บางกอกไพรด์ 2023 ปักหมุด กรุงเทพฯ เป็นมหานครสีรุ้ง

4 มิ.ย.66 ขบวนพาเหรดความยาว 1.5 ก.ม. ภายใต้แนวคิด “Beyond…Gender” ก่อนจัดทั่วประเทศตลอดทั้งเดือนไพรด์ 19 จังหวัด

วันนี้ (2 ก.พ.66) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) กลุ่ม นฤมิตไพรด์ จัดแถลงข่าวการจัดงาน “Bangkok Pride 2023” ภายใต้แนวคิด Beyond…Gender เพื่อสนับสนุน Gender Recognition (การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ) , Marriage Equality (สิทธิการจัดตั้งครอบครัวหรือสมรสเท่าเทียม) และ Sex work is work (ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 พร้อมยกระดับมาตรฐานไพรด์พาเหรดประเทศไทย สู่มาตรฐานเวิลด์ไพรด์ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย.66 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. – 20.00 น. เริ่มต้นขบวนจากสวนลุมพินี ผ่านเส้นราชดำริ มุ่งหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ รวมระยะทาง 1.5 ก.ม.

ทีมงานนฤมิตไพรด์ กล่าวถึงความสำเร็จจาก Bangkok Pride 2022 ทำให้ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ทั้งจากประชาชนที่เข้าร่วมขบวนกว่า 13,000 คน ที่ได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร ตามนโยบาย 1 ปี 12 เทศกาล ทำให้เกิดปรากฎการณ์ส่งต่องานไพรด์ร่วมกว่า 20 ครั้ง ใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ มีสื่อมวลชนสนใจร่วมรายงานข่าว 15 ประเทศทั่วโลก จากกว่า 50 สำนักข่าว และที่สำคัญยังสร้างให้เกิดการยอมรับความเป็นตัวตนที่หลากหลาย ประเมินจากการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตคำว่า สมรสเท่าเทียมเพิ่มขึ้น 800% , LGBTQ เพิ่มขึ้น 110% แตะระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา เจาะเทรนด์ผู้บริโภคและแนวทางสำหรับธุรกิจในปี 2566

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนนฤมิตไพรด์

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ตัวแทนนฤมิตไพรด์ กล่าวว่า ไพรด์พาเหรดในครั้งนี้ ต้องการให้การเรียกร้องใน 3 ประเด็น คือ การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สมรสเท่าเทียม และการยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ถูกสื่อสารออกไปในวงกว้างเพื่อให้สังคม และภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย รับรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่กดทับพลเมืองของประเทศมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้คำว่า Beyond… ก็ยังเปิดพื้นที่ให้มีการพูดถึง หรือมีการเข้าร่วมของกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ ในสังคม เช่น เด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ คนไร้บ้าน ฯลฯ เพื่อที่จะก้าวผ่านและสร้างสังคมที่มีความเสมอภาคได้จริง

ชุมาพร ยังสะท้อนถึงบทบาทของกรุงเทพมหานคร ในฐานเจ้าของพื้นที่ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าน่าพอใจหากดูจากผลสำเร็จจากนโยบายที่ผ่านมา เช่น ไพรด์คลินิก ในพื้นที่ของ กทม. กว่า 20 แห่ง การส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ จัดให้มีช่องทางในการร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหน่วยงานภายใต้สังกัด รวมถึงการรับนโยบายให้หลักสูตรการสอนในโรงเรียนมีการพูดถึงเพศหลากหลายมากขึ้น เริ่มจากโรงเรียนภายใต้สังกัดของ กทม. ซึ่งการเริ่มต้นในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการปักหมุดหรือสร้างให้เกิด มหานครสีรุ้ง (rainbow city) ในระดับสากล ก่อนที่จะเป็นโมเดลขยายไปยังพื้นที่อื่นต่อไปให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อประชากรที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย และมีความสุข

“ที่ผ่านมาการเปิดพื้นที่ให้เราจัดไพรด์พาเหรดในกรุงเทพฯ ได้ ถือเป็นการเริ่มต้นปักหมุด rainbow city สะท้อนว่าเกิดการยอมรับความหลากหลายทางเพศในระดับพื้นที่ ถ้ายึดมาตรฐานไว้ได้เราคิดว่าที่สำคัญจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามารู้สึกปลอดภัย เศรษฐกิจ รายได้ที่เข้ามาก็จะเป็นประโยชน์ต่อเมือง เช่น อุตสาหกรรมบันเทิง การแพทย์ด้านความงาม ข้ามเพศ โดยที่พลเมืองของตัวเองก็ต้องได้รับการคุ้มครองจากผู้บริหารเมืองด้วยเช่นกัน”

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม.

ด้าน ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ทาง กทม. สำนักงานเขต และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมกันอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย ตลอดขบวนพาเหรด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกปลอดภัยและมีความสุข ขณะที่ในส่วนของ กทม. ที่ได้ประกาศนโยบาย 1 ปี 12 เทศกาล มีกิจกรรมไพรด์ถูกบรรจุอยู่ในเดือน มิ.ย. นอกจากขบวนพาเหรดวันที่ 4 มิ.ย.นี้แล้ว ยังเตรียมขยายผลต่อยอดกระแสซีรีย์วาย ที่สร้างเม็ดเงินกว่า 1 พันล้านบาท มีนักท่องเที่ยวตามรอยมาดูศิลปิน ดารา ให้เกิดเป็นซอฟพาวเวอร์อย่างจริงจัง ส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิง และการแพทย์ เช่น การให้บริการฮอร์โมน การข้ามเพศ ในสถานพยาบาลหรือหน่วยงานในสังกัดให้ได้มากที่สุด แต่สิ่งที่มากกว่าคือการรณรงค์ตลอดทั้งเดือนจะช่วยให้คนในสังคมมีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่มีความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น

“พี่น้อง LGBT+ ถือว่ามีคุณูปการต่อกรุงเทพฯ หรือทั้งประเทศเลยก็ว่าได้ ทั้งอุตสาหกรรมบันเทิง ความสวยความงามที่เราได้รับการยอมรับชื่นชม ล้วนมาจากพี่น้องในชุมชนหลากหลายทางเพศ แต่เราจะเอาแต่พูดถึงประโยชน์ไม่ได้ ถึงเวลาต้องมองเห็นถึงปัญหาของพวกเขาผมหวังว่าบางกอกไพรด์จะช่วยยกระดับความคิด ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเรนโบว์ซิตี้ให้ได้”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

ปักหมุดไพรด์พาเหรดทั่วประเทศ ตลอดเดือน มิ.ย.66 สนับสนุนสิทธิชุมชนคนหลากหลายทางเพศ เบื้องต้น 20 จังหวัด

ตัวแทนชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศจากทั่วประเทศ ยังร่วมกันอ่านถ้อยแถลงงานไพรด์ 2023 เพื่อปักหมุดหมายการจัดขบวนพาเหรดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นมารวมตัวกัน และแสดงการสนับสนุนสิทธิชุมชนคนเพศหลากหลาย ตลอดทั้งเดือน มิ.ย.66 เช่น การจัด We all Pride นำโดย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย Community Pride จังหวัดพัทยา โดยมูลนิธิสวิง และขบวนไพรด์ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดที่ยืนยันในการจัดแล้วอย่างน้อย 19 จังหวัด คือ พัทยา สุรินทร์ ขอนแก่น ระยอง อุดรธานี สงขลา ตรัง กรุงเทพมหานคร ศรีษะเกษ เชียงใหม่ แพร่ น่าน ตาก อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สุราษฏธานี ลพบุรี ลำปาง บุรีรัมย์​

ภายในงานแถลงข่าว ยังได้รับความสนใจจากสำนักนายกรัฐมนตรี, กทม., พม. ฯลฯ พรรคการเมือง อาทิ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล รวมถึงเหล่า ศิลปิน นางงาม จำนวนมาก เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันนโยบาย ความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางเพศในสังคมอย่างแท้จริง และสำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokpride.org ที่จะมีการนับถอยหลังก่อนถึงกิจกรรมวันที่ 4 มิ.ย.นี้ รวมถึงรายชื่อจังหวัดที่มีกำหนดจัดไพรด์พาเหรดเพิ่มเติม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active