องค์กรไวลด์เอด (WildAid) ช่วยสัตว์ป่า ชวนชาวไทยรณรงค์เลิกบริโภคหูฉลาม หลังพบว่ามีฉลาม 160 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ และยังเป็นอาหารที่ทำลายสุขภาพของคนกิน
วันนี้ (22 ม.ค. 2566) องค์กรไวลด์เอด (WildAid) ช่วยสัตว์ป่า เชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมรณรงค์เลิกบริโภคหูฉลาม ในคอนเซปต์ “ตรุษจีนนี้ ให้โอกาสฉลามได้ฉลองบ้างนะ” เนื่องจากงานรวมญาติ อย่างช่วงเทศกาลตรุษจีน คือ 1 ในช่วงเวลาที่คนไทยมีแนวโน้มบริโภคหูฉลามมากที่สุด ด้วยค่านิยมเดิม ๆ ว่าเป็นอาหารมงคลบำรุงสุขภาพ เพิ่มความหรูหรา และความมั่งคั่งมงคล
สวนทางกับสถานการณ์ประชากรฉลามที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการทำประมงเกินขนาดเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทุกวันนี้ ฉลามมากกว่า 160 ชนิด จากทั้งหมดกว่า 500 ชนิด กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ ทั้ง ๆ ที่ฉลาม มีบทบาทสำคัญที่ไม่เหมือนปลาอื่น เป็นผู้รักษาความสมดุลของมหาสมุทรที่เป็นบ้านของสัตว์ทะเล เหมือนเสือในป่า ทำหน้าที่คัดสรรสายพันธุ์ปลาชนิดต่าง ๆ ให้แข็งแรง ด้วยการล่าเหยื่อที่อ่อนแอหรือป่วย กำจัดโรคติดต่อ ควบคุมประชากรปลาและสัตว์ทะเลให้อยู่ในระดับพอเหมาะ ควบคุมพฤติกรรมสัตว์ทะเลบางชนิดให้อยู่กับร่องกับรอย เพื่อแบ่งสรรกันใช้ทรัพยากรในทะเลอย่างเหมาะสม หากฉลามหายไป ระบบนิเวศทางทะเลอาจถูกทำลาย
วิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนจะช่วยกันปกป้องฉลามและระบบนิเวศในทะเล คือ ไม่สั่งเมนูฉลามมาฉลอง ทั้งในร้านอาหารและที่บ้าน ตรุษจีนนี้และตลอดไป จึงชวนชาวไทยร่วมรณรงค์เลิกบริโภคหูฉลาม ในคอนเซปต์ “ตรุษจีนนี้ ให้โอกาสฉลามได้ฉลองบ้างนะ”
เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์กรไวลด์เอด (WildAid) กล่าวว่า จากการสำรวจความเชื่อเรื่องการบริโภคหูฉลามในงานฉลอง พบว่า ข้อเท็จจริงคนไทยกว่า 60% มีความต้องการบริโภคหูฉลาม ด้วยความอยากรู้อยากลอง เข้าใจว่าอร่อย หารับประทานยาก แม้ว่าจะมีการรณรงค์มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ก็ยังมีความต้องการอยู่ โดยที่นิยมมากที่สุดคือการรับประทานในงานแต่ง งานรวมญาติ ตรุษจีน หรือในวาระพิเศษ เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสเตือนให้ทุกคนเตือนว่าฉลองโดยไม่คุกคามฉลามได้ไหม เพราะ 1 ใน 3 ของฉลามทั่วโลกถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธ์ุ เมนูฉลามคุกคามสัตว์ผู้ล่า และเป็นเมนูที่เป็นภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค
“ฉลามเป็นสัตว์นักล่าในห่วงโซ่อาหารสูงสุด กินสัตว์ต่าง ๆ จำนวนมาก ทำให้สารพิษต่าง ๆ สะสมในร่างกายมากด้วย ทั้งน้ำเสีย ไมโครพลาสติก ที่ถ่ายทอดมาสู่สัตว์ผู้ล่าสูงสุด งานวิจัยในไมอามี่ ยังพบว่า นอกจากปรอทในเนื้อฉลามที่มีปริมาณสูงมาก ยังมีสารพิษที่ทำลายระบบประสาท เสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ปริมาณสูง พิสูจน์จากเก็บตัวอย่างหูฉลามที่จำหน่ายอยู่ การกินหูฉลามนอกจากความเข้าใจผิดว่าเป็นของดี ยังเป็นการทำร้ายตัวเองและคนที่คุณรัก ดังนั้นในโอกาสรวมญาติ ง่ายที่สุดเลยคือการไม่บริโภคฉลามและหูฉลาม อยากให้ตรุษจีนเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ควรสนับสนุนเรื่องนี้อีกต่อไปเลย”
แมนต้า พริมา สิงหะผลิน แชมป์รายการมาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย ซีซั่น 2 เล่าประสบการณ์ว่าเมื่อก่อนเคยกลัวฉลามจากการบอกเล่า แต่เมื่อได้เจอตัวจริงพบว่าเป็นสัตว์น้ำที่มีความสวยงาม เคยเจอฉลามครีบดำหลายครั้งที่มัลดีฟแต่กลับไม่เคยพบเห็นในประเทศไทย คิดว่าไม่เหมาะกับการนำมาเป็นอาหาร และเธออยากเห็นฉลามในทะเลมากกว่า อยากให้ฉลามได้อยู่ในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล
“หนูคิดว่าตอนนี้ไม่จำเป็นแล้วค่ะ ที่จะต้องมีหูฉลามในงานหรูหราหรืองานเฉลิมฉลองเพราะมีอะไรหลายอย่างที่เอามาแทนหูฉลามได้ ถ้าคนยิ่งรู้ว่าเราไม่ควรทานหูฉลามเพราะอะไรก็น่าจะมีแนวโน้มที่จะไม่ทานมากกว่า เชฟก็ไม่ควรใช้วัตถุดิบหูฉลาม ถ้ามีลูกค้าที่อยากทานก็อาจจะอธิบาย ให้เข้าใจว่าเราไม่ทำเพราะว่าอะไร ซึ่งตอนนี้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาเรื่องการทานหูฉลามมากขึ้นว่ามีผลต่อการทำให้ฉลามเสี่ยงสูญพันธุ์ ถ้าสูญพันธุ์ไปก็จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเล”