รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ตั้งกรรมการแพทย์ ดูแลกรณี “ตะวัน-แบม”

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ​ ชี้เป็นกรณีศึกษาที่ซับซ้อน ยืนยันทำสิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุดก่อน 

29 ม.ค. 2566 รศ.นพ.พฤหัส ต่ออดุม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีนักกิจกรรม “ตะวัน-แบม” อดน้ำ อดอาหาร เข้ารักษาตัวอยู่ที่ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ตอนนี้ว่า โรงพยาบาลได้ตั้งกรรมการแพทย์ และมีสหวิชาชีพ ทั้งในแง่ของผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรค และผู้เชี่ยวชาญเรื่องจริยธรรมด้านกฎหมาย ให้คอยดูแล แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ โดยจุดยืนเราเน้นประโยชน์ของผู้ป่วย เพราะทั้งสองท่านก็ถือเป็นผู้ป่วยของเรา

“ถ้าเป็นในเรื่องของอาการฉุกเฉิน เราก็ยืนยันที่จะช่วยเหลือในจุดนี้ แต่คำว่าฉุกเฉินระดับไหนแค่ไหน อย่างไร ในกรณีที่คนไข้มีใบเซ็นยินยอมเรื่องใดไว้บ้าง มันก็จะเป็นรายละเอียดที่ลึกลงไป”

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออดุม

โดยในขณะนี้ “ตะวัน-แบม” ยังไม่มีการเซ็นเอกสารอะไรไว้ ส่วนกรณีที่มีการสอบถามว่าโรงพยาบาลจะสามารถรายงานอาการของ “ตะวัน-แบม” เป็นรายวันได้หรือไม่ ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ บอกว่า  เจ้าของข้อมูลก็คือผู้ป่วยจะแถลงหรือจะดำเนินการ มองว่ามันมีสองประเด็นก็คือทั้งเป็นคุณ และเป็นโทษในสถานการณ์แบบนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องขอปรึกษาในกรรมการแพทย์ และอาจจะต้องดูให้ชัดเจนมากขึ้น  

อย่างไรก็ตามในกรณีผู้ป่วยปกติถ้าฉุกเฉิน ทางโรงพยาบาลก็ดำเนินการได้ในทุกกรณี เช่น สัญญาณชีพไม่คงที่ มีการเสียเลือดมาก ก็จำเป็นต้องผ่าตัดหรือว่าใส่ท่อช่วยหายใจในกรณีฉุกเฉิน ก็ดำเนินการได้ แต่ในกรณีนี้อาจต้องอาศัยการตัดสินใจจาก “กรรมการแพทย์” และอาจจะต้องคุยในเชิงลึกหรือรายละเอียดกับทางผู้ป่วยทั้งสองท่านด้วย เพราะว่าการตัดสินใจก็คงลำบากที่เราจะมาบอกว่าทั้งสองท่านจะตัดสินใจอย่างไร หรือทางโรงพยาบาลจะตัดสินใจอย่างไร

นพ.พฤหัส มองว่าตอนนี่้มีสองประเด็น หนึ่งเรื่องสิทธิผู้ป่วย สองเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพแพทย์ สองประเด็นนี้เราไม่มีความห่วงใยเพราะจะมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอะไรที่มันเป็นมุมที่เกี่ยวกับกฎหมายเนื่องจากน้องก็ไม่ได้เป็นผู้ป่วยทั่วไป อยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ เราก็ต้องศึกษาอย่างชัดเจนอีกทีว่า อะไรทำได้อะไรทำไม่ได้

“ถ้าอยู่ในระดับของสองฝ่ายคือแค่ผู้ป่วยกับแพทย์ ก็จะมีเพียงเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพแพทย์เรื่องของสิทธิผู้ป่วย ตรงนี่เราแม่นอยู่พอสมควร แต่พอเป็นเรื่องกฎหมายกฎระเบียบหรือข้อบังคับของราชทัณฑ์ ซึ่งมีขอบเขตอำนาจของเขาอยู่ ก็เลยทำให้เราทำสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากที่สุดก่อนเรื่องกฎหมายเรื่องอะไรก็ต้องทิ้งไว้ ก็ควรต้องปรึกษาทางราชทัณฑ์ และทนาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอสมควร” 

นพ.พฤหัส

อ่านเพิ่มเติม ‘ทิชา ณ นคร’ วอนเข้าใจเจตนา ‘ตะวัน-แบม’ ปลุกสังคมหยุดความสูญเสีย https://theactive.net/news/politics-20230128/

แพทย์ต้องทำอย่างไร? หากคนไข้อดอาหาร ไม่ยอมรับการรักษา

สำหรับผู้ประท้วงที่เป็นนักโทษหรือเป็นผู้ถูกควบคุม โดยพวกเขาใช้ Hunger Strike หรือ การอดอาหาร เป็นเครื่องมือในการเรียกร้อง แพทย์จะทำอย่างไร โดยเฉพาะในสภาวะที่พวกเขาไม่ยอมให้รักษา/หรือไม่ให้กู้ชีวิต ที่จะไม่ขัดต่อจริยธรรมของแพทย์

“ปฏิญญาแพทย์กรณีคนไข้อดอาหาร” ซึ่งจัดทำโดย World medical association (WMA) ได้ให้หลักการว่า แพทย์ควรพยายามสื่อสารกับผู้ป่วย เพื่อรับทราบความต้องการ และต้องหลีกเลี่ยงการบังคับหรือการรักษาที่ไม่ดี หากผู้ป่วยปฏิเสธแล้ว การกดดัน/บังคับ ให้เขารับอาหารเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม จึงต้องเคารพการตัดสินใจของเขา แต่บางทีผู้ป่วยอาจจะให้ความยินยอมแบบเป็นนัย ถ้าเช่นนั้นก็พอจะให้อาหารได้ โดยยืนบนหลัก เพิ่ม Benefit และลด Harm ของผู้ป่วย

แล้วแพทย์ต้องทำอย่างไร? หากคนไข้อดอาหาร ไม่ยอมรับการรักษา โดยไม่ขัดจริยธรรมแพทย์ The Active ได้สรุปความเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน ไว้ดังนี้

– แพทย์ควรพยายามสื่อสารกับผู้ป่วย เพื่อรับทราบความต้องการ หลีกเลี่ยงการบังคับหรือการรักษาที่ไม่ดี

– ต้องเคารพการตัดสินใจ…หากผู้ป่วยปฏิเสธ การ “กดดัน/บังคับ” ให้เขารับอาหาร เป็นเรื่อง “ไม่ชอบธรรม” 

– แพทย์มี 2 หน้าที่  1. ทำตามหน้าที่ให้ “โรงพยาบาล” เช่น รพ.ราชทัณฑ์  2. ทำตามหน้าที่ต่อ “คนไข้”  มีอิสระ เลือกสิ่งดีให้คนไข้ ทำงานอย่างเป็น “ภววิสัย” ตามมาตรฐาน ไม่ถูกกดดัน

– ต้องรักษาความลับ แต่การเปิดเผยข้อมูล หากมีเหตุเพื่อช่วยผ่อนคลายสถานการณ์ก็อาจ “จำเป็น” และควรได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้อง

– ความไว้วางใจ ระหว่าง “แพทย์” กับ “คนไข้” หากมีเหตุใดกระทบต้องสื่อสารกันให้เข้าใจ

– การประเมินภาวะทางจิตของ “คนไข้” ต้องพร้อมเข้าใจเรื่องราว และการตัดสินของตน

– แพทย์ควรให้ข้อมูลผลกระทบที่ตามมาจากการ “การอดอาหาร” (Hungry strike) เพื่อให้ตัดสินใจ

– แพทย์ต้องสื่อสารกับ “คนไข้” ตลอดในแต่ละวัน เพราะสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง อาจเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนการตัดสินใจ ซึ่งอาจต้องบันทึกเจตนาไว้เป็นหลักฐานด้วย

– การรับอาหาร/รับการรักษา ต้องให้เป็น “เจตจำนงของคนไข้” อย่างแท้จริง อย่าขู่บังคับ ถ้าจะรักษาต้องไม่มีเงื่อนไขเช่น ใส่กุญแจมือ, ผูกคนไข้ไว้กับเตียง บางครั้งผู้ป่วยอาจยอมรับ/ไม่รับการรักษาบางเรื่อง ต้องแยกแยะ ไม่เหมารวม

– ถ้าแพทย์ทำงานต่อไม่ได้ด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ จะต้องส่งต่อให้แพทย์คนอื่นที่พร้อมมาดำเนินการแทน

– หากคนไข้มีภาวะการรับรู้ตัวที่เปลี่ยนไป แพทย์ยังคงต้องพยายามทำตามเจตนาที่คนไข้ให้ไว้ เว้นแต่มีสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

– หากคนไข้ไม่สามารถสื่อสารได้อีก แพทย์ควรดำเนินการอย่างเหมาะสม โดยต้องชั่งน้ำหนักยึดถือกับสถานการณ์ทางสุขภาพของคนไข้ 

– การให้อาหารแทนอาจกระทำได้ เท่าที่คนไข้ยอมรับ หากผู้ป่วยกินอาหารได้เองแล้ว ต้องพิจารณาแนวทางการดำเนินการอีกครั้ง

ที่มา https://www.wma.net/policies-post/wma-declaration-of-malta-on-hunger-strikers/

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active