‘นักวิชาการ’ เผย คนอยุธยา เห็นด้วยกับการสร้างรถไฟความเร็วสูง

อาจารย์ ม.ราชภัฏอยุธยาฯ เผยคนอยุธยาหวังรถไฟความเร็วสูงแก้ปัญหาปากท้อง ด้านนักวิชาการด้านวิศวกรรม ชวนมองเจตนาของการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่แท้จริง

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 ศุภสุตา ปรีเปรมใจ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา กล่าวใน ‘รายการฟังเสียงประเทศไทย’ ว่ากำลังทำวิจัยศึกษาประวัติศาสตร์รอบสถานีรถไฟอยุธยา ก่อนที่วันหนึ่งอาจเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือหายไป จากการได้ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวอยุธยาบางส่วน พบว่ามีบางส่วนที่กังวล แต่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสร้างรถไฟความเร็วสูง เพราะเป็นการพัฒนาในพื้นที่

แม้ว่าบางคนจะเป็นบ้านที่ถูกรื้อถอนออกไปก็ตาม แต่ก็ยินยอมเพื่ออนาคตของลูกหลาน ในมุมนี้อาจเป็นการให้คุณค่าต่อการพัฒนามากกว่าการรักษาโบราณสถาน แต่ก็ยังไม่ทิ้งเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกรื้อย้าย การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ หรือการเปลี่ยนแปลงของมรดกโลก

ทั้งอยากเห็นเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และโอกาสที่คนในพื้นที่จะได้เดินทางไปจังหวัดอื่น ๆ ได้สะดวกขึ้น การเข้ารับการศึกษา การไปทำงาน การขนส่งสินค้า การเข้ารับการรักษาพยาบาล เสียงของคนในพื้นที่ก็สะท้อนว่าอยากจะลืมตาอ้าปากได้ ดังนั้น เรื่องปากท้องอาจมีผลสำคัญในการตัดสินใจว่าอยากจะเห็นการสร้างรถไฟความเร็วสูง

ด้าน รศ.ประมวล สุธีจารุวัฒน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าควรจะแบ่งแยกข้อเท็จจริงให้ชัด ไม่ควรนำความคาดหวังที่เกินความเป็นจริงไปปะปนกัน เพราะอาจทำให้เข้าใจภาพไม่ถูกต้อง ซึ่งระบบขนส่งมวลชนที่อำนวยความสะดวกสบายอาจไม่ได้หมายถึงรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพียงอย่างเดียว อาจหมายถึงรถเมล์ดี ๆ หรือรถไฟรางคู่ดี ๆ ที่มีการปรับปรุงให้สภาพดีขึ้น แต่เมื่อเอาเรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูงเข้ามามองอนาคต ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าเจตนาของการสร้างรถไฟความเร็วสูง คงไม่ได้อยากขนผู้โดยสารจากกรุงเทพฯมาอยุธยา เพราะเป้าหมายในเฟสที่ 1 คือ กรุงเทพฯไปนครราชสีมา เพื่อจะนำไปสู่หนองคายและเชื่อมต่อกับประเทศลาว และประเทศจีน จนกลายเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ ซึ่งจะส่งผลที่ทั้งในแง่การขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

หลายสิ่งหลายอย่างของโครงการนี้ก็เป็นครั้งแรกของประเทศไทย อย่างการทำ HIA และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นครั้งแรกว่าเราจะเรียนรู้ร่วมกันอย่างไรในการอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งควรถอดรหัสว่าจะทำอย่างไรให้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟประอื่นที่มีอยู่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจได้ โดยไม่สูญเสียการมีตัวตนและแหล่งมรดกโลก ซึ่งเป็นจุดขายทำให้ผู้คนทั้งโลกเดินทางมาที่นี่

ศุภสุตา บอกว่าข้อมูลสำหรับคนในท้องถิ่นยังมีน้อยมาก ทั้งในโซเชียลมีเดียเองหรือข่าวสารที่มาเป็นระลอกแล้วก็หายไป ทราบข่าวอีกทีคือมีการเซ็นสัญญาและเริ่มสร้างแล้ว แต่ก็มีเสียงคัดค้านจึงเริ่มมีกระแสให้ความสนใจถึงคนในท้องถิ่น อย่างการประชุม HIA ที่มีการเชิญคนในท้องถิ่นเข้ามา แต่ในภาพรวมข้อมูลรถไฟความเร็วสูงที่คนอยุธยารับทราบจะเป็นเชิงวิศวกรรม การก่อสร้าง ระยะทาง และด้านเศรษฐกิจ แต่กลับไม่มีข้อมูลว่าโครงการนี้ส่งผลกระทบมากน้อยแค่ไหน อาจจะมีบ้างแต่ก็ยังไม่มีความละเอียดมากพอ แม้จะมีความกังวลว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นมีอุปสรรค แต่คนในพื้นที่ก็ไม่ได้อินกับข้อมูลส่วนนี้มากนัก รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการถูกถอดถอนจากมรดกโลกด้วย ฉะนั้น ยังมีข้อมูลไม่มากพอต่อการสินใจของคนในพื้นที่

“ในฐานะคนอยุธยา จะโดนขู่เรื่องนี้บ่อยมาก ๆ ว่าจะถูกถอดออกจากมรดกโลก แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยโดนสักครั้ง แต่ครั้งนี้อาจจะมีแนวโน้มที่พอจะเป็นไปได้จริง ๆ  ว่าถ้ามีการสร้างอาจจะมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนออกจากมรดกโลกหรือเปล่า”

ศุภสุตา ยังกล่าวเสริมอีกว่า เคยได้รับข้อมูลว่าคนในพื้นที่บางส่วนยอมที่จะให้ถอดถอนออกจากมรดกโลก เพราะไม่ได้เอื้อต่อการทำมาหากินของคนในพื้นที่ เช่น การห้ามค้าขาย การย้ายที่อยู่อาศัย เป็นต้น กลายเป็นว่าบางสิ่งที่เกิดขึ้นต่อคนในพื้นที่นั้นเป็นทัศนคติเชิงลบ บ้างก็คิดว่าอยุธยาเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกอยู่แล้ว การมีหรือไม่มีมรดกโลกก็เป็นเหมือนการแปะป้ายไว้เฉย ๆ หรือมองว่าเป็นแค่ชื่อเสียงที่หายไป และควรใส่ใจเรื่องปากท้องของคนในท้องถิ่นก่อนดีกว่า

แต่ในแง่ของผลกระทบจากการถูกถอดถอนออกจากมรดกโลกก็คือ ด้านทุนทางวิชาการ การพัฒนาก็จะถูกถอดถอนออกไปหมดเลย ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ก็มีต้นทุนราคาแพงมากที่ต้องจ่าย นอกจากนี้ยังเกิดคำถามที่ว่าคนในพื้นที่อาจรับรู้ความสำคัญของพื้นที่น้อยไปหรือไม่ หรืออาจมีผลกระทบที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตโดยตรง แต่คนนอกพื้นที่กลับเข้ามาห่วงแหนพื้นที่อยุธยามากขึ้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active