ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการหนี้ เสนอนโยบาย “ตรวจสุขภาพการเงิน แก้หนี้ได้ภายใน 3 เดือน” ชี้ ไทยควรเพิ่ม “หมอหนี้” ในองค์กร ให้คำปรึกษา หาทางออกกับดักหนี้
วันนี้ (1 ธ.ค. 2567) ภูมิ วิสิฐนรภัทร ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการหนี้ และผู้ร่วมก่อตั้ง Noburo (โนบูโร) แพลตฟอร์ม สตาร์ทอัพที่ช่วยแก้ไขเรื่องปัญหาหนี้สินของพนักงาน โดยวันนี้ได้มาเสนอนโยบายการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านรายการนโยบาย by ประชาชน
ภูมิ บอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เข้าถึงสถาบันทางการเงินได้ง่าย แต่ในหลายครั้งมีการใช้สินเชื่อต่าง ๆ ที่ขาดความรู้ จนทำให้บางทีเกิดประวัติการค้างชำระ เมื่อถูกกันออกจากสถาบันทางการเงินจึงต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ จนติดอยู่ในกับดักหนี้
ภูมิ วิสิฐนรภัทร ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการหนี้ และผู้ร่วมก่อตั้ง Noburo (โนบูโร)
ซึ่งเขาได้นำเสนอนโยบาย “ตรวจสุขภาพการเงิน แก้หนี้ได้ภายใน 3 เดือน” เป็นนโยบายที่เชิญชวนนายจ้างมาเป็นผู้เริ่มการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ โดยนายจ้างที่ห่วงใยพนักงานต้องช่วยตรวจสุขภาพการเงิน จากโครงการที่เรียกว่า “หมอหนี้พบพนักงาน” และจัดหาสวัสดิการสินเชื่อเพื่อให้พนักงานที่มีปัญหาเรื่องหนี้นำไปปิดหนี้ และมีหมอหนี้ทำการติดตามผลอย่างใกล้ชิด
ใน 3 เดือนที่หมอหนี้จะเข้ามาช่วยพนักงาน มีทั้งปรับทัศนคติ ให้มองว่าเรื่องหนี้แก้ไขได้ โดยกระบวนการแรก “ฝึกฝัน” คือ ต้องเปิดใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพนักงาน กล้าที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ หมอหนี้จะทำเรื่องแผนการเงินส่วนบุคคลให้พนักงานเห็นว่าหนี้ที่เขาติดมาหลายเดือน หลายปี จะหลุดไปได้อย่างไร
หลังจากนั้น 3 เดือน พนักงานต้องมาเรียนรู้ด้านการเงิน “ฝึกฝืน” ปรับพฤติกรรม ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น หรือหารายได้เสริมเพิ่ม แล้วจะได้สินเชื่อนำไปปิดหนี้
นโยบายนี้อยากจะเชิญชวนทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะแค่ใช้บริการกับ Noburo เท่านั้น แต่อยากให้นายจ้างเดินเข้าสถาบันทางการเงินทั่วไปที่มีสินเชื่อสวัสดิการ ส่วนเรื่องหมอหนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ ซึ่งปัจจุบันในไทยยังมีน้อยอยู่ ถ้าเราสามารถขยายผลเรื่องหมอหนี้ได้ อย่างองค์กรใหญ่อาจจะมีหมอหนี้ประจำองค์กรเลยก็จะสามารถให้คำปรึกษาและติดตามผลได้อย่างใกล้ชิด
“แก้หนี้จะต้องช่วยกันทุกภาคส่วน ต้องตั้งวิธีการเพื่อจะให้นโยบายเป็นเป็นจริง รวมถึงถ้าอยากผลักดันให้เกิดขึ้นจริง อาจจะเริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ ก่อน อย่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะค่อย ๆ ขยายได้เรื่อย ๆ ”
เชื่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องประกอบด้วยนายจ้าง หมอหนี้ และสถาบันการเงิน นายจ้างอาจจะต้องให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายในโครงการนี้ หมอหนี้อาจต้องได้รับความร่วมมือจากแบงก์ชาติกับสถาบันการเงินที่จะผลิตหมอหนี้ให้ได้เยอะๆ เพื่อจะช่วยเหลือประชาชน และสุดท้ายสถาบันการเงินที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ก็ต้องยินดีที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ที่มีประวัติค้างชำระหรือมีหนี้นอกระบบ ซึ่งอาจจะความเสี่ยงสูงกว่าสิ่งที่เขาเคยรับนิดหน่อย แต่โครงการนี้เรามีหมอหนี้ดูแลอย่างใกล้ชิด ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงให้สถาบันการเงินได้ในระดับหนึ่ง
ด้าน บุญเที่ยง ภูมี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมฟังข้อเสนอการแก้ปัญหาหนี้ดังกล่าว บอกว่า เห็นด้วย แต่มีหนึ่งจุดที่เหมือนเป็นข้อจำกัดในการช่วยเหลือ คือวงเงินแค่ 50,000 บาท แต่ในข้อเท็จจริงลูกหนี้ อาจมีหนี้เยอะกว่านั้น และมีปัญหาหนัก อาจจะยังแก้ไม่ทั่วถึง แนะว่าควรขยายขอบเขตการช่วยเหลือมากขึ้น
บุญเที่ยง ภูมี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ส่วนจุดเด่นของข้อเสนอข้างต้น คือ หน่วยงาน โดยให้บริษัทของลูกหนี้เข้ามาร่วมมือในการแก้ไขหนี้ เพราะหากพนักงานแก้หนี้ได้ ก็จะมี work life balance ที่ดี ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งลูกหนี้และฝั่งนายจ้าง
จากข้อเสนอก็อยากให้ทั้งหน่วยงาน บริษัทต่าง ๆ หรือทางกระทรวง ผลักดันให้มีหมอหนี้ เพื่อให้คำแนะนำพนักงานขององค์กรแต่ละแห่ง เพราะบางทีลูกหนี้ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้ามีหมอหนี้ที่มีความเชื่ยวชาญก็จะช่วยให้คำปรึกษาได้ นอกจากนี้การเข้าถึงหมอหนี้ ยังสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของแบงก์ชาติได้ เป็นการจองเวลาผ่านระบบออนไลน์
“แต่ละองค์กรควรมีหมอหนี้ เพื่อแนะนำภายในองค์กร ก่อนที่ลูกหนี้จะมีปัญหา เพราะตนเข้าใจว่าลูกหนี้อาจไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้ไขอย่างไร ถ้าได้คำปรึกษาก็จะหาทางออกได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่ก็หาทางออกโดยการกู้เพิ่ม แต่ถ้าได้รับคำแนะนำในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ผ่อนชำระหนี้ตามกำลัง ก็จะช่วยได้”
สว่างจิตต์ เลาหะโรจนพันธ์ สมาชิกผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง เขต 5 พรรคประชาชน ในฐานะกรรมธิการหนี้สิน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ มองว่า ข้อเสนอดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะมีการตรวจสุขภาพด้านการเงินให้กับพนักงงาน การทำแบบนี้จะทำให้บริษัทรู้สึกว่าพนักงานเป็นพาร์ทเนอร์ ไม่ใช่แค่ลูกจ้าง เพราะเมื่อเกิดปัญหาเรื่องหนี้ ก็อาจลดทอนสุขภาพจิตทำให้ทำงานได้ไม่ดี ข้อเสนอนี้จึงเป็นการช่วยเหลือที่ได้ทั้งตัวองค์กร และพนักงานเอง
“สิ่งที่ทำให้คนไทยยังติดกับดักหนี้ เพราะการแก้ไขหนี้ในอดีตยังไม่ได้ลดหนี้จริง ๆ แต่เป็นการย้ายหนี้จากธนาคารมาเป็นการกู้เพิ่ม หรือกระทั่งว่าการกู้เพิ่มมาจ่ายหนี้ด้วยซ้ำ ทำให้วงเงินสูงขึ้น อีกทั้งการกู้ที่มีผู้ค้ำประกันก็เหมือนเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของคนที่จะเป็นหนี้สูงขึ้นด้วย”
ซึ่งปัจจุบันก็มีนโยบายที่พยายามจะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยลดภาระที่จะต้องจ่ายคืนในแต่ละเดือน มีการขยายระยะเวลา ทำให้จ่ายคืนหนี้หรือดอกเบี้ยน้อยลง ก็จะทำให้มีเงินที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีเงินเหลือที่จะจ่ายหนี้นอกระบบ แต่นโยบายของรัฐจะเป็นการปรับปรุงในส่วนของหนี้สถาบันการเงินเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งทางกรรมาธิการฯได้นำเสนอไปแล้ว
เมื่อมองภาพรวมของหนี้ครัวเรือน ที่ผ่านมาอัตราหนี้ครัวเรือนในไทยคิดเป็น 91% ที่เคยสูงสุด ตอนนี้ลดลงมาบ้างแล้วจากที่รัฐบาลและแบงก์ชาติเข้าไปแก้ปัญหา แต่ว่าก็ยังไม่ได้มีวงเงินเหลือในการใช้จ่ายมากเท่าไหร่ ที่ผ่านมาจากวิกฤตโควิด ทำให้เศรษฐกิจชะงัก ไม่สามารถพึ่งพาหนี้ในระบบได้ ก็ต้องหันไปพึ่งหนี้นอกระบบ ซึ่งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน