ตัดวงจร “ยี่ปั๊ว” กินส่วนต่าง ยืนยันกระจายโควตาสลากเป็นธรรมยึด “หลักสุจริต” พบตัวแทนจำหน่ายรับจากกองสลากไปขายต่อยี่ปั๊ว ตัดสิทธิ์แล้ว กว่า 4 พันราย พร้อมแจงไม่มีหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิต “คนขายหวยเร่” เพราะไม่ได้บังคับให้ขาย
เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 ที่มหาวิทยาลัยหอการค้า รศ.ธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้สัมภาษณ์กับ The Active ถึงประเด็น การกระจายโควต้าซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลว่า ทางกองสลากฯมีมาตราการที่จะสร้างความเป็นธรรมให้ผู้ประกอบหวยเร่ตัวจริงในระบบอยู่แล้ว โดยต้องเริ่มจากการยึด “หลักสุจริต”
รศ.ธนวรรธน์ บอกว่า ในภาคปฏิบัติผู้ที่ได้รับการจัดสรรโควต้าสลากในระบบทุกคน จะต้องทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ด้วยหลักเกณฑ์สุจริต คือไม่นำไปขายต่อหลายทอด และที่ผ่านมาหลังพบว่าตัวแทนจำหน่ายทำผิดสัญญาที่ให้ไว้ ก็ได้ตัดสิทธิ์การให้โควตาสลากตลอดชีวิตไปแล้วหลายราย ซึ่งตัวเลขปัจจุบันพบว่าดำเนินการตรวจการจำหน่าย มีผู้ถูกยกเลิกเป็นตัวแทนจำหน่ายกว่า 4,283 ราย และในส่วนของการยกเลิกการลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิ์ในการซื้อจอง มีทั้งสิ้น 2,591 ราย
“ผู้ขายต้องไม่นำสลากของตนไปรวมชุดกับผู้อื่น หรือนำสลากของผู้อื่นมาขายร่วม หรือนำสลากของตนไปขายให้แก่ผู้อื่นเพื่อนำไปรวมชุด หรือแลกเปลี่ยนสลากกับผู้อื่น หากมีการตรวจสอบพบการกระทำดังกล่าวถือว่าผู้ขายผิดสัญญาและกระทำผิดเงื่อนไข”
โฆษกกองสลากฯ ระบุ
ขณะที่กลุ่มผู้จำหน่ายที่เป็น “ยี่ปั๊ว” ที่ไปกว้านซื้อสลากมา ยอมรับว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจจับกุมยี่ปั๊ว จุดนี้จึงต้องตั้งคำถามว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีจริยธรรม จรรยาบรรณไหม เพราะจริงๆก็เป็นต้นทางของการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากทำให้การขายสลากต้องเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค
เมื่อถามว่าภายใต้อำนาจของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปได้ไหมที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตคนขายหวยเร่ รศ.ธนวรรธน์ กล่าวว่า เนื่องจากระบบการจัดสรรโคต้าของกองสลากฯ เป็นการขายขาด กองสลากฯ จึงไม่มีหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้ค้าหวยเร่ และในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ขอยกคำกล่าวที่ว่า มนุษย์ย่อมตัดสินใจหาทางเลือกในการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุดให้กับตนเอง ขณะที่กองสลากฯ ก็ไม่ได้บังคับให้ประชาชนกลุ่มนี้ต้องขายหวยเร่
“ปัญหานี้ทราบมานานแล้ว ยกตัวอย่าง ในพื้นที่ของ อ.วังสะพุง จ.เลย ได้ร่วมมือหลายหน่วยงาน พยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเหล่านี้ด้วยศาสตร์พระราชา อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์ของการจัดสรรโควตาสลากมาตั้งแต่ต้นว่า เพื่อให้เป็นรายได้เสริมกับคนด้อยโอกาส ไม่ใช่เป็นอาชีพ หารายได้หลัก”
รศ.ธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนข้อสังเกตเรื่องการรูปแบบการกระจายสลาก โฆษกกองสลากฯ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาเคยมีข้อเสนอให้จัดสรรการขายสลาก ให้แก่กลุ่มผู้พิการกลุ่มเดียวเหมือนอย่างในประเทศไต้หวัน แต่ก็ถูกการคัดค้าน ขณะเดียวกันขอถามกลับว่า ถ้าอยากจะให้กองสลากฯ ขายหวยตามราคา 80 บาทตัดวงจรยี่ปั๊ว โดยขายเป็นสลากดิจิตอลทั้งหมดจะดีหรือไม่ ซึ่งกองสลากก็ยังมองถึงผลกระทบของผู้ค้ารายย่อยกว่า 200,000 รายในระบบโควตาปัจจุบัน
ดังนั้นจึงขอวอนไปถึงประชาชนผู้ซื้อสลากว่า หาก พบเห็นสลากที่ขายเกินราคา ไม่ว่าจะเป็นหวยเร่ หรือหวยตามแผง อย่าซื้อ และสามารถถ่ายคลิปไว้เป็นหลักฐาน นำมาแจ้งความเอาผิด จะได้รางวัลในการจับกุมด้วย จะได้ตัดวงจรยี่ปั๊ว ขณะเดียวกัน ก็ต้องขอความเป็นธรรมให้กับกองสลากฯ เพราะที่ผ่านมาก็มุ่งมั่นที่จะหาแนวทางคุมราคาสลากมาโดยตลอด ล่าสุดก็มีการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่าง สลาก L6, N3 ขึ้นมา
ส่วนข้อเสนอให้กองสลากฯ แบ่งเงินจำนวน 2-3% เป็นกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนขายหวยเร่ และลดผลกระทบจากการพนันอื่น ๆด้วยนั้น โฆษกกองสลากฯ ระบุว่าให้เสนอเรื่องนี้ผ่านทางสภาสภาผู้แทนราษฎร เข้าสู่กระบวนการแก้ไขกฎหมายกองสลากฯ ปรับสัดส่วนโครงสร้างรายได้ ขณะที่ปัจจุบันกองสลากฯ เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่นำส่งรายได้แผ่นดิน เป็นอันดับหนึ่ง และเงินส่วนนี้ก็ถูกนำไปพัฒนาประเทศในหลายด้าน