เครือข่ายแรงงาน สะท้อน สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศทำให้คนรุ่นใหม่ต้องหาทางออก ด้วยการทำงานหลายทาง กระทบเวลาชีวิต แนะรัฐ สร้างความมั่นคงใน 1 งาน หากหารายได้หลายทางรัฐควรสนับสนุน
วันนี้ (12 ธ.ค. 2566) ตัวแทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ให้ความคิดเห็น เกี่ยวกับกระแส “ หมดยุครายได้ทางเดียว ปัจจุบันควรมี 3 อาชีพ อาชีพหลัก อาชีพรอง อาชีพเสริม” ว่าอาจมีเหตุมาจากปัจจัย ค่าครองชีพ สถานการณ์ของเศรษฐกิจในปัจจุบันและเกี่ยวพันกับเรื่องของการจ้างงาน ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้อิงจากค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนด โดยเมื่อเทียบค่าครองชีพสถานการณ์สภาวะปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่เพียงพอ
ธนพร วิจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กล่าวว่า ในเมื่อการหารายได้เพียงหนึ่งทางไม่เพียงพอ แล้วจำเป็นต้องมีอาชีพรอง อาชีพเสริม ประชาชนต้องดิ้นรนกันเองหรือรัฐควรเข้ามาสนับสนุน ยกตัวอย่าง กรณีคนรุ่นใหม่อยากจะทำสตาร์ตอัปเป็นทางเลือกที่สองที่ต้องมีต้นทุนอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วคนรุ่นใหม่ที่พึ่งเรียนจบ บางคนมีหนี้ กยศ. จะเอาทุนจากส่วนไหนมาทำ ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุน
อีกทั้ง ประเทศไทยตอนนี้ไม่ได้มีการสร้างงานที่มั่นคงให้กับประชาชน ส่วนมากจะเป็นลักษณะลูกจ้างระยะสั้น จึงทำให้คนกลุ่มนี้เลือกที่จะมีทางเลือกที่ สอง และสามในการหารายได้เพิ่ม ซึ่งต้องอิงอยู่กับต้นทุน และความสามารถพิเศษที่จะสร้างเสริมอาชีพได้
“สมมติอาชีพหลักเป็นพยาบาลแล้วอาชีพเสริมจะต้องไปทำอะไร เพียงแค่เวลาทำงานก็แย่อยู่แล้ว เข้ากะเข้าเวร จะเอาเวลาไหนไปทำอาชีพเสริม ขายของออนไลน์เหรอ มันไม่สามารถที่จะสู้แพลตฟอร์มใหญ่ ๆ เขาได้ แต่แน่นอนมองว่าถ้ารัฐส่งเสริมมันจะเป็นไปได้มันจะต้องมีโครงสร้างที่ส่งเสริม ที่จะทำให้เขามีรายได้เพิ่ม”
อย่างไรก็ตาม ควรที่จะเป็นการหารายได้ทางเดียวแล้วเพียงพอต่อค่าครองชีพ ขณะที่ปัจจุบันหลายคนยังไม่มีงานแรกทำ แล้วทางที่สองจะต้องทำอย่างไร ฉะนั้นจึงมองว่าควรมีการจ้างงานที่มันมั่นคงไม่ใช่สัญญาจ้างระยะสั้น ที่ไม่สร้างความมั่นคงและไม่มีสวัสดิการอะไรรองรับแรงงานกลุ่มนี้ หรือแม้จะมีรายได้มาจากสามทาง ก็ยังมองว่าเป็นไปได้ยากในสภาพเศรษฐกิจ และโครงสร้างประเทศ ณ ตอนนี้
“ยืนยันว่าควรจะเป็นอาชีพเดียว แต่ว่าควรจะมั่นคงไม่ควรจะไปสร้างต้นทุนให้กับคนที่จะต้องไปหางานทำสองทางสามทางชีวิตคนเราจะพัฒนาได้อย่างไร ชีวิตคนเราต้องพักผ่อน ต้องหาความสุข แล้วถ้าเกิดทำสามอาชีพ ชีวิตจะมีความสุขและมีคุณภาพอย่างไร”
ธนพร กล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานที่เป็นหน่วยงานดูแลเรื่องค่าจ้างเรื่องการคุ้มครองแรงงาน ควรกำหนดค่าจ้างที่ต้องเพียงพอสำหรับหนึ่งงาน เพราะคนควรจะได้พัฒนาอย่างอื่นด้วย ทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไม่ใช่เพียงแค่การหารายได้มายังชีพ ถ้าเราทำจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่นคนจะพัฒนาได้อย่างไรแล้วประเทศจะไปอย่างไร กระทรวงแรงงานควรจะต้องสร้างงานให้เพียงพอกับคนและให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพราะตอนนี้จะให้ผลิตคนเข้าโรงงานมันยากแล้ว
“ถ้าคุณมีงานทำและมีค่าจ้างที่เพียงพอมันสามารถที่จะเอาเวลาที่ไปหารายได้เสริมทางที่สองทางที่สามไปพัฒนาอย่างอื่นได้อย่างน้อยก็ต้องมองคุณภาพชีวิตของประชาชนไม่ใช่เพียงแค่ต้องก้มหน้าก้มตาทำมาหากิน”