แถลงการณ์ เรียกร้องให้กฎหมายรับรองสมรสเพียงชายและหญิงขัดต่อรัฐธรรมนูญ พร้อมเร่งศึกษารอบด้าน สร้างความเป็นธรรมและความเสมอภาคระหว่างเพศภายในหนึ่งปี
เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 ที่บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน ภาคประชาชนรวมตัวกันในนาม “คณะตุลาการประชาชน” จัดกิจกรรมเนื่องในวันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ หรือ The International Day Against Homophobia, Transphobia and Biphobia (IDAHOTB) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปี
ตัวแทนอ่านถ้อยแถลงที่ร่วมเขียนโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เฟมินิสต์ฟูฟู เฟมินิสต์ปลดแอก เฟมินิสต์เมอร์เมด และเฟมินิสต์โขงชีมูล กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้สมรสกันเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคํา คู่รักซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นหญิง ได้ยื่นคำร้องหลังถูกปฏิเสธจดทะเบียนสมรส แต่ศาลเห็นว่าหน่วยงานต่าง ๆ อาจทำกฎหมายคุ้มครองหรือรับรองสิทธินั้นได้ยกกรณีของเพิ่ม
แถลงการณ์ระบุอีกว่า หากประชาชนหนึ่งคนมิได้รับการคุ้มครอง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเท่าเทียมกันไม่ ประชาชนทุกคนก็จะมิได้รับการคุ้มครองในสิทธิเหล่านี้เช่นกัน เพราะฉะนั้นคณะตุลาการประชาชนเห็นว่าต้องพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ ด้วยเหตุผลห้าประเด็น ประกอบด้วยประวัติศาสตร์ สังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความเป็นมนุษย์ รายละเอียดดังต่อไปนี้
หนึ่ง คณะตุลาการประชาชนตั้งคําถามว่ากฎหมายและรัฐควรมีบทบาทที่เหมาะสมในเรื่องความรักของประชาชนและสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของประชาชนอย่างไร เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ้ง และพวงเพชร เหมคํา คู่รักผู้ร้องสองคน เป็นคู่ชีวิตมากกว่า 10 ปี ที่แบ่งความสุขทุกข์กันและดูแลซึ่งกันและกัน สาเหตุที่ทําให้คู่รักผู้ร้องทั้งสองคนขอร้องศาลรัฐธรรมนูญคือกรณีที่เกิดขึ้นที่พวงเพชรต้องผ่าตัด ทางโรงพยาบาลได้แจ้งว่าต้องให้มารดาของพวงเพชรมาเซ็นยินยอม เพิ่มทรัพย์ คนรักของพวงเพชร ให้ความยินยอมไม่ได้ ซึ่งแม่ของพวงเพชรมีอายุมากและอยู่บนดอยเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครลําบาก การที่ไม่มีกฎหมายที่รับรองความสัมพันธ์ทําให้ประชาชนทั้งสองคนเดือดร้อนเพราะผู้ร้องในฐานะที่เป็นคู่รักไม่มีสิทธิและอํานาจตามกฎหมายที่จะยินยอมการอนุญาตให้ผ่าตัดและการดําเนินการในการใช้ชีวิตเช่น ธุรกรรมการเงิน การทําประกันชีวิต คณะตุลาการประชาชนเห็นว่ากฎหมายควรสะท้อนถึงความเป็นจริงในประเทศ และควรเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ควรเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของประชาชน
สอง คณะตุลาการประชาชนเห็นว่ามีบุคคลเพศหลากหลายในพื้นที่ที่เป็นประเทศไทยตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน ในทุกยุคทุกสมัยจะเห็นได้ว่ามีบุคคลเพศหลากหลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมาโดยตลอด คณะตุลาการประชาชนเห็นว่าประชาชนส่วนไม่น้อยในประเทศไทยอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งสถาบันและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรส แต่รัฐและตุลาการไทยเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชน ไม่อนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสมรสในประเทศไทยมาอย่างช้านานตั้งแต่สมัยโบราณโดยอิงตามประเพณีที่สืบต่อกันมา ในปี พ.ศ. 2347 มีการพูดถึง ในกฎหมายลักษณะผัวเมีย สมัยรัชกาลที่ 1 ในปี ในปี พ.ศ. 2477 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัวบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมามีการปรับปรุงใหม่ในปี พ.ศ. 2519 และมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน (46 ปี) โดยไม่มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับยุคสมัย หรือเปลี่ยนไปตามประชาชนในประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา
คณะตุลาการประชาชนขอยกหลักฐานที่แสดงถึงความต้องการของประชาชน องค์กรภาคประชาชน “ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม” ได้มีการเปิดเว็บไซต์ www.support1448.org ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เพื่อให้ประชาชนไทยร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงมีผู้มาลงชื่อสนับสนุนไม่ต่ํากว่า 100,000 คน และ ปัจจุบัน ณ วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 ได้มีผู้ลงรายชื่อสนับสนุนจํานวน 304,280 คน ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามีประชาชนคนไทยต้องการสิทธิการสมรสเท่าเทียมอยู่จํานวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่การจัดงานแต่งงานที่ไม่มีกฎหมายรองรับ การแต่งงานเพศเดียวกันควรมีการรับรอง ไม่ควรมีข้อจํากัด ไม่ควรแบ่งแยก และสิทธิเช่นเดียวกันกับการแต่งงานของชาย-หญิง
สาม คณะตุลาการขอระบุว่าในปัจจุบันนี้มี 31 ประเทศที่มีกฎหมายที่คุ้มครองการสมรสเท่าเทียมกัน ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยียม บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา เดนมาร์ก เอกวาดอร์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก มอลตา เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส ใต้ แอฟริกา สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอุรุกวัย ในหมู่ประเทศนี้ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศไต้หวันสั่งให้รัฐสภาแก้ไขกฎหมายภายใน 2 ปีเพื่ออนุมัติให้คนที่เป็นเพศเดียวกันแต่งงานได้ ในระหว่างการรอการเปลี่ยนกฎหมายอย่างเป็นทางการศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้สํานักงานเขตทั่วประเทศอนุญาตสองคนที่เป็นเพศเดียวกันลงทะเบียนสมรสได้และได้รับทั้งสิทธิและหน้าที่เท่าคู่รักเพศแตกต่าง คณะตุลาการประชาชนเห็นว่ากฎหมายเดิมของไต้หวันมีความคล้ายคลึงกับกฎหมายที่มีอยู่ตอนนี้ในประเทศไทยที่คู่รักผู้ร้องทั้งสองร้องเรียนว่าไม่ยุติธรรม หากประเทศไทยเป็นประเทศที่สองในภูมิภาคเอเชียที่คุ้มครองสมรสเท่าเทียมกัน คงได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยและยกสถานะประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน
สี่ คณะตุลาการประชาชนเห็นว่าในความเป็นจริงสถาบันครอบครัวมีรูปแบบที่หลากหลายแต่กฎหมายไม่สะท้อนความเป็นจริงนี้ การจัดตั้งครอบครัวเป็นสิทธิของทุกคนที่เลือกจะมีจดทะเบียนสมรสกับบุคคลใดก็ตาม โดยไม่ได้มีข้อจํากัดอันเนื่องจากเพศมากําหนด เป็นสิทธิของคนทุกคนที่จะเลือกได้อย่างเสรี รัฐมีหน้าที่เพียงอํานวยกระบวนการคุ้มครองให้การจัดตั้งครอบครัวนั้นเกิดขึ้น
ห้า คณะตุลาการประชาชนขอย้ำว่าการไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคมเป็นผลร้ายต่อทุกคนในสังคม เห็นว่าการไม่เปลี่ยนแปลงทางกฎหมายไม่ใช่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตคู่เท่านั้น ทําให้เกิดความไม่เสมอภาคเท่าเทียมกันภายในสังคม ณ ปัจจุบันไม่ควรเอาจารีต ประเพณีศีลธรรมที่ลิดรอนสิทธิมนุษยชนมากดขี่ข่มเหงความแตกต่างหลากหลายอันเป็นสิทธิและเสรีภาพของบุคคล หรือกังวลว่าจะเป็นการเพิ่มภาระของทางภาครัฐ จะเห็นได้ว่าความเท่าเทียมของคนในประเทศไม่ใช่ของขวัญจากรัฐแต่มาจากการต่อสู้มาอย่างยาวนาน คณะตุลาการประชาชนพิเคราะห์แล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และรับรองสิทธิเสรีภาพไว้ มาตรา 4 บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน” ในมาตรา 25 มาตรา 26 มาตรา 27 การสร้างสถาบันครอบครัวและการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันของบุคคล เป็นเรื่องของเจตนาในการที่บุคคลทั้งสองตกลงจะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจภายใต้สังคมและกฎหมายที่เท่าเทียม ไม่ว่าเพศสภาพใดก็สามารถสร้างสายสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนภายในครอบครัวได้ ครอบครัวมิได้มีไว้เพื่อการดํารงเผ่าพันธุ์เพียงอย่างเดียว
นอกจากนี้ในปัจจุบันการเกิดขึ้นของชีวิตใหม่ยังสามารถใช้เทคโนโลยีทางแพทย์ช่วยเหลือแก่บุคคลที่มีข้อจํากัดด้านร่างกายไม่ว่าเพศสภาพใดก็ตาม กฎหมายจําเป็นคุ้มครองและรับรองสิทธิบุคคลทุกคน ไม่ว่าบุคคลดังกล่าวจะมีครอบครัวในรูปแบบใด คณะตุลาการประชาชนเห็นว่าสถาบันครอบครัวถือว่าเป็นสถาบันพื้นฐานที่เล็กและสําคัญที่สุดของสังคมไทย การสร้างสถาบันครอบครัวที่แข็งแรงจะนําไปสู่การสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ เข้าใจความแตกต่าง ความเท่าเทียมกันภายในสังคม สิทธิในการสมรสจึงต้องเป็นของบุคคลทุกคนที่จะเข้าถึงอย่างเท่าเทียม โดยมิควรแยกตราเป็นกฎหมาย เฉพาะ แม้การเบียดขับผู้มีความหลากหลายทางเพศยังเห็นเป็นที่ประจักษ์ชัด ผ่านความพยายามในการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ. … ที่ให้สิทธิหน้าที่แตกต่างออกไปจากการสมรสตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 การตรากฎหมายเฉพาะกลุ่มนั้นมีเจตนาเพื่อคุ้มครองและให้สิทธิแก่กลุ่มผู้มีความแตกต่างที่มีผลต่อการดําเนินชีวิตที่เสียเปรียบต่อบุคคลอื่นหรือมีสาระสําคัญแตกต่างกัน เช่น กฏหมายสําหรับผู้พิการ ซึ่งเป็นข้อจํากัดที่เกิดจากสรีระให้ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียม แต่การสมรสเป็นเรื่องของสิทธิในการตั้งครอบครัวซึ่ง “ความหลากหลายทางเพศ” ไม่ได้เป็นความแตกต่างอันเป็นสาระสําคัญที่มีผลต่อการดําเนินชีวิต จึงไม่จําเป็นต้องตรากฎหมายเฉพาะกลุ่มขึ้นมาใหม่สําหรับการรับรองความสัมพันธ์ของคนสองคนในการใช้ชีวิตร่วมกันในฐานะ “คู่สมรส”
ทั้งนี้ การเข้าถึงกฎหมายอย่างเสมอหน้ากันเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพาสังคมออกจากกรอบวัฒนธรรมที่ละเมิดศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่นและต้องไม่เลือก ปฏิบัติต่อพลเมืองด้วยเหตุแห่งเพศการสมรสในทางกฎหมายนั้นนํามาซึ่งนํามาซึ่งสิทธิ หน้าที่หรือสวัสดิการที่ควรได้รับในฐานะคู่สมรส อาทิ สิทธิการรักษาพยาบาล สิทธิการฟ้องคดี สิทธิการรับบุตรบุญธรรม ปราศจากการแบ่งแยกทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือฐานะทางเศรษกิจ การสมรสจึงจําเป็นต้องมีกฎหมายรองรับเพื่อแก้ปัญหาที่ทําให้เกิดการเข้าไม่ถึงสิทธิที่ควรได้รับอย่างเสมอหน้ากัน ไม่ทอดทิ้งบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศให้หลุดออกไปจากระบบบริการของรัฐ ดังนั้นเพื่อความมั่นคงของชาติ รัฐควรจะเป็นฝ่ายที่จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาเหล่านี้นั้น เป็นหน้าที่ของรัฐ พร้อมทั้งรัฐควรมีการโอบรับให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในฐานะพลเมืองผู้ควรได้รับความเท่าเทียมคณะตุลาการประชาชนเห็นว่า มาตรา 1448 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขัดต่อมาตรา 4 มาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 27 รัฐธรรมนูญ แม้มาตรา 27 จะบัญญัติว่า ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันก็มิได้หมายความว่า บุคคลที่มีเพศสภาพหรือมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างออกไปไม่มีสิทธิเสมอกัน การไม่เลือกปฏิบัติทางเพศนั้นย่อมหมายความรวมถึงบุคคลทุกคนไม่ว่าเพศไหน หากกฎหมายยังคงจํากัดเพศอยู่เพียงหญิงและชาย อันเป็นเพียงเพศกําเนิด ย่อมทําให้บุคคลส่วนหนึ่งของสังคมถูกเลือกปฏิบัติในทางเพศ เป็นการไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ช่วงท้ายแถลงการณ์ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า คณะตุลาการประชาชน ได้ยืนยันว่ามาตรา 1448 ที่ให้สมรสเฉพาะชายกับหญิงนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า
1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 และมาตราที่รับรองการสมรสเพียงชายและหญิงทั้งหมดขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากขัดกับหลักความเสมอภาคเพราะไม่ได้รวมบุคคลทุกคน แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนของการสมรสของหญิงและชาย
2) ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทําการศึกษาอย่างรอบด้าน เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 มาตราต่าง ๆ ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงกฎหมายเกี่ยวกับการสมรสทั้งหมดเพื่อขยายสิทธิการสมรสให้ทุกคนได้เข้าถึงให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ความเป็นธรรมและความเสมอภาคระหว่างเพศภายในหนึ่งปี
3) ในระหว่างที่มีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้อง ให้คู่รักเพศหลากหลาย จดทะเบียนสมรสได้ก่อน เพื่อรับรองสิทธิของบุคคล และให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยอนุโลม
4) ให้มีการศึกษากฎหมายหรือกฎระเบียบอื่น ๆ ที่อ้างอิงกฎหมายสมรสเดิมทั้งรัฐและเอกชนและออกกฎหมายหรือแก้ไขให้สอดคล้องใหม่ อาทิ กฎหมายว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ในการตั้งครรภ์กฎหมายว่าด้วยการรับบุตรบุญธรรม ฯลฯ ภายในหนึ่งปี
ภายหลัง เครือข่ายฯ ยังได้ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เต้นประกอบเพลง “สีดาลุยไฟ” ซึ่งนางสีดา เป็นตัวแทนของคนที่ถูกกดขี่จากทั้งพระราม ทศกัณฐ์ ที่เป็นผู้ชายอย่างหนัก จึงนำนางสีดามาเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่ถูกกดขี่ จากนั้นจึงร่วมกันนำเดินขบวนจากสกายวอล์คไปยังลิโด้ สถานที่จัดนิทรรศการ “Ob(li)vious #ซุ่มเสียง” ที่จัดขึ้นโดย องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) x เสรีเทยย์พลัส x GendersMatter เนื่องในวัน IDAHOTB เพื่อรำลึกถึงวันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ตัดสินใจยกเลิกให้การรักร่วมเพศถือโรคทางจิตเมื่อปี 1990 ซึ่งในช่วงเริ่มต้น วัน IDAHOTB เป็นวันที่จัดในนาม International Day Against Homophobia เท่านั้น
ต่อมาเมื่อความรับรู้จึงเพิ่ม Transphobia และ Biphobia เข้ามาด้วย นอกจากวัน IDAHOTB ซึ่งเป็นวันยุติความเกลียดกลัวทางเพศสากลแล้ว ในประเทศไทยยังมี “เสาร์ซาวเอ็ด” ที่เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในไทย ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ของทุกปีด้วย