เครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ ประเดิมเทศกาลกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ย้ำเตือนการมีอยู่ของขบวนการเรียกร้องสิทธิ LGBTQIAN+ เตรียมจัดพาเหรดยิ่งใหญ่ที่สีลม 5 มิ.ย. นี้ ‘ชัชชาติ’ ยัน กรุงเทพฯ ต้องโอบรับคนทุกกลุ่ม
วันนี้ (27 พ.ค. 2565) เครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ที่รวมตัวในนาม “คณะทำงานบางกอกนฤมิต ไพรด์” จัดแถลงข่าว Bangkok Naruemit Pride 2022 เทศกาลขบวนพาเหรดครั้งยิ่งใหญ่ ครั้งแรกที่จัดขึ้นบนถนนสีลม กรุงเทพฯ ในวันที่ 5 มิ.ย. 2565 เพื่อเป็นการรำลึกและเขียนบทต่อในหน้าประวัติศาสตร์ การต่อสู้ของกลุ่ม LGBTQIAN+ ในประเทศไทย
ตัวแทนยังได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ จากจุดเริ่มต้นในเดือนมิถุนายนคือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของ LGBTQIAN+ หลายประเทศทั่วโลกได้มีการจัดงาน “Pride Month” ซึ่งเริ่มจัดครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา และต่อมาเริ่มจัดในประเทศอื่น ๆ จนกลายเป็นงานที่จัดขึ้นทั่วโลกในเดือนมิถุนายนของทุกปี มีการเฉลิมฉลอง จัดขบวนพาเหรด และผลักดันให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้น เดือนไพรด์จึงเปรียบเสมือนเดือนแห่งการยืนยันและย้ำเตือนการมีอยู่ของขบวนการเรียกร้องสิทธิของ LGBTQIAN+ ทั่วโลก
- อ่านเพิ่ม Hello Pride Month! สวัสดีเดือนมิถุนายน
ขณะที่ประเทศไทยซึ่งถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนเสรี เปิดกว้าง และเป็นสวรรค์ของ LGBTQIAN+ แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีกฎหมายหรือนโยบายรับรองสิทธิ หรือยืนยันการมีอยู่ของกลุ่ม LGBTQIAN+ ที่ผ่านมาจึงมีขบวนการปกป้องสิทธิ ที่เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงเรียกร้องสิทธิด้านกฎหมายให้กับพนักงานบริการทางเพศ หรือริเริ่มแคมเปญล่ารายชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 (สมรสเท่าเทียมภาคประชาชน) เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการยื่นเข้าสภาให้เกิดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จนตอนนี้มีผู้เข้าชื่ออยู่ราว ๆ 300,000 คน
“บางกอกนฤมิตไพรด์ 2022” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ถนนสีลม ยังเป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์การมีอยู่ของกลุ่มคนเพศหลากหลายในกรุงเทพฯ และ LGBTQIAN+ ยังมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในย่านนั้น
“เราคิดว่าสังคมไทยยอมรับได้แล้ว ว่าเม็ดเงินมาจากการดูโชว์พัทยา สีลม เยอะขนาดไหน เม็ดเงินที่มาจาก sex worker เทคโนโลยีในการผ่าตัดแปลงเพศเยอะขนาดไหน เราก็เชื่อว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองเศรษฐกิจให้เคลื่อนไป เชื่อเราเถอะว่าเราคือส่วนผสมที่ลงตัวของประเทศไทยที่จะทำให้รายได้จากเศรษฐกิจลงไปถึงคนฐานราก และเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างที่รัฐบาลอยากจะให้มันเป็น เพราะพวกเรามีความสุขกับสิ่งที่เราทำ และมันก็แสดงออกมาให้คนอื่น ๆ ให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยู่แล้ว”
ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
ในงานแถลงข่าว ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. ยังได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยกล่าวชื่นชมว่า กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยความหลากหลาย สิ่งสำคัญคือการยอมรับและทำความเข้าใจ เพราะชีวิตคนไม่ใช่แค่ศูนย์กับหนึ่ง ยังมีมิติทางเพศอื่น ๆ อีกมากในสังคม ถ้าเราสอนให้ทุกคนยอมรับในความหลากหลายได้ตั้งแต่ระดับสถาบันการศึกษา สังคมก็จะมีความสุขมากขึ้น
ขณะที่มาตรการดูแลความปลอดภัย และอำนวยความสะดวก เนื่องจากคณะทำงาน “บางกอกนฤมิตไพรด์ 2022” ยังไม่ได้ขออนุญาตใช้สถานที่อย่างเป็นทางการนั้น ชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนตัวกรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง กทม. ก็ควรที่สนับสนุนอำนวยความสะดวกเท่าที่ขอบเขตของ กทม. จะทำได้ เช่น เรื่องพื้นที่ การประสานงานกับคนในพื้นที่ อะลุ่มอล่วยให้ได้มากที่สุด หากไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรง ก็ไม่ควรกีดขวางการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย สุดท้ายไม่ควรเอากฎหมายไปเป็นเครื่องมือในการจำกัดการแสดงออกของประชาชน กทม. จะต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้จะมีความต้องการที่แตกต่างกัน
The Active สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมคุณภาพชีวิต LGBTQIAN+ อย่างแรกที่จะทำหาก กกต. ให้การรับรอง ชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องของศูนย์บริการสุขภาพเพศหลากหลาย จำเป็นต้องกลับไปหารือกับเครือข่าย และภาคประชาชนก่อน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสุขภาพ แต่สิ่งที่ทำได้ทันที่คือการส่งเสริมการแสดงออกทางเพศ ของบุคลากรในสังกัด กทม.
“ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้เลย แต่งกายอย่างไรไม่เป็นไร แต่ขอให้บริการประชาชนให้ดี อย่าทุจริต คอร์รัปชัน ถ้าเขาได้แต่งกายอย่างมีความสุข เขาอาจจะให้บริการได้ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ ขอแค่อย่าเอากรอบไปครอบเขาเท่านั้นเอง”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
นอกจากชัชชาติ ยังมีตัวแทนจากสำนักงานรัฐมนตรี พรรคการเมือง ตัวแทนสถานฑูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ตัวแทนเวทีนางงาม องค์กรเอกชน รับมอบธงสีรุ้งจากคณะทำงานบางกอกนฤมิต ไพรด์ 2022 เพื่อนำไปติดแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศ