ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ห่วงแสงไฟจากป้าย LED รบกวนคนกรุง เสนอร่างข้อบัญญัติคุม กำหนดช่วงเวลา ค่าแสง สร้างมาตรฐานใหม่ ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 68 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเอง ตามข้อ 17 ของกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2568 พ.ศ. …. ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2568

มลภาวะทางแสง ภัย(ไม่)มืด ที่มองไม่เห็น
ชัชชาติ ระบุว่า ปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้แสงเทียมตลอด 24 ชั่วโมง จนอาจหลงลืมไปแล้วว่า สามารถมองเห็นดาวเคราะห์ ดวงดาว และทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า เพราะลำพังเทหวัตถุ (Space Object) เหล่านั้นไม่อาจ ส่องสว่าง ได้เท่าแสงสังเคราะห์จากรถยนต์ โคมไฟถนน ป้ายโฆษณา ตลอดจน แสงเรืองบนท้องฟ้า (Sky Glow) ที่ทำหน้าที่เป็นม่านบังแสงดาว
แสงเรืองบนท้องฟ้า เกิดจากแหล่งกำเนิดแสงภายนอกอาคารที่ส่องขึ้นสู่ท้องฟ้า แสงเหล่านี้กระเจิงกับเมฆ หมอกควัน และฝุ่น ปรากฏเป็นแสงเรืองทั่วท้องฟ้าและสังเกตเห็นได้แม้จะอยู่ห่างไกลออกไป แสงเหล่านี้มีปริมาณที่สูงขึ้น โดยเพิ่มขึ้นกว่า 10% ในเขตชุมชนเมือง และกว่า 50% ในพื้นที่ชนบท

ข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวงในช่วงปี พ.ศ. 2548 – 2558 แสดงให้เห็นว่า กทม. ใช้งานพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากถึง ร้อยละ 24 สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้แสงสว่างอย่างไม่ระมัดระวังในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้เกิดมลภาวะทางแสงและสูญเสียพลังงานอย่างเปล่าประโยชน์ ฉะนั้น การใช้แสงสว่างอย่างเหมาะสม สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และการสูญเสียพลังงาน
นอกจากนี้ แสงสว่างที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่อาศัย ยังส่งผลต่อการนอนหลับและการหลั่งเมลาโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ช่วยควบคุมนาฬิกาชีวิต (Circadian Clock) ของร่างกาย ต่อมไพเนียล จะหลั่งเมลาโทนินในสภาพแวดล้อมที่มืด ช่วยให้ง่วงนอน หลับสนิท และส่งเสริมสุขภาพโดยรวม เช่น ต่อต้านอนุมูลอิสระ เสริมระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย แต่แสงรบกวนการนอนทำให้การหลั่งเมลาโทนินลดลง ส่งผลให้นาฬิกาชีวิตแปรปรวนและระบบร่างกายเสียสมดุล เช่น การนอนหลับและการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งเต้านม
เสนอข้อบัญญัติคุมแสง ลดผลกระทบจากป้าย LED
ผู้ว่าฯ กทม. บอกด้วยว่า เนื่องจากปัญหาป้ายโฆษณา LED บนทางด่วน ตามสถานที่ต่าง ๆ มีแสงสว่างมากเกินไปจนรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งตามกฎหมายไม่ได้มีการระบุชัดเจนว่าแสงเท่าไร จึงถือว่าเป็นการรบกวน แต่เป็นเพียงการกำหนดให้แค่ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ยังไม่มีการวัดในทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน ว่าป้ายไหนสร้างหรือไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญ ฉะนั้น กทม.จึงเสนอร่างข้อบัญญัติฯ เพื่อให้มีการกำหนดกฏเกณฑ์ให้ชัดเจนว่าป้ายโฆษณาจะต้องมีแสงสว่างเท่าไร เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ผู้ที่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ขับขี่สัญจรไปมาให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และจะได้ทำให้เป็นมาตรฐาน
“ผมว่าป้ายที่มีอยู่ตอนนี้สร้างความเดือดร้อนรำคาญแต่ไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด ก็อยากทำให้เป็นมาตรฐาน เอกชนก็จะได้ไม่ไปลงทุนเกินไป ประชาชนก็จะได้รับการป้องกัน”
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ทั้งนี้ กทม.ได้จัดทำร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเองตามข้อ 17 ของกฎกระทรวงว่าด้วยการควบคุมป้ายหรือ สิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 พ.ศ…. เพื่อกำหนด ค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเองตามกฎกระทรวงดังกล่าว เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติไว้
สำหรับรายละเอียดร่างข้อบัญญัติฯ กำหนดค่าแสงสว่างป้ายที่ใช้ระบบไฟฟ้าและมีแสงสว่างในตัวเองตามข้อ 17 ของกฎกระทรวงว่าด้วย การควบคุมป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2558 ต้องมีค่าแสงสว่างที่ออกจากป้าย ดังต่อไปนี้
- ช่วงเวลาตั้งแต่ 07.00 น. ถึงก่อนเวลา 19.00 น. ต้องมีค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายสูงสุดไม่เกิน 5,000 แคนเดลาต่อตารางเมตร
- ช่วงเวลาตั้งแต่ 19.00 น. ถึงก่อนเวลา 07.00 น. ของวันรุ่งขึ้น ต้องมีค่าแสงสว่างที่ออกจากป้ายสูงสุดไม่เกิน 500 แคนเดลาต่อตารางเมตร
- ส่วนป้ายที่มีค่าแสงสว่างนอกจากที่กำหนดไว้ให้ถือว่าแสงสว่างของป้ายนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อบริเวณข้างเคียง หรือรบกวนการมองเห็นสภาพการจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะจนอาจส่งผลต่อการควบคุมหรือขับขี่ยานพาหนะ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบรับการร่างข้อบัญญัติฯดังกล่าว และตั้งคณะกรรมการวิสามัญฯ กำหนดแปรญัตติใน 5 วัน และพิจารณาภายใน 60 วัน