการผูกขาดการกระจายอำนาจ การกระจายการมีส่วนร่วมชัดเจน ซึ่งไม่ได้พูดถึงเขตป่าอนุรักษ์เท่านั้น จึงเป็นการริดรอนสิทธิความมั่นคงชุมชนดั้งเดิม ซึ่งตอนนี้ก็ยังเข้าถึงสิทธิพื้นฐานต่างๆที่ครอบคลุม”

ชัยธวัช จอมติ

ทั้งนี้รองนายกฯ พีระพันธุ์ รับปากจะนำกลับไปพิจารณา และส่งให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active