โกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟ จ.นราธิวาสระเบิด บทเรียนซ้ำรอยเหตุมองข้าม

นักวิชาการย้ำไทยมีกฎหมายบังคับ แต่หากมองข้ามไม่บังคับใช้จริงจัง เป็นเหตุเกิดโศกนาฎกรรมซ้ำรอยสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน แนะผู้เกี่ยวข้องหมั่นตรวจสอบ กำกับดูแล พร้อมให้ความรู้ชุมชน ยึดหลักประชาพิจารณ์ก่อนก่อตั้ง เน้นความปลอดภัย

วันนี้ (30 ก.ค.2566) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ สำรวจและให้ความช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุดอกไม้ไฟระเบิดในพื้นที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดย ณ เวลา 11.00 น.ของวันที่ 30 ก.ค.2566 เพจของสำนักงานประชาสมพันธ์จังหวัดนราธิวาส ได้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 12 ศพ บาดเจ็บ 121 คน ขณะที่มีรายงานบ้านเรือนเสียหายกว่า 200 หลัง ขณะที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ความสูญเสียดังกล่าวไม่ใช่เหตุการณ์แรก เพราะก่อนหน้านี้ไม่ถึงสัปดาห์ เกิดเหตุโรงงานผลิตพลุดอกไม้ไฟใน อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ระเบิด ซึ่งเหตุซ้ำรอยที่เกิดขึ้น ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้

ย้อนไปที่ จังหวัดนราธิวาส ผู้ประสบภัยที่เห็นเหตุการณ์วานนี้ เปิดเผยว่า โกดังเก็บประทัดที่ระเบิดเกิดขึ้นอยู่ด้านหลังของตลาดมูโนะห่างออกไปประมาณ 500 เมตร ขณะเกิดเหตุตนเองพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน ได้ยินเสียงตูมดังมากจากนั้นก็มีเสียงระเบิดเกิดขึ้นต่อเนื่องบ้านเรือนสั่นไหวรุนแรง ซึ่งขณะนั้นมั่นใจว่าไม่ใช่การก่อเหตุสร้างสถานการณ์ความไม่สงบจึงวิ่งออกมาดู ได้เห็นบ้านเรือนถูกแรงระเบิดจนพังเสียหาย

ขณะที่แรงระเบิดได้สร้างความเสียหายรัศมีวงกว้างกว่า 500 เมตร ทำให้ตลาดมูโนะที่อยู่ห่างออกไปได้รับความเสียหายทั้งหมด พร้อมย้ำว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการ และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่เข้มงวดมากพอ จึงอยากเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ และต้องผลักดันให้นำประทัดออกไปจากพื้นที่ อีกทั้งต้องให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้น

โดยบ้านที่เขาพักอาศัย เวลานี้อยู่อาศัยไม่ได้แล้ว เสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลาดมูโนะ เพราะที่นี่เป็นตลาดชายแดนสำคัญของอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งปกติจะเปิดตลาดนัดทุกเย็นวันจันทร์ และ ในวันศุกร์เปิดตลอดทั้งวัน โดยมีมูลค่าทางการตลาดสูงมากจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย และคนไทยต่างพื้นที่

สนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สั่งการตั้งศูนย์พักพิงให้กับผู้ได้รับผลกระทบ  พร้อมจัดโรงครัวพระราชทานและทหารจิตอาสา ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุ  โดยเฉพาะ อาหาร น้ำดื่ม และที่พักอาศัย โดยใช้พื้นที่สนามกีฬาเทศบาลมูโน๊ะเป็น ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุพลุไฟระเบิด เป็นศูนย์อพยพชั่วคราว

สำหรับความเสียหายในขณะนี้ ผู้บาดเจ็บเล็กน้อย 106 คน หลังได้รับการรักษาพยาบาลเบื้องต้นสามารถกลับบ้านได้ และบาดเจ็บสาหัส 15 คน รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก และโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตมี เด็กชาย 1 คน เด็กหญิง 1 คน และมีบ้านเรือนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างเบื้องต้นได้รับความเสียหายหนักอย่างน้อย 200 หลังคาเรือน

เบื้องต้นพบสาเหตุคาดว่าจะเกิดจากการเชื่อมเหล็กในโกดังเก็บประทัด แล้วเปลวไฟได้กระเด็นไปติดกล่องกระดาษเก็บดอกไม้เพลิง ที่ตั้งกองสุมไว้เป็นกองใหญ่ จนเกิดระเบิดขึ้นและคาดว่าช่างที่เข้าต่อเติมโกดังในครั้งนี้ มีทั้งหมด 5 คน เสียชีวิตทันที ส่วนรายละเอียดคงต้องรอผลการตรวจพิสูจน์โดยละเอียดของเจ้าหน้าที่อีกครั้ง ว่าเหตุการดังกล่าวเป็นความประมาทของผู้ใด มีการตรวจสอบการเก็บประทัดเป็นไปตามกฏหมายหรือไม่ และจากการสอบสวนในเบื้องต้นยังทราบว่าระหว่างเกิดเหตุเจ้าของโกดัง ไม่ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านพัก เนื่องจากเป็นวันหยุดยาว จึงพาสมาชิกในครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัด

จากการตรวจสอบ เจ้าของโกดังเปิดร้านขายของชำ และได้ขออนุญาตเปิดโกดังเพื่อเก็บของที่ขายด้วย และน่าจะมีการลักลอบนำพลุดอกไม้ไฟมาเก็บโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยขณะเกิดเหตุได้ให้ช่างเข้าไปซ่อมดัดแปลงร้านเพื่อทำชั้นวางของป้องกันน้ำท่วม คาดว่าประกายไฟที่เกิดจาดการเชื่อมกระเด็นใส่พลุไฟจนระเบิดขึ้น ล่าสุดทราบแล้วว่าเจ้าของโกดังเป็นใครและได้ประสานให้เข้ามาให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุโกดังเก็บประทัดในตลาดมูโนะครั้งนี้ ถือว่ามีความรุนแรงมากเพราะแรงระเบิดส่งผลให้ตลาดมูโนะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายสินค้าชายแดนแหล่งใหญ่ที่สุดของอำเภอสุไหงโก-ลกได้รับความเสียหายบ้านเรือนและร้านค้าถูกแรงระเบิดจนกลายเป็นเศษซากปรักหักพังที่นับว่าเป็นความสูญเสียของประชาชนในพื้นที่ หลังจากเพิ่งฟื้นตัวจากอุทกภัยครั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2565

ทั้งนี้จังหวัดนราธิวาสได้เปิดศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุโกดังเก็บระเบิดเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย จำนวน 40 ครัวเรือน รวมกว่า 100 คน รวมถึงเร่งประเมินความเสียหาย และได้ใช้ศูนย์กีฬาองค์การบริหารส่วนตำบลมูโนะ เพื่อเป็นที่พักอาศัยชั่วคราวแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงมีการเปิดครัวเพื่อทำข้าวกล่องมาแจกจ่ายให้ผู้ประสบภัยเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น  ส่วนในทางการกฎหมายตำรวจอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลและสืบสวนสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้น

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดเช่นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายจังหวัด เช่น ที่เพิ่งเคยเกิดที่ จังหวัดเชียงใหม่ และมาเกิดอีกที่ นราธิวาส ซึ่งจริงๆแล้ว ต้องมีการสำรวจการตั้งโรงงานอย่างระเอียดเพื่อการตรวจสอบว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ก็ต้องรีบย้ายออก

ขณะที่บทเรียนครั้งนี้อาจต้องเสริมความรู้ต่อการปฎิบัติตัวในชุมชนหากมีโรงงานประเภทนี้ตั้งอยู่ ที่สำคัญเสนอว่าหากอนาคตมีการทำประชาพิจารณ์สอบถามชุมชน ก่อนมีการจัดตั้ง เพราะโรงงานประเภทนี้มีความอันตรายสูง ประชาชนในรัศมี 5 กิโลเมตรนี้ก็ควรรับรู้ถึงความเสี่ยง

สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จากเหตุการณ์นี้พบว่าไม่มีการขอใบอนุญาตถูกต้อง ไม่เข้มงวดเท่าที่ควร ไม่ติดตามตรวจสอบ องค์ความรู้ให้ประชาชนก็น้อย ขณะเดียวกันต้องเข้มงวดการบังคับกฎหมายจริงจัง พร้อมตั้ง 4 ข้อสังเกตว่า

โรงานพลุ ดอกไม้ไฟระเบิด เกิดบ่อย โจทย์ใหญ่ที่ต้องทบทวน

1.เวลา 15.00 น.โกดังเก็บพลุ ประทัด ดอก ไม้ไฟ ของร้านวิรวัฒน์พาณิชย์ ในพื้นที่ บ. มูโนะ หมู่ที่ 1 ต.มูโนะ อ.สุไหงโก ลก จ. นราธิวาสระเบิดอย่างรุนแรงบ้านเรือนพังมากกว่า100หลังในรัศมีมากกว่า 500 เมตร มีคนบาดเจ็บและตายจำนวนมากสาเหตุมาจากการเชื่อมเหล็กต่อเติมในโกดังแล้วเปลวไฟกระเด็นไปติดกล่องกระดาษเก็บดอกไม้เพลิงที่ตั้งในโกดัง

2.ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 กำ หนดให้ “พลุ” “ดอกไม้ไฟ” หรือ “ดอกไม้เพลิง” เป็นวัตถุอันตรายโดยจัดเป็นวัตถุระเบิดชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีดินปืนเป็นส่วนประกอบหลัก สถานประกอบการหรือโรงงานผลิตจึงต้องตั้งอยู่ห่างจากชุมชม และได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมกับดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยทุกขั้นตอน ที่สำคัญไม่อนุญาตให้ดัดแปลงที่พักอาศัยเป็นโรงงานผลิตพลุและดอกไม้ไฟ

3.ส่วนประกอบหลักของพลุและดอกไม้ไฟเกิดจากการผสมกันของสารเคมีหลากหลายชนิดที่สำคัญคือ สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต ,สารซัลเฟอร์หรือกำมะถันและสารออกซิไดซ์อื่นๆทำหน้า ที่ให้ก๊าซออกซิเจนเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ สารเคมีที่ใช้จะเป็นพวกสารไนเตรทคลอเรตหรือเปอร์คลอเรต เช่นแอมโมเนียมเปอร์คลอเรต, แบเรียมไนเตรท ,โปแตสเซียมไนเตรท และสตรอนเทียมไนเตรท หากมีความร้อนหรือประกายไฟเกิดขึ้นจะเกิดการระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง

4.ตามประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับ ดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิงพ.ศ. 2547 ซึ่งในส่วนของการผลิตมีข้อบังคับคือ

กำหนดลักษณะของอาคาร สถานที่หรือบริเวณที่ผลิตดอกไม้ไฟต้องไม่ตั้งอยู่ในชุมชน กำหนดระยะห่างจากอาคารอื่นๆ และห่างจากแนวรั้วอย่างน้อย 20 เมตรโดยรอบ ต้องเป็นอาคารเอกเทศชั้นเดียว ต้องติดสายล่อฟ้าที่มีประสิทธิภาพ อาคารต้องสร้างด้วยวัสดุไม่ติดไฟ มั่นคง แข็งแรง ป้องกันไฟจากภายนอกลุกลามเข้าภายในได้ พื้นต้องเป็นวัสดุที่ไม่ก่อประกายไฟ ราบเรียบ ไม่ลื่น ไม่แตก ทำความสะอาดง่าย ไม่ดูดซับของเหลวหรือสารเคมี ต้องถ่ายเทอากาศได้ดีและกำหนด

“ห้ามทำการใดๆหรือกิจการใดๆที่อาจทำให้เกิดประกายไฟหรือความร้อน เช่น การปรุงอาหาร การจุดธูปเทียน การเจาะ การเชื่อมและประสานโลหะหรือสิ่งอื่นใด เป็นต้น หากดำนินการดังกล่าวต้องอยู่ห่างจากอาคารหรือสถานที่ใช้ผลิตดอกไม้อย่างน้อย15 เมตร”

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช้ครั้งแรก เพราะเคยเกิดมาแล้วทั้งที่ลำพูน เชียงใหม่ และจังหวัดทางภาคตะวันออก หลักๆคือ พลุหรือดอกไม้ไฟมีความซับซ้อนกว่าประทัดเล็กน้อย เพราะพวกมันถูกอัดด้วยดินปืน ซึ่งก็คือ ดินประสิว (โพแทสเซียมไนเตรต, KNO3) ผสมกับกำมะถัน และยังมีส่วนประกอบเพิ่มเติมอื่น ๆ ด้วย และส่วนประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้พลุมีประกายไฟที่มีสีสันแตกต่างออกไปจากประทัด พวกนี้จะอันตรายมาก โดยเฉพาะ โพแทสเซียมไนเตรต, KNO3 จะเป็นส่วนผสมของวัถุระเบิดด้วย ในอุบัติเหตุครั้งนี้ คือบทเรียนของหน่วยงานที่ต้องเข้มงวดตรวจสอบให้รัดกุมให้มากขึ้นเพื่อลดความสูญเสีย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active