เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยื่น 3 ข้อเสนอ กำหนดเพดานราคาค่าโดยสารที่เป็นธรรม-เปิดสัญญารถไฟฟ้า-ทำระบบขนส่งสาธารณะให้ทุกคนเข้าถึงได้ ด้าน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้ ต้องแก้ทั้งระบบ
วันที่ 5 ส.ค.2565 เครือข่ายคนรุ่นใหม่ “ขนส่งขนสุขสาธารณะ” ได้นำผลสำรวจความเห็นประชาชน ในประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว เสนอต่อผู้ว่าฯ กทม.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อสะท้อนเสียง คนรุ่นใหม่และคนกรุงเทพฯ ต่อกรณีรถไฟฟ้าสีเขียวที่กำลังพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารและเกี่ยวพันถึงการเปิดสัญญาของ กรุงเทพมหานครกับบีทีเอส โดยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เมืองน่าอยู่และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ภาคีเครือข่ายขนส่งขนสุขสาธารณะ ประกอบด้วย สภาเด็กเยาวชนกรุงเทพฯ SYSI เครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ FeelTrip สหภาพคนทํางาน บางกอกนี้ดีจัง Youthwell เครือข่ายสลัมสี่ภาค สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) กลุ่มดินสอสี ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ร่วมมือกันปฏิบัติการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ บริเวณสถานี รถไฟฟ้าสายสีเขียว จำนวน 21 สถานี ตั้งแต่สถานีคูคต จนถึง สถานีเคหะ มีประชาชนเข้าร่วม 3,204 คน 9,574 ความคิดเห็น โดยผลการสำรวจพบว่า
เห็นด้วยหรือไม่ว่ารถไฟฟ้ามีราคาแพง?
96% เห็นด้วยว่า รถไฟฟ้าราคาแพง เมื่อเทียบกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่จะไม่เกิน 10 % ของค่าแรงขั้นต่ำ
รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะหรือไม่?
กว่า 97% เห็นด้วยว่า รถไฟฟ้าควรเป็นบริการสาธารณะ ระบบขนส่งสาธารณะสำหรับทุกคน รัฐควรสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
และ ควรเปิดสัญญา รถไฟฟ้าให้ประชาชนเข้าถึงหรือไม่ ?
มากถึง 99% เห็นด้วยว่า ควรเปิดสัญญารถไฟฟ้า โดยเฉพาะสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง คู่สัญญาคือ บริษัทกรุงเทพธนาคม กับ บีทีเอส
จากผลสำรวจดังกล่าว เครือข่ายคนรุ่นใหม่ “ขนส่งขนสุขสาธารณะ” ได้ยื่น 3 ข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ ชัชชาติ
1.กำหนด เพดานราคาค่ารถไฟฟ้าที่เป็นธรรมที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างทั่วถึง
2.ผลจากสัญญาการจัดจ้าง กับบริษัทเอกชน ส่งผลกระทบต่อราคาค่าโดยสาร ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรพยายามเปิดสัญญาดังกล่าวนี้แก่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลงบประมาณค่าใช้จ่ายและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน
3.ระบบขนส่ง สาธารณะทั้งระบบควรเป็นบริการสาธารณะ ที่รัฐต้องสนับสนุนและดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า จากข้อสรุปของเครือข่ายที่เสนอต่อ กทม. เช่นเรื่องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการสาธารณะไหม สิ่งนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า คำว่าบริการสาธารณะคืออะไร? การพูดพูดถึงการเปิดสัญญา จากการสำรวจพบว่า กว่า 90% เห็นด้วยว่าควรจะเปิด
ซึ่งข้อนี้ ชัชชาติ ชี้แจ้งว่า กทม. ได้ทำไปแล้ว โดยสัญญาดังกล่าวจะมีสามส่วนคือ กทม. กับกรุงเทพธนาคม และบริษัทเอกชน สัญญาจะมีแต่ละคู่ ซึ่งคู่แรก คือ กทม.กับ กรุงเทพธนาคม ได้เปิดแล้ว เพราะอยู่ในอำนาจของ กทม . สามารถทำได้
แต่ส่วนต่อขยายที่สองระหว่าง กรุงเทพธนาคมกับเอกชน ก็เป็นเรื่องของกรุงเทพธนาคมที่จะต้องมาช่วยเปิดเผยออกมาซึ่งเข้าใจว่าในเนื้อสัญญาเขียนว่าห้ามเปิดเผย ต่อสาธารณะชนซึ่งก็ต้องมีกระบวนการทำให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นผิดสัญญาได้ แต่ด้าน กทม. ก็เร่งรัดอยู่
“ส่วนเรื่องบริการสาธารณะก็คงต้องเป็นคำถามว่าบริการสาธารณะคืออะไร ความหมายก็อาจจะเป็นบริการสาธารณะที่ทุกคนใช้ได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งปัจจุบันเองเราก็มองว่ารถไฟฟ้าเป็นขนส่งสาธารณะแต่ผมก็มองว่าบางคนเขาก็ยังเข้าถึงไม่ได้มันก็อาจจะไม่ใช่สาธารณะเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าคนส่วนใหญ่ยังเข้าถึงไม่ได้ ส่วนราคาแพงไหมก็อาจจะเกี่ยวเนื่องกันถ้าแพงมากก็อาจจะไม่เป็นสาธารณะเพราะว่าคนจำนวนมากเข้าถึงไม่ได้”
ส่วนข้อท้าทายในการแก้ปัญหาระบบขนส่งสาธารณะ ใน กทม. ชัชชาติ กล่าวว่า อันดับแรกต้องเป็นการบริการที่เข้าถึงได้ทุกคน แต่ปัจจุบันเข้าถึงได้เพียงแค่เฉพาะบางกลุ่ม เงื่อนไขโดยเฉพาะเรื่องค่าโดยสารเพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้บริการสาธารณะเข้าถึงได้ทุกคนอย่างน้อยเป็นขั้นพื้นฐาน
“ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องขึ้นรถไฟฟ้าได้แต่ทุกคนต้องสามารถเดินทางได้ด้วยราคาที่เหมาะสม บางคนอาจต้องใช้รถเมล์บางคนอาจจะต้องใช้รถสองแถวบ้างเพราะกรุงเทพฯ มันกว้าง ความหมายก็คือว่าทุกคนก็มีเส้นทางในการเดินทาง ได้ในราคาที่เหมาะสม เพราะฉะนั้นอาจไม่จำกัดแค่รถไฟฟ้า”
และระบุว่า ความยากแรกของการแก้ปัญหา ก็คือว่า บางอันมันมีต้นทุนที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น สัญญาที่ไปจ้างเดินรถไว้ สัญญาสัมปทานลักษณะนี้ทำให้ควบคุมราคาไม่ได้ ยกเว้นว่าจะเอาเงินภาษีไปชดเชยให้
สอง คือ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กทม. รถไฟฟ้า ก็ดูแค่สายเดียว รถเมล์มีแค่ BRT มันก็มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะฉะนั้นการออกนโยบายให้สอดคล้องและเป็นภาพเดียวกันมันก็ไม่ได้ง่ายเพราะก็ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันอีกทีนึง
สาม คือ รูปแบบของเมือง กรุงเทพมหานครเป็นเมืองมหานครซอยตัน
“ความหมายก็คือว่า 40% ของซอยคือซอยตันเพราะฉะนั้นการสร้างระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่เหมือนต่างประเทศมันยากสุดท้ายแล้วก็ต้องพึ่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างเพราะมอเตอร์ไซค์รับจ้างคือสิ่งที่ทะลวงซอยตันได้ดีที่สุด ต้องคิดแล้วว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างราคาเป็นอย่างไรตั้งแต่ท้ายซอยถึงปากซอย รถเมล์ต่ออย่างไร รถไฟฟ้าต่ออย่างไร ทางเดินเท้าเป็นอย่างไร มันต้องคิดในภาพรวมทั้งหมด”
ด้าน สุรนาถ แป้นประเสริฐ เครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงกิจกรรมที่จะขับเคลื่อนต่อว่า เครือข่ายคนรุ่นใหม่ ขนส่งขนสุขสาธารณะ จะติดตามการดำเนินการของกรุงเทพมหานครในการพิจารณาข้อเสนอของเรา อย่างใกล้ชิด หลังจากนี้ เครือข่ายฯ จะร่วมกันจัดกิจกรรมสาธารณะเพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และ สร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนระบบขนส่งขนสุขสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
“จะมีกิจกรรมคืนข้อมูลผลสำรวจกับสาธารณะ ตามสถานี รถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก 8 สถานี ในวันที่ 8-9 สิงหาคม 2565 กิจกรรมที่ 2 แรลลี่รถไฟฟ้า พาชาวบ้านชุมชน คนจนเมือง ขึ้น รถไฟฟ้าท่องกรุงเทพฯ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 และกิจกรรมปิดท้าย เทศกาลขนส่งขนสุขสาธารณะ วันที่ 12 สิงหาคม 65 หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร”
ทั้งนี้ ชัชชาติ มองว่า กิจกรรมแรลลี่ที่เครือข่ายจะจัดขึ้น จริง ๆ แล้วเป็นกระบวนการที่คนคิดที่ต้องดูปัญหาและหาคำตอบด้วยกัน โดยเริ่มจากโพล 3 ข้อที่ทำมา และค่อย ๆ พัฒนาดูว่าประชาชนต้องการอะไรจากข้อเสนอ
“รถไฟฟ้าเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งผมว่าคำตอบมันอาจจะต้องรวมถึงรถเมล์ด้วยให้เป็นระบบเดียวกันทางเดินเท้าด้วย เพราะสุดท้ายแล้วกิโลเมตรสุดท้ายที่เข้าบ้านอาจจะต้องใช้เดินเท้าเข้า เพราะว่ามันเป็นเส้นเลือดฝอยที่เข้าได้ทุกพื้นที่เพราะฉะนั้นการดูขนส่งสาธารณะอาจจะไม่ใช่เพียงแค่การดูรถไฟฟ้าแต่ดูทั้งระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เป็นส่วนหนึ่ง รถเมล์ สองแถวที่ต้องเข้าไปในซอย เพราะฉะนั้นอาจจะต้องดูทั้งระบบเลย ดูจากต้นทางถึงปลายทาง แต่ว่าต้องเป็นกระบวนการที่ต้องมีการคุยกันและแลกเปลี่ยนกัน”