กศน. หนองน้ำใส จ.พระนครศรีอยุธยา เตรียมเปิดตัวเบียร์ชุมชน คาดเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้เกษตรกร ฝาก “พิธา” ดูเรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เอื้อผลิตสุราพื้นบ้าน ไม่จัดเก็บเท่ารายใหญ่ หรือควรปลอดภาษีสำหรับชุมชน
วันนี้ (5 ก.ค. 2566) จิดาภา ศิลป์ปรีดี ประธานพัฒนาสตรีตำบลหนองน้ำใส วิทยากรประจำ ศูนย์ฝึกมีชีวิต สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ตำบลหนองน้ำใส อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่าหลังจากที่เห็นโอกาสการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กศน.ตำบลหนองน้ำใส จึงทดลองผลิตทำเบียร์จากตอซังข้าวเมื่อเดือนที่แล้่ว ซึ่งเดิมก็ไม่คิดว่าจะสามารถนำตอซังข้าวมาผลิตเบียร์ได้โดยก่อนหน้านี้ได้มีการนำตอซังข้าวมาต้ม ผลิตสินค้าหลายอย่าง ทั้งเส้นด้ายทอผ้า หมักทำไข่เค็ม ปรากฎว่ามีกลิ่นหอม ดาธีนี ตามเพิ่ม หรือ ครูเต้ย กศน.ตำบลหนองน้ำใส จึงนำมาหมักทำเบียร์สำเร็จ และจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 15 กรกฎาคม นี้
จิดาภา เล่าย้อนให้ฟังว่าก่อนหน้านี้ กศน.ตำบลหนองน้ำใส ได้มีการผลิต สุราพื้นบ้าน (ไวน์) เคยนำไปวางจำหน่ายในการบูทแสดงสินค้า OTOP แล้วถูกตำรวจจับ เนื่องจากไม่มีตราแสตมป์ของสรรพากรในการเสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงคาดหวังว่า หาก ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าจะถูกผลักดันสำเร็จในรัฐบาลหน้า นอกจากการปลดล็อกให้ รายย่อยสามารถผลิตเบียร์ได้ อย่างถูกต้องแล้ว อยากฝากไปถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ดูเรื่องการเก็บภาษีในลักษณะอัตราก้าวหน้า หรืออาจจะปลอดภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน จะทำให้สามารถปลดล็อคสุราท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง เพราะทุกวันนี้แม้จะมีการแก้กฎกระทรวงให้ชุมชนผลิตสุราได้ แต่ยังติดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะต้องเสียภาษีเท่ากับรายใหญ่ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตสำหรับรายย่อยก็สูง เพื่อให้เบียร์ออกมามีคุณภาพ ต้องลงทุนทั้งห้องควบคุมอุณหภูมิ และหม้อหมักต่าง ๆ จึงขอทำโครงการร่วมกันกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองน้ำใส เพื่อให้สนับสนุนงบประมาณในการทำโรงงานขนาดย่อมเพื่อขยายการผลิตต่อไป
“หากการผลิตเบียร์ของชุมชนไปได้ดี คนในชุมชนก็จะมีงานทำเพราะเราจะจ้างคนมาทำ เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่ม จึงอยากให้รัฐดูแลเรื่องกฎหมายให้เอื้อต่อชุมชนที่จะผลิต และขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหล่านี้ให้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย”
จิดาภา กล่าว
ด้าน สุมณฑา ยอดเณร เกษตรกรตำบลโคกม่วง อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเกษตรกรในโครงการศูนย์เรียนรู้โคกหนองนาพัฒนาชุมชน ซึ่งปลูกข้าวหอมปทุมแบบปลอดสารพิษ เป็นแปลงนาที่ กศน.ตำบลหนองน้ำใส เลือกใช้ตอซังข้าวจากที่นี่นำไปผลิตเบียร์
สุมณฑา บอกว่าทีแรกก็ตกใจที่ทาง กศน.ติดต่อมาเพื่อขอซื้อตอซังข้าวซึ่งโดยปกติไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่แล้ว และเกษตรกรโดยทั่วไปก็มักจะเผา เกิดเป็นปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ภายหลังจากที่ กศน.หนองน้ำใส ทดลองผลิตเบียร์จากตอซังข้าวได้สำเร็จ ก็รู้สึกภูมิใจ และสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มองว่ามีประโยชน์กว่าการปลดล็อคกัญชาเสรี และกระท่อม เพราะเชื่อว่าอย่างน้อยการต้มเบียร์จากตอซังข้าวก็น่าจะมีโทษน้อยกว่าการที่เห็นเยาวชนต้มน้ำกระท่อม 4×100 และสูบกัญชาอยู่ในทุกวันนี้
ขณะเดียวกันก็มีรายได้ 2 เด้งปลูกข้าวขายก็เป็นรายได้ เมื่อเก็บเกี่ยว ตอซังข้าวก็ยังขายได้อีกเป็นต่อที่ 2 โดย กศน.หนองน้ำใส รับซื้อตอซังข้าวกิโลกรัมละ 10 บาท หากเกี่ยวตอหมดทั้งแปลง 1 ไร่ก็จะได้เงินประมาณ 1,000 บาท และ กศน.ก็ให้ค่าแรง แก่เกษตรกรในการเกี่ยวตอซังข้าวมาขายให้ เป็นสินน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆด้วย