ผ่านแล้ว พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า-เบียร์ โฆษณาได้  

ปลดล็อกกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สส.เพื่อไทย ย้ำแก้กฎหมายครอบคลุมสาระสำคัญ 5 เรื่องหลัก ‘เท่าพิภพ’ คาดธุรกิจแอลกอฮอล์และการท่องเที่ยวของไทยเติบโตขึ้น จับตารัฐมนตรีหรือคณะกรรมการควบคุม เร่งออกกฎหมายลูกเพื่อมีผลบังคับใช้จริง

วันนี้ (19 มีนาคม 2568) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับที่ … พ.ศ. … ด้วยคะแนน 365 ต่อ 0 เสียง  ซึ่งเนื้อหาสำคัญอย่าง มาตรา 32 ที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการรายย่อยที่ระบุว่าห้ามผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อมซึ่ง ที่ประชุมสภามีมติไม่เห็นด้วย 371 เสียง เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง ทำให้เป็นการปลดล็อกและสามารถประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้

ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว โพสต์เพจ Facebook ระบุว่า [ การแก้ไขที่ยาวนานของ พ.ร.บ. #ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำเร็จแล้วครับ !!! ] พร้อมทั้งอธิบายว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็น 1ในกฎหมายที่ใช้เวลาหาข้อสรุปกันค่อนข้างนาน เนื่องจากมีการเสนอเข้ามาและรับหลักการในวาระ 1 ร่วมกันมากถึง 5 ฉบับ คือ

  1. ฉบับ ครม. โดย ก.สาธารณสุข
  2. ฉบับ พรรคเพื่อไทย โดยซึ่งมี ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ เป็นผู้เสนอ
  3. ฉบับ พรรคก้าวไกล โดย สส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร  เป็นผู้เสนอ
  4. ฉบับที่เสนอโดยเครือข่ายผู้สนับสนุนการควบคุมการเข้าถึงแอลกอฮอล์ที่เคร่งครัดขึ้น
  5. ฉบับที่เสนอโดยเครือข่ายผู้สนับสนุนการผ่อนคลายเพื่อส่งเสริมธุรกิจแอลกอฮอล์

ซึ่งการการแก้ไขกฎหมายที่ถกกันในวันนี้ใน ครอบคลุมสาระสำคัญ 5 เรื่องหลัก คือคณะกรรมการ,การควบคุม,การโฆษณา,การบำบัดฟื้นฟู และบทกำหนดโทษ 

ขณะที่ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ได้ระบุในเพจ Facebook ถึงใจความสำคัญของเรื่องที่ได้รับการแก้ไข โดยมีเนื้อหาว่า 

  • มีการผ่อนปรนให้ขายในสถานที่ของทางราชการได้ตามที่คณะกรรมการจังหวัดเห็นชอบ(อาจจะเป็นครั้งคราว เช่นการจัดงาน OTOP)
  • เวลาการขายช่วง 14.00 – 17.00 น. ที่เคยถูกห้ามไว้โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดย พรบ.ฉบับใหม่นี้
  • กวดขันส่งเสริมให้ร้านค้ามีการตรวจสอบอายุและระดับความมึนเมาของผู้ซื้อให้เข้มงวดมากขึ้น
  • ขายผ่านเครื่องอัตโนมัติได้แล้ว (กฎหมายเพื่ออนาคต)
  • ดื่มในสถานศึกษาที่มีการเรียนการสอนเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
  • ให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ประชาสัมพันธ์ ได้ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด

    ทั้งนี้ เท่าพิภพ ระบุว่า หลาย ๆ เรื่องที่พูดมาข้างต้น ก็ยังไม่ได้มีผลทันทีเมื่อประกาศราชกิจจาฯ นะครับ ต้องรอให้รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการควบคุม ไปออกกฎหมายลูกก่อน ถึงจะทำได้

แต่ก็นับได้ว่าเป็นพัฒนาการทางกฎหมายที่ดี ที่จะส่งผลให้ธุรกิจแอลกอฮอล์และการท่องเที่ยวของไทยเติบโตขึ้น รวมถึงบรรเทาผลกระทบของพี่น้องประชาชนที่โดนคดีโดยไม่เป็นธรรม

“ผมทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติเสร็จสิ้นแล้วก็คงหวังให้รัฐบาล(ฝ่ายบริหาร) ออกกฎหมายลูกในแนวทางที่ผ่อนปรนมากขึ้น ไม่เช่นนั้นเรื่องมันก็คงวนอยู่ในอ่าง ผลิตอะไรมาก็ขายไม่ได้พูดถึงไม่ได้อยู่ดีหรือถ้ารัฐบาลมีปัญหาในการออกกฎหมายลูกจากคณะกรรมการที่มีความเป็นราชการเต็มขั้นก็บอกผมมาได้เลยครับ ผมพร้อมจะช่วยออกเสียงเอาระบบคณะกรรมการนี้ออก ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของผมมาแต่แรกอยู่แล้ว”

พร้อมทั้งระบุทิ้งทายว่ายกแรกผ่านแล้ว แต่ยังมียกต่อๆไปที่ยังต้องลุ้นกันต่อ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสังคมไทยส่วนหนึ่งยังมีความกังวลเรื่องของการปล็ดล็อคการโฆษณาอาจเป็นเหตุให้เกิดนักดื่มหน้าใหม่ได้ ในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ จึงมีการระบุ เนื้อหาเรื่องการบำบัดฟื้นฟูว่า

  • -ขยายกรอบผู้ที่สามารถได้รับการบำบัดฟื้นฟู จากเพียงผู้ติดแอลกอฮอล์ เป็นผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • -ให้อำนาจหน่วยงานในการขอการสนับสนุนงบประมาณ หรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น

    พร้อมทั้งระบุเรื่องบทกำหนดโทษว่า
  • ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการเลือกใช้ มาตรการตักเตือน แทนการบังคับใช้บทลงโทษทางอาญาหรือทางปกครองได้
  • เพิ่มมาตรการปรับเป็นพินัย ในกรณีความผิดที่ไม่รุนแรง
  • แยกโทษการโฆษณาของประชาชนโดยทั่วไป ที่ไม่เท่าทันกฎหมาย ออกจากโทษของผู้ประกอบการ ให้มีเพดานโทษที่น้อยกว่า
  • เพิ่มโทษของกรณีการขายสุราให้เยาวชน
  • เพิ่มอำนาจในการสั่งปิด ระงับใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต ในกรณีที่กระทำผิดต่อเนื่องหรือร้ายแรง

ที่มา :เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร – Taopiphop Limjittrakorn ,ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ-หนุ่ม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active