ชาวสวนมังคุด นครฯ ทุกข์หนัก! ราคารับซื้อหน้าสวน ต่ำสุดรอบ 10 ปี 

เผย รับซื้อไม่เกิน 15 บาท/กก. สวนทางต้นทุนปลูก 30 บาท/กก. วอนรัฐเร่งช่วยเหลือปรับราคา เทียบเท่าปีที่ผ่านมา 60 – 70 บาท/กก. ขณะที่ หน่วยงานใน จ.นครศรีธรรมราช เร่งประสานเอกชน ช่วยรับซื้อระบายผลผลิต ด้าน ‘รมต.พาณิชย์’ ป้ายแดง เตรียมลงพื้นที่ ติดตามแก้ปัญหา ราคาผลผลิตตกต่ำพรุ่งนี้

เกษตรกร ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่สวนผลไม้สำคัญในจังหวัด อย่าง มังคุด สะท้อนความเดือนร้อนที่เผชิญอยู่ในเวลานี้ เมื่อพบกับปัญหาราคามังคุดตกต่ำ 

ชาวสวนมังคุด ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช
(ภาพ : พวงเพ็ญ จิ๋ววิเศษณา สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน)

พรศรี โชติพันธ์ ชาวสวนมังคุด บ้านเกาะ เปิดเผยว่า ราคาเปิดตลาดตอนนี้อยู่ที่ 10 – 12 บาท เป็นราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี ที่เคยเจอและเคยทำมา จากที่เริ่มทำสวนมังคุดมาตั้งแต่ปี 2552 ไม่เคยเจอราคาที่ลดต่ำเท่านี้มาก่อน 

“ถือว่าราคาตกมากกว่าปกติมาก ปีที่แล้วถ้าเป็นช่วงต้นฤดูกาล จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 – 70 บาท และเป็นแบบนี้มาทุก ๆ ปี ที่เจอเฉลี่ยต่ำสุดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 บาท แต่ปีนี้แค่เริ่มราคาก็ไม่ค่อยดีแล้ว 10 – 12 บาท จ้างเขามาเก็บก็โลละ 7 บาทแล้ว เหลือแค่ 5 บาท ซึ่งไม่พอกับต้นทุน ตกอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อกิโลกรัม มีทั้งค่าบำรุงดูแลค่าปุ๋ย ค่าตัดหญ้า ค่าน้ำ ค่าไฟ คือถ้าราคายังแบบนี้ ชาวสวนขาดทุนหนัก 30 บาทต่อกิโลกรัมเลย”

พรศรี โชติพันธ์

พรศรี ยังบอกด้วยว่า เกษตรกรที่นี่พยายามพัฒนาตนเองมาตลอด ผลผลิตที่ทำเป็นเกรดส่งออก ผิวมันปากเขียวสวย ส่วนลูกลายเนื้อในก็ขาวสวย ที่สำคัญทำงานวิจัยเพื่อพัฒนากับกรมวิชาการเกษตรมาโดยตลอด ดังนั้นราคาที่รับซื้อตอนนี้จึงไม่เป็นธรรมกับชาวสวนมังคุดอย่างมาก  

จึงอยากให้มีหน่วยงานลงมาซื้อมังคุดถึงที่ ซื้อจากเกษตรกรโดยตรง ไปยังโรงงานแปรรูป ทั้งนี้ยังเห็นว่าการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ หากมีการส่งเสริมอุตสาหกรรม ควรเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ต่อยอดจากศักยภาพ หรือผลผลิตที่มี 

ขณะที่ ชาวสวนมังคุด บ้านเกาะ อีกคนสะท้อนว่า ราคามังคุด 10 กว่าบาทต่อกิโลกรัมตอนนี้ ทำให้ชาวสวนต้องเหนื่อยมากขึ้น เพราะต้องเก็บผลผลิตเองในครอบครัว ไม่มีเงินจ้างคนเก็บ

(ภาพ : พวงเพ็ญ จิ๋ววิเศษณา สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน)

“ก็อยากฝากทางภาครัฐให้ช่วยทำให้ราคาดีกว่านี้ขึ้นหน่อย เพราะมังคุดเป็นผลไม้ที่ออกตามฤดูกาล ปีหนึ่งได้เพียงครั้งเดียว อยากให้คุ้มทุน ลงทุนกันเยอะมาก ช่วยติดต่อประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ โรงงานส่งออก ช่วยเห็นใจเกษตรกรด้วย”

ชาวสวนมังคุด ต.บ้านเกาะ

เช่นเดียวกับ ชาวบ้านที่รับจ้างเก็บมังคุดในพื้นที่ บอกว่า ตอนนี้ต้องแบ่งรายได้คนละครึ่งกับเจ้าของสวน ราคามังคุดที่ตกต่ำทำให้รายได้ลดลงมา ค่าเก็บตอนนี้กิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น สวนทางกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น 

สธรรดร เพชรพลาย ประธานมังคุดแปลงใหญ่ ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี บอกว่า ตอนนี้สถานการณ์มังคุดย่ำแย่ เพราะว่าราคายังอยู่ไม่เกิน 15 บาทต่อกิโลกรัม เหตุผลสำคัญมองว่า เป็นเรื่อง Demand Supply หรือ ปริมาณความต้องการของตลาด กับปริมาณผลผลิตที่มีอยู่ตอนนี้ เนื่องจากตอนนี้มังคุดออกซ้ำซ้อนกันในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันออก ที่ออกมาชนกับภาคใต้ เพราะฉะนั้นผลผลิตที่ออกแต่ละวัน ก็เลยมีปริมาณมากจนเกินไป 

ขณะที่จำนวนโรงงานที่แพค หรือว่าโรงงานที่จะส่งออก มีจำนวนจำกัดในแต่ละวัน จากจำนวนของแรงานที่มีจำกัดด้วย ก็ต้องมีการสั่งหรือออเดอร์จำนวนจำกัดเท่ากับที่เขาสามารถจะทำได้ แต่ผลผลิตที่เกษตรกรเอามาส่งในกลุ่มแต่ละวันมีมากกว่าจำนวนออเดอร์ที่ต้องการที่รับได้  

สธรรดร เพชรพลาย ประธานมังคุดแปลงใหญ่ ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี
(ภาพ : พวงเพ็ญ จิ๋ววิเศษณา สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน)

“ในแต่ละปีในพื้นที่ของเราเอง ที่ได้มีการเก็บรวบรวมสถิติ กลุ่มแปลงใหญ่มีทั้งหมด 168 แปลง ผลผลิตที่ออกแต่ละปี คาดว่าไม่เกิน 150 ตันต่อปี  โดยในปีนี้หากดูผลผลิตบนต้นเหมือนดูจะไม่ดกไม่เยอะ แต่เวลาเก็บออกมาแล้ว เอามาชั่งน้ำหนักได้เยอะ เนื่องจากผลผลิตออกมามีคุณภาพลูกโตน้ำหนักดี เลยทำให้ผลผลิตที่อาจจะมองด้วยสายตาว่าน้อย ไม่ได้น้อยอย่างที่เห็น” 

สธรรดร เพชรพลาย 

ดังนั้นในภาวะที่วิกฤตอยู่ขนาดนี้ แนวทางสำคัญ คือ ภาครัฐต้องหาลู่ทางที่จะแก้ไข ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์ให้กับล้ง หรือโรงงานที่ทำผลิตแปรรูป ให้เข้ามารับซื้อเพื่อที่จะระบายของได้มากขึ้น อีกส่วนถึงแม้โรงงานเข้ามาก็จริง แต่ว่าคนงานก็มีจำกัด ซึ่งคนงานเหล่านั้นเป็นแรงงานตั้งใจทำงาน ต้องยอมรับว่าในเมืองไทยหาได้ยาก ส่วนมากที่ใช้อยู่ก็คือแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นเมื่อมีปัญหาเรื่องของเขตแดน มีปัญหาเรื่องของระหว่างประเทศขึ้นมา บางคนทำงานอยู่ก็หนีกลับ ประเด็นนี้จึงมองว่า ถ้าหากว่าฝึกฝีมือแรงงานให้มีปริมาณ มีคุณภาพมากขึ้น จะช่วยในเรื่องจำนวนแรงงานที่มาแพ็คกิ้งสินค้า   

สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางจังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนนี้ เห็นความตื่นตัว ทั้งการประสานเอกชน ห้างสรรพสินค้าในการรับซื้อ เปิดพื้นที่จำหน่ายกันที่ศาลากลาง ไปจนถึงร่วมมือของพาณิชย์จังหวัดและไปรษณีย์ไทย มอบกล่องส่งผลไม้ให้เกษตรกร เพื่อลดต้นทุนในการจัดส่งมังคุดให้กับเกษตรกร และขายตรงไปยังผู้บริโภคในราคาที่สูงและเป็นธรรมต่อเกษตรกร

(ภาพ : พวงเพ็ญ จิ๋ววิเศษณา สมาคมเพื่อนเยาวชนและพัฒนาสังคมภาคใต้ตอนบน)

‘รมต.พาณิชย์’ คนใหม่ เตรียมลงพื้นที่แก้ปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ

ล่าสุด จตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤตราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยได้นัดหมายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือร่วมกันทำงาน เพราะมีทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ถือว่าอยู่ปลายน้ำ ที่จะต้องจัดหาตลาด ต้องดำเนินการด้วยกันทั้งระบบ แบบไม่มีพรมแดนในการทำงานของแต่ละกระทรวง เพราะต้องช่วยกันทั้งหมด

ขณะเดียวกันในวันที่ 4 ก.ค.นี้ จะเดินทางลงพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จากนั้นจะเดินทางไปยังจ.หนองคาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active