‘ฮีตคอง คองถิ่น’ รวมชาติพันธุ์พื้นที่อีสาน รับรู้ เตรียมพร้อมก่อน-หลัง ประกาศใช้ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ 

ประเดิม 11 ชาติพันธุ์อีสาน หวังสร้างการรับรู้ สู่ความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เล็งขยายผลกิจกรรมไปทุกภาค ดึงการมีส่วนร่วม ยอมรับวิถีความหลากหลายทางวัฒนธรรม

เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 68 สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ร่วมกับ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองภาคอีสาน, สมาคมชาติพันธุ์กูย, สภาวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร และ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดงาน “ฮีตคอง คองถิ่น วัฒนธรรมนำวิถี ชีวิอีสานมีสุข” ที่ จ.สกลนคร 

โดยมีกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่อีสาน 11 กลุ่ม ได้แก่ กูย, กะเลิง, ผู้ไท, โซ่, ญัฮกุร, ไทพวน, โทร่, ไทโย้ย, ไทแสก, ไทญ้อ และ บรู ซึ่งแต่งกายด้วยชุดพื้นถิ่นที่สวยงามหลากหลายเข้าร่วม 

เนื่องด้วยในวันที่ 9 สิงหาคม ที่กำลังจะมาถึงของทุกปี เป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญและมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเพื่อเฉลิมฉลอง และรำลึกถึงตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งอาศัยอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศมากกว่า 46 กลุ่ม 

ประกอบกับในปีนี้ มีวาระสำคัญในความคืบหน้า ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมของทั้ง 2 สภา ทำให้มีการจัดกิจกรรมใน 4 ภูมิภาค ในการรับรู้เรื่องชาติพันธ์ชนเผ่าพื้นเมือง 

โดยเริ่มต้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ภาคอีสาน จ.สกลนคร ภายใต้แนวคิด “ฮีตคอง คองถิ่น วัฒนธรรมนำวิถี ชีวิอีสานมีสุข” ทั้งนี้ได้มีขบวนแห่รณรงค์และเฉลิมฉลอง โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มชาติพันธ์ในพื้นที่อีสาน 11 กลุ่ม 

ศุรวิษฐ์ ศิริพาณิชย์ศกุนต์ กรรมการบริหารสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และอุปนายกสมาคมชาติพันธุ์กูย ในฐานะผู้ร่วมจัดงานอธิบายถึงแนวคิดการจัดงานครั้งนี้ว่า ฮีตคอง มาจากภาษาอีสานที่เป็นกลางไม่ยึดโยงกับชนเผ่าใดชนเผ่าหนึ่ง ซึ่งหมายถึงจารีต ประเพณี ที่เป็นแนวปฏิบัติกันมาแต่เนิ่นนานของบรรพชน ขณะที่ คองถิ่น สะท้อนประวัติศาสตร์ การเป็นเจ้าของพื้นที่ หรือผู้ที่ใช้พื้นที่อยู่มาก่อน โดยไม่จำเป็นต้องมีเอกสารสิทธิทางกฎหมาย เช่น การคองที่นา คองดิน คองป่า ซึ่งนำเสนอความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ชนเผ่าพื้นเมืองในอีสานเราได้เป็นอย่างดี 

ประหยัด ธานะราช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร ผู้สืบเชื้อสายภูไท ขยายนิยาม ฮีตคอง คองถิ่น ว่า วิถีปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธ์อีสานมาจากรากใกล้เคียงกัน แม้ปัจจุบันกระจัดกระจายกันไป หรืออาศัยอยู่ร่วม บางหมู่บ้านมีมากถึง 5 กลุ่มชาติพันธ์ แต่จารีตที่ถูกยึดถือจนกลายเป็น “ฮีต” มาจาก เฮือน 3 น้ำ 4 ซึ่งหมายถึง เฮือนกาย เฮือนผม เฮือนครัว และ น้ำใจ น้ำเสียง น้ำดื่ม น้ำอาบ … ทั้งหมดนั้นให้ภาพความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่ล้วนต้องดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ และอาศัยอยู่ร่วมอย่างให้ความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า การจัดงานนี้เพื่อให้ผู้คนเห็นความหลากหลาย คือ การทำให้รากเหง้าไม่ถูกกลืนกลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ายินดีและตนพร้อมสนับสนุน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลถึงอนาคตในการสืบสานรักษาสิ่งดีงามเหล่านี้ไว้

“จังหวัดสกลนครเป็นจังหวัด 3 ธรรม ได้แก่ ธรรมะ ซึ่งมีเกจิอาจารย์หลายสายอยู่ตรงนี้ มีวัดและพระธาตุเป็นศิริมงคลคู่บ้านคู่เมือง – ธรรมชาติ บ้านเรามีทรัพยากรที่หลากหลาย – ธรรม สุดท้ายคือ วัฒนธรรมประเพณี ซึ่งแค่ในจังหวัดสกลนครที่เดียวก็มีถึง 10 ชนเผ่าชาติพันธุ์แล้ว ความหลากหลายนี้ทำให้เรากลายเป็นแหล่งอุดมด้านวัฒนธรรม รวมถึงอารยธรรมที่จับต้องได้และไม่ด้อยกว่าที่อื่น การจัดงานวันชนเผ่าโลกโดยเริ่มต้นจากที่นี่ แล้วส่งต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ คือคำตอบ ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมืองบ้านเราจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและคุ้มครอง เพราะสิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบัน คือ พวกเราจะทำยังไงให้ทั้งวิถีชีวิต ประเพณี ภาษาที่หลากหลายและงดงามเหล่านี้ยังคงอยู่สืบต่อไป จะทำอย่างไรให้เรื่องราวของทุกคนเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนรู้ หรือสถาบันการศึกษา”

วีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล

ภาพ : IMN เครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง

ข้อท้าทาย พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ กับการเดินหน้าสร้างความชัดเจนแนวทางปฏิบัติ

ขณะที่เวทีเสวนา เตรียมความพร้อมของกลุ่มชาติพันธุ์ ก่อนและหลังประกาศใช้ พรบ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ ศักดิ์ดา แสนมี่ รองเลขาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ และเป็นตัวแทนชนเผ่าพื้นเมือง (ลีซู) นำเสนอภาพรวมว่า การจัดตั้งสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และการขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายที่คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นความพยายามร่วมกันระหว่างภาคประชาชนกับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลักดันกฎหมาย ยังมีข้อท้าทายหลายประการ หนึ่งในจุดอ่อนที่สำคัญคือ ความไม่ชัดเจนในสาระสำคัญของกฎหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในระยะแรก

แม้จะมีเจตนารมณ์ให้เป็นกฎหมายที่เปิดพื้นที่ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดผลจริงอย่างเป็นรูปธรรม เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในประเด็นชาติพันธุ์ ในขณะที่เสียงของข้าราชการมีอิทธิพลอย่างมากต่อการพิจารณา โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคงและทรัพยากร เช่น ป่าไม้ ที่ดิน ซึ่งมักถูกหยิบยกขึ้นมาโดยไม่ได้คำนึงถึงชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายนี้สามารถผ่านความเห็นชอบและมีผลบังคับใช้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านสิทธิต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการศึกษา การใช้ทรัพยากร การเข้าถึงบริการพื้นฐาน และสิทธิในการดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิม 

สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหา และสร้างการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชน ข้อท้าทายสำคัญ อยู่ที่การทำให้พี่น้องในชุมชนชาติพันธุ์รับรู้และเข้าใจเนื้อหาของกฎหมาย โดยต้องใช้ ภาษาของเราเอง ในการสื่อสารผ่านสื่อที่เข้าถึงชุมชน เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง 

ย้ำผลักดันการมีส่วนร่วม กฎหมายรับรองสิทธิ ยอมรับวิถีชีวิตชาติพันธุ์

ชัยยุทธ วัยเหนืดลื้อ ตัวแทนสภาเผ่าพื้นเมืองจากภาคอีสาน แสดงความเป็นห่วง และยอมรับว่ายังกังวล กลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงแบบตน มีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่า โดยอาศัยพื้นที่ป่าในการดำรงชีวิต เช่น การเลี้ยงวัว การทำกิน และการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม ปัจจุบันในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเลิงมีเขตอุทยานแห่งชาติอยู่ถึง 2 แห่ง ซึ่งมีการประกาศนโยบายว่าจะทำการ “ปิดป่า” จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องชาติพันธุ์ที่อาศัยและใช้ประโยชน์จากป่า 

แม้ว่าภายหลัง ทางอุทยานจะยอมให้ชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่และใช้ประโยชน์จากป่าได้ แต่สถานการณ์ยังคงเปราะบาง เนื่องจากยังไม่มีหลักประกันในสิทธิที่ชัดเจน ทั้งนี้ พี่น้องในชุมชนมีวิธีการดูแลป่าตามภูมิปัญญาท้องถิ่น มีคำสอนและพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาเพื่อรักษาป่า เช่น การกำหนดเขตห้ามล่าสัตว์ การรักษาต้นน้ำ และการจัดการพื้นที่ป่าแบบมีส่วนร่วม

“การจัดทำกฎหมายจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย เพื่อสะท้อนวิถีชีวิตและความรู้ท้องถิ่นที่มีอยู่จริง และต้องตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า เหตุใดจึงยังมีแนวคิดที่ไม่ยอมรับให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้อยู่อาศัยในป่า ทั้งที่พวกเขาอยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน และมีระบบดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนในแบบของตนเอง สำหรับความคาดหวัง คือการมีกฎหมายที่รับรองสิทธิ และยอมรับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งจำเป็นในการแก้ไขปัญหาและลดความขัดแย้งในระยะยาว”

ชัยยุทธ วัยเหนืดลื้อ

ประหยัด ธานะราช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร ย้ำว่า หากไม่มีพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม กฎหมายนี้ก็พิกลพิการ โดย รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้ กฎหมายใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้ หลักการนี้มีความสอดคล้องกับแนวคิดดั้งเดิมของสังคมไทย เช่น “ฮีต 12 คอง 14” ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ประชาชนยึดถือกันมาแต่โบราณ ตัวอย่างเช่นคำว่า “ฮีตเจ้า คองขุน” สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนที่อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมและการเคารพซึ่งกันและกัน ดังนั้นหากกฎหมายออกโดยคนกลุ่มน้อยเพื่อบังคับคนกลุ่มใหญ่ ถือว่าเป็นการปกครองแบบเผด็จการ 

สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การออกกฎหมายต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของทุกกลุ่มในสังคม สำหรับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ แม้บางคนจะยอมรับได้หากไม่ได้รับสิทธิครบถ้วนตามที่เรียกร้อง แต่ตนเชื่อว่า กฎหมายควรให้สิทธิครบตามที่ประชาชนต้องการ เพราะกฎหมายต้องมาจากประชาชน และหากคนกลุ่มใดเป็นผู้ออกกฎหมาย ก็มักจะสะท้อนผลประโยชน์ของกลุ่มนั้นเป็นหลัก กลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศต่างดำรงชีวิตตามจารีตประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดมา การออกกฎหมายใด ๆ ควรเคารพและไม่ขัดต่อวิถีชีวิตเหล่านี้ เพราะกฎหมายที่ขัดต่อจารีต ย่อมไม่สามารถนำไปสู่ความปกติสุขของบ้านเมืองได้

การขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ จึงต้องมีการผสานวัฒนธรรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาและกระบวนการอย่างแท้จริง สำหรับความคาดหวังต่อ กฎหมายลูก ที่จะตามมาในอนาคต คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากมีการยุบสภา กฎหมายลูกจะตกไปหรือไม่ ตรงนี้ไม่ต้องวิตกมากนัก เพราะยังคงมีกฎหมายหลัก เช่น พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงและคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมไว้ดังนั้น เราควรเดินหน้าผลักดันให้กฎหมายลูกที่ออกมานั้น สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ และสะท้อนจิตวิญญาณของกฎหมายแม่ เพื่อให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง

ชาวเลช้ำ ทำยังไงก็กลายเป็นผู้บุกรุก 

เช่นเดียวกับ เดียว ทะเลลึก สมาชิกสภาเทศบาลเกาะลันตา บอกว่า สำหรับภาคใต้ มีกลุ่มชาติพันธุ์หลักได้แก่ มอแกลน, มอแกน, อุรักลาโว้ย, มันนิ, พวกเราพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะผลักดัน พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์ฯ เนื่องจากพวกเรากำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างหนัก ปัญหาหลักที่เราเผชิญคือที่อยู่อาศัยถูกนายทุนและเอกชนเข้ามาแย่งยึด ที่ทำกินถูกประกาศทับซ้อนโดยหน่วยงาน เช่น อุทยาน พื้นที่ทางวัฒนธรรม รวมถึงพื้นที่สำคัญอย่างสุสานบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นรากฐานของวิถีชีวิตเรา 

แม้จะเคยมีการผลักดันมติคณะรัฐมนตรีชาวเลมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้อย่างเต็มที่ เพราะหากกฎหมายนี้เกิดขึ้น จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตของเราอย่างแท้จริง เมื่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สิ่งที่เราต้องทำต่อไปคือ ทำความเข้าใจในตัวบทกฎหมายอย่างละเอียด เพื่อให้มีข้อมูลที่แข็งแกร่งในการเจรจาต่อรอง และปกป้องสิทธิของเรา 

ดังนั้น การจัดทำข้อมูลที่ชัดเจนและครบถ้วนเกี่ยวกับความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละกลุ่มหลังจากนี้ รวมทั้งฐานข้อมูลประชากรในพื้นที่ต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับความคาดหวังต่อกฎหมายลูกก็อยากอยากให้อยู่ดี กินดี ไม่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ดั้งเดิม ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ เพื่อให้คงอยู่ และสามารถสืบทอดความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองส่งต่อรุ่นลูกหลานต่อไปได้

ขยายผลเวทีความเข้าใจ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ทั่วประเทศ

สำหรับเวทีที่เกิดขึ้นที่ จ.สกลนคร ครั้งนี้ ถูกคาดหวังให้พื้นที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสะท้อนเสียงของตนเอง จากนี้จะถูกส่งต่อไปยังเวทีในภาคเหนือ กลาง และใต้ เพื่อรวมพลังสะท้อนไปถึงผู้มีอำนาจในสภาให้เห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เพราะพวกเราคาดหวังว่า หากกฎหมายนี้ได้รับความเห็นชอบ มี จะช่วยให้พวกเราสามารถมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปพร้อมกับสร้างการเรียนรู้ เพื่อสะท้อนวิถีของชุมชนเราออกมาอย่างแท้จริง 

“พวกเราพร้อมสนับสนุนและผลักดันให้ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เกิดขึ้น เพราะเราเชื่อว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมคือความงดงามของประเทศนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ปัญหาหลักที่ชุมชนกำลังเผชิญคือ เสี่ยงสูญเสียภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง หากมีกฎหมายนี้ ก็หวังว่าพวกเราสามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างสง่างาม มีศักดิ์ศรี เป็นที่ยอมรับในสังคม และส่งมอบภาษา วัฒนธรรมและคุณค่าหลักสืบต่อไปได้”

ในช่วงท้ายของการจัดกิจกรรม ยังได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม โดยเฉพาะเรื่องการจัดทำฐานข้อมูล ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินงานรณรงค์และสร้างการรับรู้ในประเด็นต่าง ๆ เนื่องจากข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้ จะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงตัวตนศักยภาพ ตลอดจนความต้องการของชุมชนได้อย่างชัดเจน การมีฐานข้อมูลที่เป็นระบบ จะเอื้อต่อการดึงข้อมูลมาใช้ในการสื่อสาร สร้างความเข้าใจต่อสาธารณะ ซึ่งทุกฝ่ายสามารถนำไปใช้เป็นจุดอ้างอิงเดียวกัน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่กว้างขวางขึ้นในสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active