สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ และภาคีเครือข่าย ประกาศเจตจำนง ขับเคลื่อนสานพลัง

เดินหน้าเป็นกลไกที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานวัฒนธรรมและปกป้องคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย  ยกระดับศักยภาพเยาวชนพัฒนาชุมชนและประเทศ ขยายพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม เร่งดันร่างกม.ชาติพันธุ์ทุกฉบับ

วันนี้ (9 ส.ค.2566) เนื่องในวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก และวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมรณรงค์ภายใต้หัวข้อ “ พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง “ ซึ่งสอดรับกับองค์การสหประชาชาติ ที่ปีนี้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับพลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง  ที่เป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันกลุ่มเยาวชนถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาชุมชน และเป็นกำลังสำคัญส่วนร่วมต่อการพัฒนาประเทศในหลายๆด้าน จะเห็นว่าเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ตื่นตัวกลับถิ่นฐานพัฒนาชุมชน เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม ที่เป็นการจัดการทรัพยากร โดยใช้ประโยชน์ควบคู่กับการอนุรักษ์ และสื่อสารให้เห็นคุณค่าวิถีชีวิตศักยภาพชาติพันธุ์ ไปพร้อม ๆ กับการสร้างรายได้  สื่อสารผ่านโซเชียลสร้างความเข้าใจการยอมรับในตัวตนและอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ 

แต่ขณะเดียวกัน ชุมชนชาติพันธุ์หลายพื้นที่ยังเผชิญปัญหา และนโยบายที่ไม่เป็นธรรม ทั้งการจำกัดสิทธิด้านต่างๆ เช่น ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาในด้านต่างๆแม้รัฐธรรมนูญจะบัญญัติเรื่องสิทธิโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียม  แต่กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่ามีชุมชนมากกว่าร้อยชุมชนประสบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน เช่น โครงการผันลำน้ำยวม ชุมชนบางกลอย  ชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยและภาคีเครือข่าย จึงร่วมขับเคลื่อนเดินหน้าการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 

พร้อมร่วมกันอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตจำนง โดยมีรายละเอียดสำคัญระบุว่า  สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ซึ่งเป็นกลไกร่วมของขบวนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ที่มีบทบาทหน้าที่หลักในการผลักดันและติดตามนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าพื้นเมือง และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง   เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแกนนำ องค์กรชุมชน และเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง ให้สามารถแก้ไขปัญหาร่วมของตนเองในทุกด้าน รวมทั้งเป็นกลไกที่สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนบนฐานวัฒนธรรมและปกป้องคุ้มครองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย  

ที่ผ่านมา สชพ.และภาคี ได้ผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ…. ได้ยื่นให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรในชุดที่ ๒๕ และได้รับการบรรจุอยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฏร จนกระทั้งเกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา 

และเนื่องในโอกาสวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลก สชพ. ร่วมกับเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง จำนวน 46 กลุ่มชาติพันธุ์ และภาคีองค์กรที่ทำงานร่วมกัน ได้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงให้ประธานสภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร ชุดที่ 26 ได้เร่งผลักดันและพิจารณาร่าง พรบ.ดังกล่าวนอกจากนั้น สชพ.และภาคี ยังได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาระดับชาติว่าด้วยสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยครั้งที่ 7 ปี 2566 ภายใต้ธีมงาน “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง”  โดยมีเจตจำนงในการขับเคลื่อนงานกิจการสภาและขบวนของชนเผ่าพื้นเมือง ดังนี้

1) ขอสนับสนุนกิจกรรมสานพลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองในการสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคมชนเผ่าพื้นเมืองและขอความร่วมมือจากภาคีในการยกระดับศักยภาพแก่เยาวชนในการร่วมพัฒนาชุมชนและประเทศ

2) ยืนหยัดในการขยายผลต้นแบบการจัดการเขตพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงและชาวเล ตามมติครม. 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 ให้เกิดรูปธรรมการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองทุกกลุ่มชาติพันธุ์ ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย และที่สำคัญคือการผลักดันร่างกม.ชาติพันธุ์ 

“ข้อที่ 3 พวกเราจะติดตามการเร่งรัดผลักดันให้ร่าง พรบ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. และ ร่างกฏหมายฉบับอื่น ๆ ที่มีหลักการสอดคล้องกัน เพื่อให้ได้รับการพิจารณาจากรัฐสภาโดยเร็ว“ 

แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า หากประเทศไทยมีกฎหมายและนโยบายในการส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รัฐบาลยอมรับการมีตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองและมีมาตรการคุ้มครองวิถีชีวิตชนเผ่าพื้นเมืองอย่างมีรูปธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active