หลายฝ่ายเห็นฟ้อง ภูมิคุ้มกัน รับมือ ‘ภัยพิบัติ’ ต้องสร้างส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ไม่ทิ้งใครไว้ลำพัง

ชี้ อย่ารอให้สูญเสีย ค่อยลุกมาจัดการ ต้องลุยเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกลไกหนุนเสริมชุมชน

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 67 ภายในงานรำลึก20 ปี เหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ในเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ “การส่งเสริมประชากรทุกกลุ่มให้มีภูมิคุ้มกันจากภัยพิบัติ” มีตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เข้าร่วมแลกเปลี่ยน

พรรณราย จรุงการ ผอ.โรงเรียนเกาะไม้ไผ่ จ.พังงา, ปุณฑริกา เกื้อสกุล เลขานุการสมาคมคนพิการภูเก็ต ตัวแทนผู้หญิง ผู้พิการ , ตะวัน ทรายอ่อน เยาวชนบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ในฐานะกู้ชีพ กู้ภัย ศูนย์เตรียมความพร้อมบ้านน้ำเค็ม และ สรณัฐ ลือโสภณ ผอ.ส่วนสนับสนุนการมีส่วนร่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต่างเห็นตรงกันว่า การเตรียมความพร้อมเรื่องภัยพิบัติจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ซึ่งในการจัดการภัยพิบัติ ต้องให้ความสำคัญ ตั้งแต่การจัดการความรู้ ให้แก่ครู นักเรียน ขณะที่ ผู้พิการ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องมีการจัดการเฉพาะ ทั้งเรื่องการสื่อสาร แนวทางการปฏิบัติ การเข้าไปช่วยเหลือ ที่จะต้องไม่ทำให้พวกเขาพิการซ้ำซ้อน หรือบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้น

สำหรับกลไกที่เป็นตัวช่วยสำคัญ คือ อาสาสมัคร หรือ ศูนย์จัดการภัยพิบัติในชุมชน เพราะรู้บริบทพื้นที่ และมีข้อมูลในชุมชนมากที่สุด

ตะวัน ทรายอ่อน

“กลุ่มอาสาสมัคร หรือศูนย์จัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เป็นผู้ที่รู้บริบทพื้นที่ดี เป็นคนที่อยู่กับชุมชนมานานแล้ว เขาเป็นคนที่สามารถรู้ได้ว่าชุมชนเขามีคนกี่คน มีเด็กกี่คน ผู้พิการ คนป่วยมีกี่คน เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนจึงสำคัญ แต่สิ่งที่ยังขาด คือการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เสริมเติมแต่งองค์ความรู้ต่างๆให้กับเขา รวมทั้งงบประมาณจัดสรรปันส่วนให้ชุมชนบริหารจัดการตนเอง”

ตะวัน ทรายอ่อน

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ มองว่า สิ่งสำคัญ คือ การที่ต้องปลดล๊อกข้อจำกัด โดยเฉพาะระเบียบกฎหมาย ให้อำนาจสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มีงบประมาณสนับสนุนส่งเสริมชุมชนท้องถิ่น ชุมชน ในการเตรียมความพร้อมจัดการรับมือภัยพิบัติ ปรับโครงสร้างให้ทุกคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม

“รัฐยังดูแลจัดการเมื่อเกิดภัยแล้วเท่านั้น ก่อนเกิดภัยมีแค่นโยบายและหลักการ แต่ความจริงยังไม่เกิด ไม่อยากให้ใครที่ไหนต้องแลกมาด้วยชีวิตพ่อแม่เรา ญาติเรา ลูกเรา แล้วค่อยเริ่ม ผมแลกมาด้วยญาติ 46 คน ที่ตายในสึนามิ จึงได้เริ่มเรื่องรับมือภัยพิบัติ วิ่งไปทั่วประเทศ ไปช่วยงาน ปภ.ทุกที่ที่มีภัยในชุมชนต่างๆ ชัดเจนว่าเราประชุมกันครั้งเดียวไม่พอ ต้องทบทวนแผน ซ้อมทุกที่ซ้อมรับมือต่อเนื่อง”

ไมตรี จงไกรจักร

จากนั้น ไมตรี ได้มอบ “สมุดปกแดง ลายแทงใหม่นโยบายภัยพิบัติ” ที่ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ กว่า 200 คน ร่วมกันจัดทำขึ้น ให้แก่ตัวแทน ปภ. และจะยื่นเสนอต่อรัฐบาลด้วย

ด้าน สรณัฐ ลือโสภณ ผอ.ส่วนสนับสนุนการมีส่วนร่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยอมรับว่า ยังมีข้อจำกัดตามที่กล่าวมา แต่จะรับเอาข้อเสนอเพื่อนำไปเสนอต่อผู้บริหารสำนักงาน ปภ. เพื่อปรับเปลี่ยนให้มีการหนุนเสริมชุมชน และการทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนให้ได้มากที่สุด

ส่วน ผู้แทนจาก UNDP ย้ำว่า เรื่องสำคัญคือการลดอุปสรรคในการร่วมมือกัน คือ “การร่วมมือกันอย่างมีความหมาย” มากกว่าการประชุมร่วมกัน แต่มีการทำงาน การซักซ้อม การจัดทำแผนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active