ฝากติดตาม ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า หากผ่านประกาศใช้เป็นกฎหมาย ผู้บริโภค จะมีทางเลือกมากขึ้น ได้ชิมเบียร์รสชาติใหม่ ๆ ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ผู้ผลิตเบียร์เจ้าใหม่ ๆ จะได้ริเริ่มใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรุงเบียร์
วันนี้ (5 ส.ค. 2565 ) ทุกวันศุกร์แรกของเดือนสิงหาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันเบียร์สากล จากผู้ที่สนใจและชื่นชอบเบียร์ ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 5 สิงหาคม วันเบียร์สากล หรือ International Beer Day ซึ่งเป็นวันหยุดประจำปีอย่างไม่เป็นทางการสำหรับคนรักและผู้ผลิตเครื่องดื่มนี้ โดย วันเบียร์สากล เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2550 ในเมืองซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยเกิดขึ้นเพื่อเป็นการให้เกียรติแก่นักบ่มเบียร์ทั้งหลาย ที่สร้างสรรค์ผลงานรสชาติเยี่ยมออกมา การยกแก้วฉลองนี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกและจากเทศกาลที่เกิดขึ้นเพียงในท้องถิ่น ก็ขยับเป็นงานระดับนานาชาติ – ในปี 2555 ซึ่งมีการเฉลิมฉลองแล้วใน 207 เมืองจาก 50 ประเทศใน 5 ทวีป นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว วันเบียร์ยังมีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศในยุโรป อเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ แอฟริกา และรวมถึงเอเชียด้วย
การเฉลิมฉลองในวันนี้ไม่มีอะไรมากมาย ตามธรรมเนียมในวันเบียร์สากล งานหลักจะจัดขึ้นในผับ บาร์ และร้านอาหาร ซึ่งผู้เข้าร่วมในวันหยุดทุกคนสามารถลิ้มรสเบียร์ได้ บางที่ก็จะมีการนำเบียร์ที่ตัวเองบ่มมาแลกเปลี่ยนกัน พูดคุยความรู้เกี่ยวกับเบียร์ เทคนิคต่างๆ ไม่เพียงแต่หลากหลายสายพันธุ์ แต่ยังรวมถึงผู้ผลิตที่แตกต่างกันจากประเทศต่าง ๆ
ด้าน เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ได้ออกมาเคลื่อนไหว ในวันเบียร์สากลปีนี้ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร – Taopiphop Limjittrakorn โดยระบุ ถึงการมีอยู่ของความหลากหลายของเบียร์ในโลก แต่ขณะเดียวกันที่ประเทศไทยแทบจะมีประเภทเดียว
“ขอเชิญทุกท่านมารู้จักกับ #วันเบียร์สากล ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2007 เพื่อเฉลิมฉลองให้กับเบียร์ที่มีอยู่อยากหลากหลายบนโลกนี้
.
จากเบียร์กว่าร้อยพันแบบในโลกนี้ ผู้ดื่มแต่ละท่านก็คงจะมีสไตล์เบียร์ที่ตัวเองชอบอยู่ในใจแล้ว
แต่ผู้ก่อตั้งการเฉลิมฉลองนี้ อยากให้นักดื่มทั้งหลายลองออกจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง ลองลิ้มชิมรสเบียร์สไตล์ใหม่ๆบ้าง
เพื่อเป็นการเปิดโลก โอบรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย ให้เราได้เข้าใจกันโดยมีจุดร่วมเดียวกันคือ “ความชอบเบียร์”
.
แต่ลองมองดูในประเทศไทย เมื่อพูดถึงเบียร์ทุกคนกับคิดถึง #น้ำสีทอง อยู่แบบเดียวเสียด้วยซ้ำ ทั้งที่ความเป็นจริงเบียร์สามารถเป็นอะไรได้หลากหลายกว่านั้นเยอะ #มากมาก ทั้งนี้เพราะตลาดของเรายังไม่หลากหลายนั่นเอง ”
เท่าพิภพ ยังระบุว่า ฝากทุกคนช่วยติดตาม พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เพราะหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านประกาศใช้เป็นกฎหมาย ผู้บริโภคก็คงจะมีทางเลือกมากขึ้น เพราะผู้ผลิตเบียร์เจ้าใหม่ ๆ ก็คงจะริเริ่มใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรุงเบียร์ออกมาเป็นรสชาติที่หลากหลาย ผู้บริโภคก็จะมีทางเลือกมากขึ้น และได้ชิมเบียร์รสชาติใหม่ๆในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม
ด้าน เพจเฟซบุ๊ก ประชาชนเบียร์ เครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อน และผลักดัน พ.ร.บ สุราก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ระบุว่า ในหลายประเทศมีวันสุราประจำชาติของตัวเอง ที่มาพร้อมกับผู้ผลิตที่หลากหลาย ทั้ง รายเล็ก รายใหญ่ กระจายรายได้ไปทั่วประเทศ รัฐสนับสนุนและร่วมพัฒนาเหล้า เบียร์ ไวน์ จนเป็นของดีประจำชาติของตัวเอง ขนาดที่ว่าพวกเราคนไทยเองยังต้องนำเข้ามาดื่มกัน
“ส่วนในบ้านเรามีวันงดดื่มสุราประจำชาติ รัฐออกกฎหมายอ้างห่วงสุขภาพประชาชน เหล้า เบียร์ ไวน์ สาโทของไทยที่มาจากรายเล็ก ๆ เข้าไปในตลาดได้ยาก จนสุดท้ายแม้แต่ทำดื่มเองก็ยังผิดกฎหมาย แต่รายได้จากสุราหลายแสนล้านบาทกระจุกตัวอยู่แค่ไม่กี่บริษัท”
ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ. สรรพสามิต ฉบับที่.. พ.ศ.… หรือที่เรียกว่า “ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ยังคงอยู่ในชั้นกรรมาธิการของสภา หลังผ่านการลงมติเห็นชอบในวาระแรกแล้ว เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ด้วยมติเห็นด้วย 178 เสียง ไม่เห็นด้วย 137 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง