วางโรดแม็ป สร้างระบบสาธารณสุขดี สร้างสภาพแวดล้อมดี กลไกการทำงานร่วมภาครัฐ-ประชาชนดี รากฐานดี 9 ด้าน สานต่อนโยบาย ‘ชัชชาติ’
วันนี้ (10 ส.ค. 65) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2565 โดยในที่ประชุมได้รายงานผลการจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 ซึ่งมีฉันทมติร่วมกัน จำนวน 2 มติ ได้แก่ 1. การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน นโยบายสาธารณะนี้มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ และนโยบายนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งสุขภาวะเพื่อทุกคน ด้วยกระบวนการบริหารจัดการในระดับพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม คำนึงถึงบริบทและความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่และของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย
2. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ นโยบายสาธารณะในประเด็นระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร เป็นวาระร่วมที่ต่อเนื่องจากธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร (ฉันทมติประกาศในสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร วันที่ 26 พฤศจิกายน 2563) ที่สะท้อนแนวคิดการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม การกระจายอำนาจ ความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ การลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีโดยมุ่งหวังให้เกิดสุขภาพในทุกมิติ ทั้งกาย จิตปัญญา และสังคมแก่ประชาชนทุกคนในกรุงเทพมหานคร
โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ดังนี้ 1. นำข้อเสนอจากมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 ที่ขอให้คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 13 เป็นกลไกสนับสนุน ติดตาม ประสานงาน และขับเคลื่อนมติ ต่อที่ประชุม กชป.เขตพื้นที่ 13 เพื่อทราบและมอบหมายให้คณะทำงานกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ตามที่ กชป.เขตพื้นที่ 13 แต่งตั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าเพื่อรายงานผลต่อที่ประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครในครั้งต่อไป
2. คณะทำงานกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครร่วมกับกรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรหลักที่สนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบมติ พร้อมทั้งทบทวนเส้นทางเดินของมติ (Road map) เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนและติดตามผลร่วมกัน 3. คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนชน เขตพื้นที่ 13 รายงานผลการขับเคลื่อนมติต่อที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และที่ประชุมสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565
จากนั้น ในที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานและการขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 1. ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร มีการจัดทำธรรมนูญสุขภาพระดับเขต จำนวน 12 เขต ได้แก่ ทวีวัฒนา บางบอน ทุ่งครุ ธนบุรี คลองสาน บางคอแหลม ลาดพร้าว วังทองหลาง บึงกุ่ม ดอนเมือง สายไหม และลาดพร้าว 2.การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของคนกรุงเทพมหานคร ทบทวนประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขาย หรือจำหน่ายสินค้าในพื้นที่สาธารณะ ลงวันที่ 28 มกราคม 2563 และมีมติ ครม. กุมภาพันธ์ 2563 และมีข้อเสนอของ ศบค. ให้เปิดพื้นที่หาบเร่แผงลอย ช่วงโควิด-19 ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 1.การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน We ! park พัฒนา คู่มือ small green public space ร่วมกับ สสส. 2.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ คณะทำงานระบบสุขภาพปฐมภูมิโดย กทม. และแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายผู้ว่าฯ กทม. จำนวน 5 คณะ
สำหรับกระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อกำหนดเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 ได้มีการเปิดรับประเด็นสาธารณะเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีเครือข่ายเสนอทั้งสิ้น 62 เครือข่าย สามารถจำแนกประเด็นร่วมได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ภายใต้ประเด็นหลักสุขภาวะคนเมืองหลังวิกฤตโควิด-19 หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมืองหลังวิกฤตโควิด-19 ได้แก่ Urban Environment พื้นที่เศรษฐกิจ ปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย Urban Health สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า พร้อมทั้งทบทวนการจัดกลุ่มเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายได้ ดังนี้ กลุ่มเครือข่ายพื้นที่ (MA : Member of Area) กำหนดให้ครอบคลุมกลุ่มเครือข่ายพื้นที่ทั้ง 50 เขต ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเขต ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข ประธานชุมชนระดับเขต และ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขระดับเขต กลุ่มภาคประชาสังคม (MS : Member of Sociality) ปรับเปลี่ยนโดยเลือกกลุ่มองค์กรที่ทำงานใน กทม. โดยดูจากประเด็นที่จะนำเข้าเป็นระเบียบวาระในปีนี้เป็นหลัก กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ (MP : Member of Public servant) ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่มีการดำเนินงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กลุ่มภาควิชาการ (MK : Member of Knowledge) ประกอบไปด้วย สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กลุ่มคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน (CO : Committee Organizer) กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ วิทยากร กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (EX : Exclusive) กลุ่มผู้ทำงาน เจ้าหน้าที่ (WK : Worker) และกลุ่มผู้สังเกตการณ์ ผู้ติดตาม (WI : Walk In)
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับ Theme การจัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 สถานที่จัดงานที่มีความพร้อมและสะดวกต่อการเดินทาง รูปแบบจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเป็นรูปแบบ Onsite 500 คน เพื่อพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นต่อระเบียบวาระ และหาฉันทามติ โดยมีห้องประชุมใหญ่ 1 ห้อง รองรับผู้ร่วมประชุมได้ 500 คน และห้องประชุมย่อย 2 ห้อง รองรับผู้ร่วมประชุมได้ 200 คน เพื่อแบ่งหน้าที่ให้อนุกรรมการดำเนินการประชุมในแต่ละห้องประชุมได้เปิดเวทีพิจารณาระเบียบวาระ รวมไปถึงลานจัดนิทรรศการและเสวนาภายนอกห้องประชุม โดยกำหนดจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 ในเดือนพฤศจิกายน 2565
ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน คือโจทย์หลักที่ใช้ในการออกแบบนโยบาย ทีมเพื่อนชัชชาติจึงศึกษาดัชนีชี้วัดเมืองน่าอยู่ (The Global Liveability Index) ของ Economist Intelligence Unit (EIU) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการจัดกลุ่มนโยบายและดัดแปลงให้ครอบคลุมบริบทของเมืองกรุงเทพฯ จึงนำมาสู่ กรุงเทพฯ 9 ดี หรือนโยบาย 9 มิติ ประกอบด้วย ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี บริหารจัดการดี อย่างไรก็ตามนโยบาย 9 ดี ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับกระบวนการสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565 จึงเป็นการทำงานที่สอดคล้องกัน ทุกภาคส่วนสามารถมาร่วมกันทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน