ทีมวอลเลย์บอลชายขอบ ได้รับผลกระทบจากการเบิกจ่ายล่าช้า ครูโค้ชแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเกือบแสนบาทต่อเดือน ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบ กกท. แจงตั้งงบฯเบิกจ่ายแล้วแต่ติดขั้นตอนกระบวนการตามหลักเกณฑ์ใหม่
จากกรณีการเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ใน โครงการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศ 1 จังหวัด 1 ชนิดกีฬา ปี 2565 หลังพบข้อมูลมีนักกีฬาหลายชนิดในจังหวัดมหาสารคามยังไม่ได้รับงบฯ สนับสนุน จนส่งผลกระทบต่อการฝึกซ้อมและความเป็นอยู่ของนักกีฬา โค้ชบางคนต้องหันไปกู้เงินนอกระบบเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายล่วงหน้า
The Active พูดคุยกับ บุตรดา สาโสก หรือ ครูแล่ม ผู้ดูแลและฝึกสอนทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนเมืองเตาวิทยา หนึ่งในทีมกีฬาที่ยังไม่ได้รับงบฯ ซึ่งระบุว่า มีนักกีฬาในสังกัดที่มีผลงานเป็นเลิศได้รับทุนจากโครงการฯ นี้ ต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน แต่ละปีได้รับงบสนับสนุนหลักแสนบาท ซึ่งจำนวนเงินจะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับจำนวนนักกีฬา เช่น ปี 2565 มีนักกีฬาที่ได้รับทุนทั้งหมด 4 คน รวมกับค่าครูผู้ฝึกสอน งบก้อนนี้อยู่ที่ประมาณ 150,000 บาท แต่จนถึงขณะนี้เงินยังไม่สามารถเบิกได้
“โทรไปถามสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดและการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัด เขาก็ตอบเพียงแต่ว่าให้รอหน่อย งบยังไม่เข้าและไม่สามารถตอบได้ว่าจะได้เมื่อไหร่ เหมือนกัน”
ครูแล่ม กล่าวอีกว่า หลายปีที่ผ่านมาซึ่งเริ่มทำทีมวอลเลย์บอลหวังจะให้เยาวชน เด็กด้อยโอกาส ได้ใช้ความสามารถด้านกีฬาเป็นใบเบิกทางในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา แม้ว่าการทำทีมมีค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าฝึกซ้อม แต่ละเดือนไม่ต่ำกว่าหลักแสนบาท ยิ่งช่วงที่ข้าวของแพงขึ้นทำให้ภาระตรงนี้ยิ่งหนัก
ขณะที่การสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ ก็มีน้อยมาก ซึ่งมีการสนับสนุนจากโรงเรียนเมืองเตาวิทยาเดือนละ 1 หมื่นบาท และเงินเดือนของครูแล่มประมาณ 9,000 บาท หากจะเลิกทำทีมก็ห่วงว่าเด็ก ๆ จะหลุดออกจากระบบการศึกษา งบประมาณจากกองทุนฯ จึงเป็นความหวังว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่ไปกู้นอกระบบเพื่อมาใช้จ่ายในทีม
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี เอกชัย นุชลยอง หัวหน้างานพัฒนานักกีฬาภูมิภาค การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) อธิบายเพิ่มเติมว่า ปีนี้การเบิกจ่ายล่าช้าจริง แต่ยืนยันว่ามีการตั้งงบเบิกจ่ายสำหรับโครงการไว้แล้ว โดยที่ผ่านมาติดขั้นตอนรายละเอียดของทางเอกสาร แต่การอนุมัติได้มีการทำเรื่องไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
“หลักฐานล่าช้า บันทึกข้อตกลงระหว่างสมาคม กองทุนฯ ในการเซ็นลงนามซึ่งเป็นเรื่องขั้นตอนกระบวนการก็ล่าช้าและเงื่อนไขหลักเกณฑ์เป็นเรื่องใหม่ของการปรับตัวแต่ละสมาคม ยิ่งเป็นสมาคมต่างจังหวัดด้วย แต่ตอนนี้ทำเรื่องส่งเอกสารไปครบแล้ว เราตั้งงบเบิกจ่ายสำหรับปีนี้ไว้แล้ว”
สำหรับโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งจากหลาย ๆ โครงการของการส่งเสริมพัฒนานักกีฬาในประเทศไทย ได้รับงบมาจาก กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ปีนี้ได้รับ 320 ล้านบาท แต่เดิมหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายคือจะโอนเงินไปที่กกท.จังหวัด ซึ่งแต่ละจังหวัดจะได้รับไม่เท่ากัน สูงสุดไม่เกินจังหวัดละ 12 ล้านบาท ต่ำสุด 3 ล้านบาท
ส่วนเกณฑ์พิจารณาว่าจังหวัดไหนควรได้เท่าไหร่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละจังหวัดมีผลงานมากน้อยแค่ไหน ชี้วัดด้วยจำนวนเหรียญและสมรรถภาพของนักกีฬา ปีนี้จะเป็นปีแรกที่หลักเกณฑ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไป อย่างเช่นการเบิกจ่ายจะเป็นการโอนโดยตรงจากกองทุนฯ ไปยังสมาคมจังหวัดแทน ไม่ผ่านกกท.
นอกจากนี้ ทีมข่าวยังสอบถามเพิ่มเติมไปยัง อบจ.มหาสารคาม ประเด็นการสนับสนุนทีมนักกีฬาในพื้นที่ ในฐานะที่เป็นหน่วยงานท้องถิ่นที่มีภารกิจด้านนี้ ได้รับการชี้แจงเป็นเอกสารระบุว่า อบจ.มหาสารคามมีโครงการเพื่อสนับสนุนด้านการกีฬางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 3โครงการได้แก่ โครงการส่งเสริมกีฬาและการจัดการแข่งขันกีฬา 2 ล้านบาท โครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนสู่ความเป็นเลิศด้านการกีฬา จำนวน 2 แสนบาท และโครงการส่งเสริมสนับสนุนความเป็นเลิศทางด้านวิชาการ ศิลปะ ดนตรี กีฬา และนันทนาการ จำนวน 4 แสนบาท รวม 2.6 ล้านบาท ส่วนเกณฑ์การสนับสนุนนักกีฬาดาวเด่นหรือทีมที่เขียนโครงการเข้ามาขอทุนจาก อบจ. มหาสารคาม เป็นไปตามเงื่อนไขระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ดูคลิป ครูแล่ม นักตบหนี้นอกระบบ เมื่อครูยอมเป็นหนี้ เพื่อสานฝันให้เด็กได้ไปต่อ!