มองไทยผ่านกระแส “มังงะ” อนาคตที่ฉันมองเห็น จากคำทำนายแผ่นดินไหวญี่ปุน

แผ่นดินไหวญี่ปุ่นกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากหมู่เกาะทางตอนใต้ เผชิญกับแผ่นดินไหว ทะลุ 1 พันครั้ง อีกปัจจัยสำคัญ คือ มังงะ “อนาคตที่ฉันมองเห็น” ที่ถูกตีความถึงภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 กรกฎาคม ทำให้ทางการญี่ปุ่นตั้งโต๊ะแถลงข่าว ลดกระแสความกังวล และจนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเกิดขึ้นแต่อย่างใด

แผ่นดินไหวเกิดช่วงนี้มากแค่ไหนในญี่ปุ่น?

ข้อมูลจากสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ตรวจพบแผ่นดินไหวมากถึง 1 พัน 31 ครั้ง บริเวณหมู่เกาะโทคาระ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของภูมิภาคคิวชู มีทั้งหมด 12 เกาะ ซึ่งในจำนวนนี้ มีประชากรประมาณ 700 คน กระจายอยู่ใน 7 เกาะ

แม้ว่าอาคารบ้านเรือน ไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ แต่ทางการญี่ปุ่น สั่งอพยพประชาชน 89 คน ออกจากพื้นที่ หลังจากแรงสั่นสะเทือนเริ่มกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ก่อนที่จะยกเลิกคำสั่งอพยพ 17.30น.ตามเวลาท้องถิ่น

กระแส มังงะเรื่อง “The Future I Saw” หรือ “อนาคตที่ฉันมองเห็น” คนวิตกกังวล?

อีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้แผ่นดินไหวญี่ปุ่นถูกจับตามองเป็นพิเศษ คือ มังงะเรื่อง “The Future I Saw” หรือ “อนาคตที่ฉันมองเห็น” เขียนโดย “เรียว ทัตสึกิ”ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1999 เตือนถึงภัยพิบัติครั้งใหญ่ เดือนมีนาคม ปี 2011 ตรงกับเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 9.0 และสึนามิในภูมิภาคโทโฮคุ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 พอดี

ส่วนมังงะฉบับล่าสุด ตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2021 ถูกตีความถึงภัยพิบัติใหญ่ วันที่ 5 กรกฎาคมนี้ ระบุว่าจะเกิดรอยแยกใต้พื้นทะเลบริเวณญี่ปุ่นกับฟิลิปปินส์ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สูงกว่าสึนามิปี 2011 สามเท่า พัดถล่มญี่ปุ่นและประเทศใกล้เคียง

ด้านสำนักพิมพ์และผู้เขียน ได้ปฏิเสธข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ แต่กระแสข่าวลือ กลับถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง บนสื่อสังคมออนไลน์จนกระทั่งหัวหน้าฝ่ายสังเกตการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิญี่ปุ่น ต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าว เพื่อหวังกลบกระแสความกังวลของประชาชน ระบุว่า ข่าวลือเรื่องแผ่นดินไหวใหญ่ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ และเป็นเพียงเรื่องโกหก พร้อมทั้งย้ำว่า เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหวได้ เพราะจะต้องรู้เงื่อนไข ทั้งเรื่องเวลา สถานที่และความรุนแรง

ผลกระทบต่อเศษรฐกิจท่องเที่ยว

ผู้บริหารบริษัท EGL Tours ออกมายอมรับว่า ข่าวลือเรื่องการทำนายภัยพิบัติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวฮ่องกงยกเลิกทัวร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นลงครึ่งหนึ่ง ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับตัวเลขนักท่องเที่ยวจากฮ่องกงที่เดินทางเข้าญี่ปุ่น เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งลดลง 11% จากเมื่อปีที่แล้ว

ขณะที่ปีนี้ ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากทำสถิติ อย่างเมื่อเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว ตัวเลขดังกล่าวพุ่งสูงแตะ 3 ล้าน 9 แสนคน แต่ตัวเลขนี้กลับหดตัวลงในเดือนถัดมา ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะพ้นช่วงพีคของฤดูท่องเที่ยวไปแล้ว สาเหตุอีกข้อหนึ่งยังอาจจะรวมถึงการ์ตูนเรื่องนี้ด้วย

ทำไมต้องจับตาร่องลึกนันไก

ญี่ปุ่นให้ความสำคัญและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมาตลอด เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หรือ “อภิมหาแผ่นดินไหว” (Megaquake) และสึนามิที่รุนแรงในอนาคต ร่องลึกนันไกเป็น ร่องน้ำลึกใต้ทะเล ที่มีความยาวประมาณ 700-800 กิโลเมตร ทอดขนานไปกับแนวชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนกลางและตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่อ่าวซูรูงะ (จังหวัดชิซูโอกะ) ไปจนถึงทะเลฮิวงานาดะ (นอกชายฝั่งคิวชู) เป็นบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ (Philippine Sea Plate) กำลังมุดตัวเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเชีย (Eurasian Plate) ซึ่งเป็นแผ่นดินที่หมู่เกาะญี่ปุ่นตั้งอยู่ การมุดตัวนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ความเร็วประมาณ 3-5 เซนติเมตรต่อปี และเป็นลักษณะของ รอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ (Thrust Fault) ซึ่งเป็นรอยเลื่อนอันตรายที่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 8.0 ขึ้นไป และตามมาด้วยคลื่นสึนามิขนาดใหญ่แรงกดทับสะสมจากการมุดตัว อาจนำไปสู่การปล่อยพลังมหาศาล นำไปสู่การเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพื้นที่นี้ เฉลี่ยทุก 100 ถึง 150 ปี

คณะผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประเมินความน่าจะเป็นที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 หรือ 9 ในร่องลึกนันไกภายใน 30 ปีข้างหน้า สูงถึง 82% โดยศูนย์กลางของแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับแนวชายฝั่งอย่างมาก ทำให้สึนามิอาจเข้าถึงชายฝั่งได้ในเวลาอันสั้น บางพื้นที่อาจมีเวลาเตรียมตัวอพยพเพียง 2-3 นาทีเท่านั้น

รายงานล่าสุดในเดือนมีนาคม 2568 ประเมินว่า หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9 ในร่องลึกนันไกอาจมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 298,000 คน เพราะส่วนใหญ่เกิดจากสึนามิและการถล่มของอาคาร และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 73 ล้านล้านบาท อาคารบ้านเรือนอาจถูกทำลายถึง 2.35 ล้านหลังคาเรือน

แผ่นดินไหวญี่ปุ่นมองไทย

ด้านรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติ กล่าวว่า ระยะนี้ข่าวของแผ่นดินไหว และคลื่นสึนามิหลายๆแหล่งออกมามากมาย ให้อ่านผ่านตา และไม่ต้องตระหนกตกใจ ขณะที่ข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาขนาดมากกว่า M4 บริเวณหมู่เกาะอันดามัน และนิโคบาร์โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 50 ครั้ง สูงสุดขนาด 6M.1 ในปี 2563 แผ่นดินไหวคาดการณ์ไม่ได้ แต่ต้องตระหนักกับความรุนแรง และความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

จึงต้องจำ 3 ประโยค “อาคารสั่นไหว ระดับน้ำลดทันใด วิ่งให้ไกลไปที่สูง” อย่าเบื่อที่จะต้องจำเนื่องจากแผ่นดินไหวรุนแรง M9.2 ในปี 2547 ที่จะทำให้เกิดคลื่นสึนามิมีรอบการเกิดมากหว่า 400 ปี สุภาษิตของประเทศญี่ปุ่น “ภัยพิบัติจะมาเมื่อเราลืมมัน”


ในฐานะที่เป็นคนออกสำรวจ และประเมินความรุนแรงคลื่นสึนามิ ในเหตุการณ์ปี 2547 เป็นผู้นำเอาองค์ความรู้มาเผยแพร่ตั้งแต่ปี 2542 รวมทั้งได้มีการเขียนตำรา “วิศวกรรมสึนามิ” และปัจจุบันได้รับมอบหมายจากกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย ให้มาดูแลปรับปรุงระบบเตือนภัยของประเทศ

ขอยืนยันกับพี่น้องคนไทยว่า ปัจจุบันศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีความพร้อมในระดับสากลในการเฝ้าระวัง และเตือนภัยคลื่นสึนามิตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเครื่องมือดังต่อไปนี้

1) ระบบตรวจจับคลื่นโดยทุ่นน้ำลึก และสถานีวัดน้ำ

2) ระบบประเมิน และวิเคราะห์คลื่นโดยฐานข้อมูล

3) ระบบการสื่อสาร โดยเฉพาะ Cell Boardcast


แต่อยากจะเรียนทุกท่านว่า แม้ประเทศไทยจะมีระบบเตือนภัยที่ดี ไม่ได้หมายความว่าการเตือนภัยจะมีประสิทธิผล ดังกรณีเหตุการณ์นอกเหนือความคาดหมายที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2554 เพราะความสำคัญสูงสุดอยู่ที่ชุมชน หากปราศจากความตระหนัก ย่อมเกิดความสูญเสียตามมาได้ กล่าวคือ ชุมชนเข้มแข็งมีความยืดหยุ่นต่อสึนามิ ต้องมีองค์ประกอบตามรูปจิ๊กซอที่แนบมา ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นสึนามิลองศึกษา และทำความเข้าใจ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active