คาดหวังใช้อำนาจเต็ม ในบทบาทนั่งรักษาการนายกฯ ดันร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ ฉบับประชาชน เข้าสู่สภาฯ ก่อนหมดอายุรัฐบาล ขู่ม็อบใหญ่หากไร้ความคืบหน้า
วันนี้ (3 ก.ย.65) สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในฐานะตัวแทนภาคประชาชนผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ให้สัมภาษณ์กับ The Active ถึงกรณีที่ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน ระบุว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีความคืบหน้า และยังไม่ได้ลงรายละเอียด กรณีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองของกลุ่มพีมูฟ ที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งลงนามรับรอง หลังถูกตีความเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ที่ผ่านมา
ที่ปรึกษาพีมูฟ เห็นว่า การตอบคำถามนี้ของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สะท้อนถึง ความไม่มีอำนาจของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ขณะนั้นทำให้เรื่องนี้ไม่มีความคืบหน้า แต่ตอนนี้ พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงเห็นว่ามีอำนาจเต็มที่จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้ได้
เพราะหากพิจาณาตามเงื่อนเวลา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ที่ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2564 และเดือนมกราคม ปี 2565 สภาผู้แทนราษฎร ได้ตรวจสอบรายชื่อ ซึ่งครบตามองค์ประกอบเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย แต่ว่าร่างกฎหมายดังกล่าว กลับถูกตีความว่าเป็นกฎหมายว่าด้วยการเงิน ต้องให้นายกรัฐมนตรีรับรอง พีมูฟจึงได้ติดตามการแก้ไขปัญหาเมื่อปลายเดือนมกราคม จนมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น 1 ใน 15 ข้อตกลง ว่า รัฐบาลจะให้การสนับสนุนร่างกฏหมายฉบับของรัฐบาล ที่ดำเนินการยกร่างโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน ) รวมถึงร่างกฎหมายที่พีมูฟเสนอ ซึ่งเป็นฉบับประชาชนเข้าชื่อ ที่นายกรัฐมนตรีต้องลงนาม และในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ที่มี พล.อ.ประวิตร เป็นประธาน ก็ยืนยันว่าพร้อมสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ว่าอำนาจหน้าที่ในการลงนามเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร จะไปสั่งการเร่งรัดไม่ได้
จากวันนั้นพีมูฟ พยายามติดตามความคืบหน้ามากอย่างต่อเนื่อง และในการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ก็ถามความคืบหน้า ได้คำตอบว่า เรื่องนี้อยู่ที่นายกรัฐมนตรี และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ซึ่งตรงกับวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ตัวแทนของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ไปยื่นหนังสือติดตามเรื่องนี้อีกครั้ง ก็ทราบว่าเรื่องนี้อยู่หน้าห้องนายกรัฐมนตรี กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรี ยุติการปฏิบัติหน้าที่ และพล.อ.ประวิตร ขึ้นมารักษาการนายกฯ ก็ถือว่ามีอำนาจเต็มที่จะดำเนินการเรื่องนี้ จึงขอให้เร่งรัดลงนามรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว
“วันนี้ท่านรักษาการนายกฯ ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมด้วย ทราบเรื่องเงื่อนไขทั้งหมดดี เดิมท่านบอกว่าไม่ใช่อำนาจหน้าที่ท่าน แต่ตอนนี้ท่านมีอำนาจหน้าที่โดยตรงแล้ว ก็ควรหยิบเรื่องนี้มาพิจาณา เพราะทราบว่า ทุกหน่วยงาน ได้มีความเห็นต่อร่างรัฐบาล และร่างของประชาชน ที่เสนอความเห็นจากหน่วยงานต่างมาอยู่แล้ว “
สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
ที่ปรึกษาพีมูฟ บอกอีกว่า การที่นายกรัฐมนตรี หรือรักษาการนายกฯ จะรับรองหรือไม่รับรอง ความเห็นของหน่วยงาน เป็นแค่ส่วนประกอบ หลักสำคัญที่จะพิจารณา ว่าควรจะลงนามรับรอง เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2562 ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะส่งเสริมกฎหมายอนุรักษ์และทำการคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ และกฎหมายฉบับนี้ ยังอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ ว่าด้วยการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ รวมถึงอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่ง พล.อ.ประวิตร มีอำนาจพิจารณา และหยิบยกเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน
“ผมคิดว่าท่านประวิตร ต้องทำให้เห็นความแตกต่างจากท่านประยุทธ์ เพราะท่านประวิตรมีคนคาดหวังมากกว่า ที่ผ่านมาท่านลงพื้นที่ไปดูปัญหาประชาชน ไปดูคดี หนี้สิน ที่ดิน ความยากจน มีบทบาทและภาพลักษณ์ตรงนี้มากกว่าประยุทธ ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธเป็นนายกรัฐมนตรีมา 8 ปีพวกเราไม่เคยจะเจอสักครั้ง แต่ว่าท่านประวิตร อย่างน้อยพวกเราได้เจอได้นั่งประชุมร่วมกัน 3-4 ครั้งแล้ว ”
สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
ที่ปรึกษาพีมูฟ ยังเห็นว่า รัฐบาลไม่ควรประวิงเวลา จนอายุรัฐบาลนี้หมดไป และสุดท้ายร่างของประชาชนก็จะตกไป เพราะไม่แน่ใจว่าร่างของประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ถ้านายกฯ ไม่รับรอง สถานะจะเป็นยังไง ถ้ารัฐบาลรับรองอย่างน้อย ๆ ร่างกฎหมายนี้ จะตกอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามา หรือสภาชุดใหม่เข้ามา ก็จะสามารถหยิบยกเพื่อทำการพิจารณาต่อไปได้
“ร่างกฎหมายของประชาชนที่มีสัดส่วนของผู้แทนชาติพันธุ์ ชนเผ่าต่าง ๆ ในชั้นกรรมาธิการพิจารณากฎหมาย ก็จะมีผู้เสนอกฎหมาย หรือว่าภาคส่วนของชาติพันธุ์เข้ามาร่วมพิจารณา จะก่อให้เกิดความเป็นสากล ก่อให้เกิดการได้ยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งเราคิดว่าอันนี้จะเป็นหน้าตาของประเทศ เพราะเราไปรับรองเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยชาติพันธุ์ไว้แล้ว อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องเร่งรัดติดตามให้นายกรัฐมนตรีรักษาการคนปัจจุบัน หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาและลงมือในการรับรองในทันที”
สุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
ที่ปรึกษาพีมูฟ ยืนยันด้วยว่า หากภายในเดือนกันยายนนี้ ไม่มีความคืบหน้า ต้นเดือนตุลาคม ซึ่งสัปดาห์แรกเป็นวันที่อยู่อาศัยสากล ทางพีมูฟ เครือข่ายสลัมสี่ภาค และภาคประชาชนทุกภาคส่วน จะไปเร่งรัดติดตามกับรัฐบาล เนื่องในที่อยู่อาศัยสากล และติดตามความคืบหน้าตามมติ ครม. 15 ข้อ ซึ่งมีเรื่องของร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ รวมอยู่ด้วย