ยื่นศาลแพ่งขอคุ้มครองชุมนุม ค้านร่างกฎหมาย NPO Bill

ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ไล่ฟ้องนายกฯ กองทัพบก กระทรวงการคลัง สตช. ฯลฯ เรียกค่าเสียหาย 1.8 ล้านบาท ละเมิดสิทธิเสรีภาพการชุมนุม ตั้งเป้าระดมคนเพิ่ม 28 พ.ค. เคลื่อนไหวใหญ่ กดดัน ครม. 30 พ.ค. นี้

วันนี้ (26 พ.ค. 2565) ที่หน้าอาคารสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ มีความพยายามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเจรจาขอคืนพื้นที่กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า “ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” หรือ No NPO Bill อย่างต่อเนื่อง​ ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม,​ ธนพร​ วิจันทร์ และพรทิพย์​ สยมชัย​ พร้อมประชาชนอีกว่า​ 20​ คน เป็นตัวแทนของขบวนฯ เดินทางไปศาลแพ่ง​ ถนนรัชดาภิเษก​ พร้อมกับทนายความ ยื่นฟ้อง พลเอก ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรี, กองทัพบก, กระทรวงการคลัง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ โดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอน มาตรา 9 ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน​ (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ที่ประกาศห้ามการชุมนุม โดยเห็นว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สามารถควบคุมได้ แต่การห้ามการชุมนุมสะท้อนว่ารัฐบาลต้องการขัดขวางการแสดงออกของประชาชนยิ่งกว่าการป้องกันโรคตามกฎหมาย

ชุมนุม NPO

สุทธิเกียรติ คชโส ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ EnLAW ระบุว่า การฟ้องครั้งนี้เรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพการชุมนุม เป็นเงิน 1.8 ล้านบาท และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมของกลุ่มประชาชน บริเวณหน้าอาคาร UN ไปจนถึงวันที่ 30 พฤษภาคมนี้  

ด้าน สุภาภรณ์ มาลัยลอย ตัวแทนขบวนฯ กังวลว่า รัฐบาลจะผ่านร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร ฉบับนี้อย่างรวดเร็ว ทำให้เวลานี้องค์กรภาคประชาชนหลายเครือข่ายได้ร่วมกันคัดค้านอย่างเต็มที่ โดยหากกฎหมายบังคับใช้ จะพลิกโฉม กลุ่มองค์กร ไม่แสวงหากำไร ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบโครงการรัฐ และการทำงานของรัฐบาล และยังรวมถึงเครือข่ายที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้านวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อมด้วย เพราะอาจถูกตีความตามมาตรา 20 ของร่างกฎหมายดังกล่าวว่า เป็นกิจกรรมที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ​ รวมถึงความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รัฐสามารถปิดกั้นการรวมกลุ่มหรือแจ้งให้ยุติการดำเนินงานได้ทันที 

“ส่วนประเด็นเรื่องการตรวจสอบที่มาของรายได้ และเงินทุนสนับสนุนจากงบฯจากต่างประเทศ ขององค์กรไม่แสวงหากำไร รวมถึง มูลนิธิ ต่างๆ ยังเป็นประเด็นที่รองลงมา เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายสรรพากร และกฎหมายฟอกเงินตรวจสอบอยู่แล้ว” 

ด้าน มณีนุด​ อุทัยเรือง กลุ่มประชาชนคัดค้านเหมืองหินดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู ที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวยืนยันว่า กฎหมายนี้จะกระทบโดยตรง ซึ่งการรวมตัวกันของชาวบ้าน ถือเป็นเครื่องมือเดียวที่ใช้ต่อสู้กับกลุ่มทุนและปกป้องสิทธิชุมชน จากความไม่เป็นธรรมของการแบ่งปันทรัพยากร ดังนั้น ความพยายามออกกฎหมายมาสกัดการรวมกลุ่มของประชาชน​ ก็เท่ากับการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปด้วย

เธอย้ำว่า นี่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ของการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ซึ่งผู้ชุมนุมเองตั้งเป้าระดมมวลชนให้มากขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคมเป็นต้นไป​ เพื่อกดดันรัฐบาลและการประชุม ครม. ที่จะเกิดขึ้นในวันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคมนี้ จะต้องได้ข้อยุติการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวทันที 

ขณะที่ชาวบ้านราว 200 คน ที่ยังปักหลักอยู่บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ยังคงรอฟังคำพิพากษาจากศาลแพ่งที่จะมีคำพิจารณาไต่สวนฉุกเฉิน ในบ่ายวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค.) ว่าจะคุ้มครองการชุมนุมหรือไม่


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS