แม้ปริมาณไนเตรตในน้ำมีค่าไม่เกินมาตรฐาน แต่ค่าความขุ่นค่าเกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ สาธารณสุขแนะ ปชช.ใช้น้ำที่หน่วยงานจัดเตรียมให้บริการ จนกว่าจะทราบผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีเชิงลึก
วานนี้ (1 ส.ค. 2566) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์โกดังเก็บพลุและดอกไม้เพลิงระเบิดที่ตลาดมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และบ้านเรือนเสียหายจำนวนมาก กรมอนามัยจึงได้มอบทีมปฏิบัติการฯ (ทีม SEhRT) ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ทำงานร่วมกับพื้นที่ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ และมอบหมายให้ทำการเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม
ด้าน นายแพทย์อรรถสิทธิ์ แดงมณี ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา เปิดเผยว่า ทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ได้ร่วมลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือและดูแลเรื่องสุขภาพประชาชน และเก็บตัวอย่างน้ำใช้เพื่อตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีในพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่การเก็บตัวอย่างออกเป็น 3 โซน คือ โซนไข่แดงรัศมีไม่เกิน 100 เมตร โซนไข่ขาว รัศมีไม่เกิน 100 – 500 เมตร โซนกระทะ รัศมีไม่เกิน 500 – 1000 เมตร ผลพบว่า ปริมาณไนเตรตในน้ำมีค่าไม่เกินมาตรฐานแต่ค่าความขุ่น มีค่าเกินค่ามาตรฐานในบางพื้นที่ จึงแนะนำให้ประชาชนใช้น้ำที่ทางหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จัดเตรียมให้บริการ จนกว่าจะทราบผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนสารเคมีเชิงลึกทางห้องปฏิบัติการฯ ในอีก 3 วัน
ทั้งนี้ หน่วยงานในพื้นที่ควรล้างบ่อน้ำที่เป็นแหล่งน้ำใช้หลักของชุมชนตามหลักสุขาภิบาล เพื่อให้ประชาชนสามารถนำน้ำมาใช้ได้ สำหรับอาหารและน้ำดื่มที่ภาครัฐและเอกชนนำมาช่วยเหลือให้แก่ชุมชนและศูนย์อพยพ ขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ควบคุม กำกับ ดูแลด้านความสะอาด และการประกอบปรุงให้เป็นตามหลักสุขาภิบาลอาหารอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเสี่ยงซ้ำซ้อนจากโรคระบาดที่มาจากอาหารน้ำเป็นสื่อ
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นสัญญาณให้ทุกหน่วยงาน ต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับโอกาสและความเสี่ยงสุขภาพ ตลอดจน ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน จากการเก็บ สะสมพลุหรือดอกไม้เพลิงไว้ในพื้นที่ โดยให้ทำการตรวจสอบและเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย การพิจารณากรอบการให้อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องร่วมกับพื้นที่ในลักษณะชุมชน ที่พักอาศัย เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำรอย เนื่องจากพลุและดอกไม้เพลิงมีส่วนประกอบของสารเคมีอันตราย และสารที่เป็นเชื้อเพลิงที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดและปนเปื้อนสารพิษในอากาศส่งผลกับระบบทางเดินหายใจของประชาชนได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งตรวจสอบกระบวนการผลิต การสะสม หรือการจัดเก็บสารเคมีตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตพลุ หรือดอกไม้เพลิงประเภทต่าง ๆ ของสถานประกอบกิจการในพื้นที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และควรมีมาตรการในการควบคุม กำกับ ที่เคร่งครัด พร้อมจัดทำแนวทางป้องกันไม่ให้มีการประกอบการเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน