ปีนี้ท่วม แต่จัดการน้ำได้ดี ชูเครือข่ายภาคประชาชนและรัฐทำงานร่วมกัน สื่อสารเตือนภัยเข้าใจง่าย เยียวยาตรงจุด ด้านสส.พรรคประชาชน เสนอ ตัดยอดน้ำก่อนถึง “ทุ่งรับน้ำ” ช่วยผู้เสียสละ ปกป้องเศรษฐกิจ กรุงเทพฯ
14 ต.ค. 67 (วันนี้) The Active ลงพื้นที่ ต.บางหลวงโดด ต.บางหลวง และ ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ฟังเสียงสะท้อนคนนอกคันกั้นน้ำ พบว่า วันนี้ระดับน้ำหลายบ้านลดลงแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่ยังต้องสัญจรด้วยเรือ และบางจุดแม้น้ำลดแต่การเดินทางก็ยังลำบากต้องใช้ทั้งเรือ รถ และยังต้องเดินลุยน้ำ
ชาวบ้านสะท้อนว่า ปีนี้การบริหารจัดการน้ำดีขึ้น เพราะน้ำปีนี้น้อยเมื่อเทียบกับปี 2554 และ ปี 2565 แต่ปัญหา คือ น้ำมาเร็ว และลงเร็วทำให้ยากต่อการจัดการ เฉพาะปีนี้ ชาวบ้านต้องรับน้ำไปแล้ว 2 รอบ โดยรอบแรกช่วงต้นเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ส่วนรอบนี้ น้ำได้ท่วมขังนานกว่า 3 สัปดาห์แล้ว และยังมีความกังวลน้ำที่จะท่วมในระลอกถัดไป ช่วงวันที่16-20 ต.ค.นี้จากปัจจัย น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุนและปริมาณฝน
“ปีนี้น้ำมา 2 รอบแล้ว แม้จะชินว่าเราอยู่กับน้ำ แต่ปีนี้น้ำมาเร็ว ไปเร็ว แล้วก็เตรียมจะมาอีก เป็นความยากลำบากอีกแบบหนึ่ง …เราก็คิดเหมือนกันทำไมบ้านเราถึงท่วมทุกปี ไม่ท่วมตรงอื่นบ้าง” เสียงสะท้อนชุมชนนอกคันกั้นน้ำ พระนครศรีอยุธยา
ภาคประชาชนมีส่วนร่วมออกแบบ จัดการน้ำ ช่วยลดผลกระทบ
จากการสอบถามประชาชนที่เดือดร้อนหลายหลัง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าปีนี้น้ำน้อย และไม่มีความขัดแย้งเรื่องการรับน้ำเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะมี “เครือข่ายภาคประชาชน” ที่ตั้งกลุ่มจัดการองค์ความรู้ และทำงานประสานกับภาครัฐมากขึ้น ทำให้การสื่อสารทั้งการเตือนภัย การเยียวยา สอดคล้องตรงกับความต้องการของชาวบ้านมากขึ้น
สันติ โฉมยงค์ เครือข่ายภาคประชาชน จ.พระนครศรีอยุธยา ให้สัมภาษณ์ ว่า ภาคประชาชนเริ่มก่อตัวจัดตั้งหลังน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 จึงมีการรวมกลุ่มประชาชนที่สนใจด้านน้ำ จาก 7 ทุ่งรับน้ำ ทำข้อมูลแผนที่ ประเมินสถานการณ์ จุดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมมาตั้งแต่ช่วงต้นปี และเริ่มเตือนตั้งแต่เริ่มมีการระบายน้ำอยู่ที่ 500 ลบ.ม. กลไกสำคัญของการรวมกลุ่มภาคประชาชน ยังมีบทบาทสำคัญในการแปลงข้อมูลภาพกว้างจากการเตือนภัยในระดับรัฐ จากตัวเลขน้ำหน่วยลูกบาศก์เมตร เป็นภาษาที่เข้าใจเลยว่า ชาวบ้านจะต้องรับน้ำสูงระดับใด และใช้เวลาเดินทางนานกี่วัน
คู่ขนานกับ การทำงานของ สส.ในพื้นที่ ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ พรรคประชาชน ทำเพจออนไลน์สื่อสารเรื่องการเตือนภัย และมีส่วนสำคัญในการประสานความต้องการของประชาชนไปถึงภาครัฐ และใน สภาฯ
เช่น สถานการณ์วันนี้ มีการแจ้งเตือนระดับน้ำของจังหวัด ทั้ง สส.ในพื้นที่ และเครือข่ายภาคประชาชน ก็จะแปลงข้อมูลให้ประชาชนเผชิญกับภัยได้อย่างทันท่วงที ยกตัวอย่างเช่น
- ปริมาณน้ำผ่าน อ.เมืองนครสวรรค์(C.2) จ.นครสวรรค์ : 1,964 ลบ.ม./วินาที สามารถสื่อสารได้เลยว่า อีก 48 ชม. น้ำจะถึงอยุธยา ขอเตรียมรับมือ ยกของขึ้นที่สูงโดยด่วน
- หรือ เขื่อนเจ้าพระยา(C.13) จ.ชัยนาท ระบายน้ำที่ระดับ : 1,751 ลบ.ม./วินาที สามารถบอกได้ว่า อีก 24 ชม. ถึงอยุธยา ขอเตรียมรับมือ ยกของขึ้นที่สูงโดยด่วน
- ปริมาณน้ำผ่าน อ.พระนครศรีอยุธยา(C.35) จ.พระนครศรีอยุธยา : 1,035 ลบ.ม./วินาที สามารถระบุให้ชาวบ้านเข้าใจได้ว่า รับมือผลกระทบหนัก : น้ำเข้าท่วมบ้านเรือน เริ่มกักตุนของจำเป็น เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก โดยเสนอให้มีการแก้ปัญหาตั้งแต่การตัดยอดน้ำ ให้จังหวัดก่อนหน้า พระนครศรีอยุธยา ไม่ให้เป็นจังหวัดเดียวที่แบกรับภาระเป็นประจำทุกปี
สันติ ย้ำว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ เป็นชาวบ้านนอกคันกั้นน้ำ แช่น้ำนานหลายสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ขณะที่ชาวบ้านในคันกั้นน้ำ ที่ทำนา, ทำธุรกิจ ฯลฯ น้ำกลับไม่ท่วม ทั้งหมดนี้เป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำ การมีเครือข่ายภาคประชาชน ที่ช่วยกันติดตาม กำกับเรื่องน้ำ และเก็บข้อมูลเพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการของคนที่อยู่กับน้ำ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ภาคประชาชนยังต้องทำงานต่อเนื่อง เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำระหว่างประชาชน กับภาครัฐ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และลดผลกระทบ ความทุกข์ใจของคนรับน้ำได้มากที่สุด