ขยายโอกาสผู้ผลิต ขายเบียร์สด คราฟต์เบียร์ บรรจุถัง Keg นอกสถานที่ได้ หวังสร้างรายได้ หนุนผู้ประกอบการสุรารายย่อย ขยายตลาด
วันนี้ (13 พ.ค. 68) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ซึ่งเสนอโดยกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ในหลักการนี้จะเป็นการขยายโอกาสให้โรงเบียร์ Brew Pub เบียร์สดและคราฟต์เบียร์ สามารถบรรจุถัง Keg ออกขายนอกสถานที่ได้ช่วยสร้างรายได้และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสุรารายย่อยสามารถขยายตลาดทางการค้าและมีการเติบโตทางธุรกิจได้ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ได้แก้ไขปัญหาสุราชุมชนไกลแหล่งน้ำ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งโรงงานขนาดเล็ก และขนาดกลาง สามารถตั้งอยู่ห่างจากแหล่งน้ำสาธารณะน้อยกว่า 100 เมตรได้ โดยให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม
และขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถตั้งโรงอุตสาหกรรมขนาดกลางได้ทันทีโดยไม่ต้องรอเป็นโรงอุตสาหกรรมขนาดเล็ก 1 ปี เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางการค้าให้กับผู้ประกอบการสุรารายย่อย
สำหรับ Keg คือ ถังบาร์เรลขนาดเล็ก ทำจากแสตนเลสสตีล และเป็นที่นิยมในการบรรจุและขนส่งเบียร์ รวมถึงครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่มีแอลกอฮอล์อื่น ๆ อีกด้วย เนื่องจาก Keg มีความสามารถในเก็บเครื่องดื่ม และทนแรงดัน จึงทำให้สามารถรักษาความซ่าในเครื่องดื่มได้ดี
ทั้งนี้ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุราฉบับดังกล่าว มีหลักการสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 โดยสนับสนุนและสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการสร้างรายได้และเจริญเติบโตได้โดยยังคงหลักการสำคัญในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการผลิตสุราให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกระบวนการผลิตสุราต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทำไม ? ต้องมีกฎกระทรวงการผลิตสุรา
ราชกิจจานุเบกษากฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ระบุว่า การปรับปรุงแก้ไขเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุรา รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตผลิตสุรา ทั้งการผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้าและการผลิตสุราเพื่อการค้าให้เกิดความชัดเจน อันจะทำให้การบริหารการจัดเก็บภาษี และการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสุราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้
โดยก่อนหน้านี้ (15 ม.ค. 68) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติ เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ…ไปแล้ว มี สาระสำคัญ อยู่ที่การแก้ไขมาตรา 153 ว่า “ผู้ใดประสงค์จะผลิตสุรา หรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ให้ยื่นคำขออนุญาตต่ออธิบดี และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด การขออนุญาต และการออกใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดกฎกระทรวง“
กฎกระทรวงตามวรรคสองมีสาระสําคัญ คือ
- ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถประกอบอาชีพของตนได้ โดยไม่สร้างเงื่อนไขหรือภาระให้แก่ผู้ขออนุญาตเกินความจําเป็น
- เปิดโอกาส ให้สถาบันเกษตรกรตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน ได้เข้าถึงใบอนุญาต เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานราก
- ต้องไม่กําหนดถึงกําลังการผลิต และทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ แต่ให้คํานึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสําคัญด้วย
นอกจากนี้ เมื่อร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาในวาระ 2-3 และมีผลบังคับใช้ จะนำไปสู่การออกกฎกระทรวงเรื่องการผลิตสุราฉบับใหม่ โดย กมธ. มีข้อสังเกตร่วมกันดังนี้
- จะต้องไม่มีการนำหลักเกณฑ์เรื่อง กำลังแรงม้าของเครื่องจักร จำนวนคนงาน ขนาดกำลังการผลิตสุรา ปริมาณการผลิต ทุนจดทะเบียน ระยะเวลาในการประกอบกิจการ การจัดทำ EIA มาเป็นมาสร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะของการผูกขาดทางเศรษฐกิจ
- จะไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตสุรา แบบขั้นบันไดได้อีกแล้ว จากเดิมที่ผู้ประกอบการจะต้องขอทำโรงสุราขนาดเล็กมาก่อน 1 ปีก่อน จึงจะสามารถขอทำโรงสุราขนาดกลางได้ จากนี้ใครมีความพร้อมในการทำโรงสุราขนาดใดก็สามารถขอทำโรงสุราขนาดนั้น ๆ ได้เลย
- การผลิตเบียร์จากเดิม หากจะบรรจุกระป๋อง หรือขวดขาย จะต้องทำเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ได้รับการเห็นชอบรายงาน EIA ซึ่งหมายความว่า คุณต้องมีปริมาณการผลิต 7.2 ล้านลิตรต่อปี จะต้องปรับแก้ให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผลิตเบียร์สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางที่ได้มาตรฐานเช่นเดียวกัน จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างโรงเบียร์ที่เป็นโรงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น
- จะต้องไม่กำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ จากเดิมผู้ประกอบการที่ต้องการจพทำเหล้าสี จะต้องผลิตไม่น้อยกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน หลังจากนี้จะไม่มีเงือนไขนี้แล้ว และจากเดิมที่อนุญาตเฉพาะกลุ่มบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หลังจากนี้กลุ่มสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ก็สามารถทำได้เช่นกัน
- โรงสุราขนาดเล็ก หรือกลาง สามารถตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำได้ แต่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย (โรงใหญ่ตั้งได้อยู่แล้ว และมีระบบบำบัด)
- รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกียวข้องควรจะพิจารณาแบ่งประเภทสุราใหม่ ให้มีการแสดงชื่อสุราบนฉลากที่มีความหลากหลายมากขึ้น
- รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกียวข้องควรจะพิจารณา ให้มีสามารถมีการบรรจุสุราในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กได้ เพื่อเป็นของใฝากสำหรับนักท่องเที่ยว
- การขอใบอนุญาตผลิตสุรากลั่น และสุราแช่ สามารถใช้ที่อยู่เดียวกันได้ (สุราบางชนิดใช่ทั้งกระบวนการกลั่นและแช่ จากเดิมต้องย้ายโรงงานกันหรือส่งวัตถุดิบไปอีกโรงงานหนึ่ง)
- ควรออกมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่นำสินค้าเกษตรในท้องถิ่นมาผลิตเป็นสุรา
- โรงเบียร์ขนาดเล็กและกลาง ที่ไม่สามารถติดตั้งเครื่องพิมพ์เครื่องหมายแสดงการเสียภาษี(หลักล้าน) ให้มีการพิจารณาให้มีการซื้ออากรแสตมป์มาติดได้
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิต กำลังเตรียมแก้ไข ปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อหนุน สุราชุมชน ในอีกหลายประเด็น