เปลี่ยนคำนำหน้านามให้ได้รับสิทธิตามเพศสภาพ เตรียมจัดทำสมุดปกขาว ทำประชาพิจารณ์ 4 จังหวัด กระตุ้นการมีส่วนร่วมก่อนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
แม้จะสิ้นสุด Pride Month เทศกาลเฉลิมฉลองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) แต่สำหรับการรณรงค์สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ การต่อสู้เพื่อกฎหมายที่เสมอภาค ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้
วันที่ 30 มิ.ย.2565 เครือข่าย LGBTQIAN+ แถลงข่าวเปิดตัวกฎหมายอีกหนึ่งฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. … อย่างเป็นทางการ โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน สถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในไทย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรรคการเมือง และภาคประชาชน ร่วมรับฟังเพื่อนำไปสู่การผลักดันตามกระบวนทางกฎหมายต่อไป
การเสวนาเริ่มต้นด้วยภาคีเครือข่ายที่ร่วมผลักดัน ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ กล่าวว่า เรื่องสถานะบุคคล เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างแยกกันไม่ออก ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือการมีกฎหมายเพื่อให้มีการรับรอง คุ้มครองบุคคลเหล่านั้น จนเกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เช่น สถานะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น เพศชาย จะต้องเกณฑ์ทหาร หรือสถานะที่ติดมากับอายุ เช่น การบรรลุนิติภาวะถึงจะกระทำการสิ่งหนึ่งได้ สถานะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ล้วนเกิดจากกฎหมายทั้งสิ้น
แต่ในประเทศไทย เรื่องนี้อาจบิดเบี้ยวไปสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง คือ สถานะทางเพศ ที่เกิดขึ้นจากบุคคลที่มีสถานะตามกฎหมายซึ่งรองรับความเป็นเพศชาย-หญิงอยู่ ซึ่งขัดแย้งกับผู้ที่เป็นบุคคลข้ามเพศ (Transgender) และเพศกำกวม (Intersex) เป็นการขัดแย้งโดยสิ้นเชิง ถือเป็นการกลั่นแกล้งโดยเพศสภาพของบุคคลที่จะสามารถข้ามเพศสรีระ หรือข้ามเพศสภาพได้
ณ วันที่เกิด รัฐจึงต้องคิดว่าการรับรองสิทธิเกิดขึ้นตั้งแต่บุคคลรับรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเมื่อไหร่ วันนั้นบุคคลก็จะไม่ได้เป็นผู้ที่มีเพศสภาพตามกฏหมายเมื่อแรกเกิดอีกแล้ว หากปล่อยไว้ในระยะยาวจะก่อให้เกิดปัญหาในการเลือกปฏิบัติ เช่น การกระทำความรุนแรงทางกาย วาจา จิตใจ และเป็นการเลือกปฏิบัติในโลกของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับโลกของเศรษฐกิจ สาธารณสุขกระบวนการยุติธรรม แม้กระทั่งเรื่องของการดำเนินชีวิต
“แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิงมีอยู่วิธีเดียว คือเราต้องมีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และการแสดงออกทางเพศคุณลักษณะทางเพศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
กิตตินันท์ ธรมธัช
ปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศที่คนข้ามเพศสามารถทำเรื่องขอเปลี่ยนเพศหรือคำนำหน้านามในเอกสารทางราชการ โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากแพทย์ เช่น อาร์เจนตินา ในปี 2012 เป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้คนข้ามเพศเปลี่ยนเพศในเอกสารทางกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากแพทย์หรือยืนยันจากจิตแพทย์ กฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนหรือเสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์จากสมาชิกวุฒิสภา ประเทศที่สอง คือประเทศมอลตา ในปี 2015 ได้ออกกฎหมายคล้ายกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศที่ไทยกำลังผลักดันอยู่ ที่ให้สิทธิรับรองเพศสภาพแก่คนข้ามเพศและบุคคลเพศกำกวม กฎหมายฉบับนี้มาพร้อมกับการห้ามไม่ให้ผ่าตัดเลือกเพศแก่เด็กที่มีเพศกำกวมโดยปราศจากการได้รับการยินยอมจากบุคคลนั้นก่อน ประเทศที่สาม ไอซ์แลนในปี 2019 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่อนุญาตให้คนข้ามเพศทุกคนสามารถยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศกับนายทะเบียนได้โดยไม่ต้องใช้เอกสารทางการแพทย์ เอกสารรับรองจากจิตแพทย์ สามารถเข้าไปที่นายทะเบียนเพื่อประสงค์จะเปลี่ยนได้ทันทีโดยที่คนที่ประสงค์จะเปลี่ยนคำนำหน้านามหรือเปลี่ยนเพศในเอกสารราชการสามารถที่จะระบุเพศของตัวเองเป็นชาย หญิงหรือเพศอื่นได้
ณชเล บุญญาภิสมภาร นักรณรงค์เคลื่อนไหวข้ามเพศ เพื่อสิทธิคนข้ามเพศ อธิบายว่า ตามหลักการยอกยาการ์ตา ซึ่งเป็นหลักการที่ว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อสร้างหลักประกันคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ก้าวไปสู่ความเสมอภาคและความเคารพในสิทธิทางเพศ โดยมีหลักการทั้งหมด 38 ข้อ แต่ข้อที่น่าสนใจคือข้อ 31 กล่าวไว้ว่าสิทธิของการถูกรับรองทางกฎหมาย ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีสิทธิเข้าถึงการรับรองทางกฎหมายโดยไม่ถูกบังคับให้ปรับเปลี่ยนสรีระ หรือเปิดเผยเพศสภาพ ความพึงพอใจทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และลักษณะทางเพศสรีระ มนุษย์มีสิทธิเข้าถึงเอกสารทางกฎหมายที่ใช้รับรองอัตลักษณ์ที่รวมถึงสูติบัตรไม่ว่าจะพึงพอใจทางเพศสภาพ การแสดงออกหรือลักษณะเพศสรีระทางเพศแบบใดก็ตาม มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการเปลี่ยนข้อมูลอัตลักษณ์ทางเพศของตนในเอกสารทุกฉบับที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ
ในหลักการข้อนี้ยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับภาครัฐและผู้ออกแบบนโยบายไว้ว่ารัฐต้องส่งเสริมกระบวนการเปลี่ยนเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศที่รวดเร็วเข้าใจง่ายและเข้าถึงง่าย สอง รัฐต้องมีตัวเลือกอัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลที่ครอบคลุมและหลากหลาย สาม รัฐไม่ควรมีเงื่อนไขใดที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทางการแพทย์ และจิตแพทย์ การวินิจฉัยของจิตแพทย์ การกำหนดอายุขั้นต่ำ สูง สถานะทางเศรษฐกิจสุขภาพ สถานะสมรส สถานะการเป็นผู้ปกครองหรือแม้กระทั่งได้รับการยืนยันจากบุคคลที่สาม เพื่อใช้กับบุคคลที่ยื่นเจตจำนงในการเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศในเอกสารราชการ และข้อสุดท้ายรัฐต้องไม่นำประวัติอาชญากรรมประวัติสถานะของการข้ามแดน หรือสถานะใดๆ มาเป็นเครื่องมือในการขัดขวางให้บุคคลคนหนึ่งเข้าหรือถึงสิทธิในการเปลี่ยนข้อมูลอัตลักษณ์ทางเพศในเอกสารราชการของรัฐ
ณชเล กล่าวย้ำว่า หลักการสำคัญที่อยากจะให้ทราบร่วมกัน คือประเทศทั้งหมดที่มีความก้าวหน้า ใช้หลักการในการยืนยันตัวตนบุคคลจากเจตจำนงของบุคคลคนนั้น เป็นโมเดลปฏิบัติที่สำคัญในการออกแบบกฎหมายที่ใช้ในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในหลายประเทศ และในร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศฯ ที่ไทยกำลังผลักดันอยู่ก็นำหลักการนี้มาจัดทำ เพราะเห็นประโยชน์ที่ตกอยู่กับผู้รับเป็นสำคัญ และจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการคิดสร้าง และตัดสินใจในกฎหมายและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้รับ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของคนข้ามเพศและบุคคลที่มีเพศไม่ตรงกำเนิดทุกคน ซึ่งหลักการเหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการเคลื่อนไหวประเด็นการสร้างกฎหมาย การพัฒนากฎหมาย นโยบาย โดยเฉพาะกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในฐานะองค์กรภาคีที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้คำนึงถึงหลักการที่เป็นสากลเหล่านี้ เพื่อใช้ในการออกแบบกฎหมาย และย้ำความสำคัญที่ทำให้ทุกกระบวนการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว
“Nothing for Trans without Trans ไม่มีอะไรที่เป็นของคนข้ามเพศ หากคนข้ามเพศไม่ได้มีส่วนร่วม ประโยคนี้ย้ำเตือนพวกเราเสมอว่าการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียเป็นเรื่องสำคัญมากในการออกแบบกฎหมาย หรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศ เราต้องเชื่อว่าคนข้ามเพศเราสามารถดูแลชีวิตของพวกเราเองได้”
ณชเล บุญญาภิสมภาร
ด้าน รณกฤต หะมิชาติ สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย ทรานส์แมน กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็น one for all อย่างแท้จริง คนทุกกลุ่มสามารถถูกรับรองอัตลักษณ์ทางเพศใหม่ได้ จากในอดีตได้มีการถกเถียงกันมากมายระหว่างกลุ่มคนที่แปลงเพศแล้ว และกลุ่มคนที่ยังไม่ได้แปลงเพศว่าใครสมควรที่จะได้รับรองสิทธิทางเพศใหม่ แต่จริงๆ แล้วในโลกปัจจุบันกลุ่มคนข้ามเพศหลายคน ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงการผ่าตัดแปลงเพศ จากปัญหาเรื่องของสุขภาพส่วนตัว หรือสภาพคล่องในครอบครัว แต่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มที่ขาดโอกาสเหล่านี้จะไม่ต้องถูกรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และยิ่งปัจจุบันโลกมีการพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ค้นพบว่ามนุษย์มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมากเพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามควรที่จะได้รับความเสมอภาคในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และที่สำคัญไม่ควรใช้ความคิดในอดีตมาเป็นตัวตัดสินหรือกำหนดสิทธิพื้นฐานของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
อีกกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์คือกลุ่มเพศกำกวมเพราะกฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ว่า กลุ่มคนที่เกิดมาแล้วมีเพศกำกวมจะต้องไม่ถูกกำหนดระบุเพศลงไปในสูติบัตร รวมถึงต้องไม่ถูกบังคับให้มีการเปลี่ยนเพศจนกว่าจะได้รับการยินยอมจากเจ้าตัว และกฎหมายฉบับนี้ได้มองไปไกลอีกในเรื่องของเสาหลักในการสร้างครอบครัว การจดทะเบียนสมรส การมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ประโยชน์จากทุกภาคส่วน แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือชุมชนของ Non-binary (กลุ่มคนที่ไม่ต้องการระบุตัวเองเป็นเพศชายหรือเพศหญิง) แม้จะถูกมองเป็นคนกลุ่มน้อยแต่ก็ไม่ควรถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในอนาคตจะมีการทำประชาพิจารณ์ เพราะเข้าใจแล้วว่าการที่จะร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาไม่สามารถขีดเขียนลงไปเพียงกรอบความคิดของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือการฟังเสียง รู้ประสบการณ์ของทุกคนและช่วยกันร่างกฎหมายฉบับนี้ให้สมบูรณ์
“เมื่อไหร่ก็ตามที่กฎหมายมีความก้าวหน้าประเทศก็มีความก้าวหน้าเมื่อไหร่ก็ตามที่กฎหมายก้าวหน้าผู้คนก็มีความก้าวหน้าด้วยเช่นเดียวกันและนั่นจะนำมาซึ่งความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและนั้นจะยิ่งทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น”
รณกฤต หะมิชาติ
ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังได้นักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน และความหลากหลายทางเพศ อย่าง ผศ.อารยา สุขสม จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะกองเลขาคณะกรรมการจัดทำร่างฯ โดยกล่าวถึงความรู้สึกส่วนตัว ว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างยากตรงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทัศนคติของคนอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยถูกอธิบายว่าคนข้ามเพศและเพศกำกวมมีความผิดปกติในด้านของอัตลักษณ์ และถูกจัดกลุ่มว่าเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิต และพฤติกรรม จนวันนี้องค์การอนามัยโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้ไปแล้ว และบอกว่าคนข้ามเพศหรือเพศกำกวมไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นเพียงความแตกต่างของเพศสภาพที่ไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดดังนั้นเวลาจะมีการแก้ปัญหาการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ต้องฉายให้ชัดว่าพวกเขาต้องการอะไร
ขณะที่ระบบกฎหมายไทยตั้งอยู่ในพื้นฐานของการมีแค่เพศชาย-หญิง (Binary) การจะมีสิทธิและหน้าที่ได้ต้องมีความเป็นบุคคลทางกฎหมายซึ่งยึดโยงแค่ 2 เพศ เพราะฉะนั้นปัญหาทุกวันนี้คือคนข้ามเพศไม่สามารถที่จะใช้สิทธิหรือหน้าที่ได้ตามอัตลักษณ์ที่ตัวเองต้องการ เพราะเห็นว่าถูกรองจากเพศกำเนิดอยู่ ในขณะที่เพศกำกวม มีปัญหาอีกแบบหนึ่งคือถูกเลือกเพศตั้งแต่เด็ก ผู้ปกครอง และหมอเลือกให้ตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นการที่บุคคลถูกเลือกเพศตั้งแต่เด็กโตขึ้นมามีปัญหา คืออาจจะเป็นอีกเพศก็ได้ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าคนข้ามเพศหรือเพศกำกวม มีปัญหาด้านอัตลักษณ์ทั้งคู่เพราะฉะนั้นความยากของกฎหมายฉบับนี้ คือจะเอาสองเรื่องนี้มาไว้ในกฎหมายฉบับเดียวกันได้อย่างไร
โดยกฎหมายฉบับนี้ตั้งอยู่บนหลักของสิทธิมนุษยชนสามเรื่อง หนึ่ง สิทธิในการรับรองในทางกฎหมาย ให้สอดคล้องกับเพศสภาพตามเจตจำนงของบุคคลนั้น รัฐห้ามบังคับให้บุคคลเข้าสู่กระบวนการรักษาในทางการแพทย์หรือแม้กระทั่งมีการปรึกษาทางด้านจิตเวช หรือต้องผ่านกระบวนการรักษาเพื่อนำมาสู่การรับรองในทางเพศ สอง สิทธิ์ในการคุ้มครองจากการกระทำที่ไม่ชอบในทางการแพทย์สำหรับเด็กที่เป็นเพศกำกวม ต้องไม่ถูกบังคับให้เลือกเพศตั้งแต่เกิด การผ่าตัดเรื่องเพศให้กับบุคคลถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระทำทรมาน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สาม สิทธิ์ในการจัดให้มีมาตรฐานสูงสุดด้านสุขภาพ โดยที่สามเสานี้แบ่งออกเป็นหกหมวด คือ
หมวด1 การรับรองและคุ้มครองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคล
หมวด2 การจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคล
หมวด3 การจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของเด็กที่มีเพศสรีระมากกว่าหนึ่งแบบ
หมวด4 การให้ความช่วยเหลือและให้บริการด้านสุขภาวะทางเพศ
หมวด5 ผลของการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ
หมวด 6 การป้องกันการเลือกปฏิบัติและการส่งเสริมความเสมอภาค
ด้าน ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำร่างฯ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในบันได จากทั้งหมดสามขั้นที่ภาคีเครือข่ายพยายามผลักดันก่อนเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย โดยวันนี้ได้เชิญหลายภาคส่วนเข้ามาเป็นคณะกรรมการในการจัดทำร่างฯ พร้อมกับการจัดทำสมุดปกขาวที่จะเป็นคำถาม-ตอบ เช่น สงสัยว่าต่อไปนี้จะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นเพศกำเนิดอะไร ก็จะมีคำตอบไว้เบื้องต้นว่าจริงๆ แล้วเราจำเป็นต้องรู้ไหม รู้เพื่ออะไรอยากจะรู้ต้องทำอย่างไร แต่ยืนยันว่ากฎหมายนี้เขียนบนหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ต่อให้ผ่านหรือไม่ผ่านอย่างน้อยกฎหมายนี้ ก็เขย่าวิธีคิดของคนในสังคมได้พอสมควร
บันไดขั้นที่สองที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ คือการทำประชาพิจารณ์ทั้ง 4 ภูมิภาค ขณะเดียวกันก็จะทำกับกลุ่มที่นิยามอัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายด้วย เช่น กลุ่ม Non-binary อยากจะมีพื้นที่เฉพาะเพื่อรับฟังความต้องการ เพราะต้องถือว่าขณะนี้ยังเป็นร่างฯ ที่สามารถแก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบกว่านี้ได้ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ
บันไดขั้นที่สาม คือการทำให้แนวคิดนำไปสู่การปฏิบัติได้คือการทำงานในสามมิติ มิติแรก การล่ารายชื่อเพื่อเสนอเป็นกฎหมายภาคประชาชน แม้จะยอมรับว่าสถานการณ์ที่ผ่านมาจะไม่เคยสำเร็จก็ตาม ล่าสุดด้วยมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วมากกว่าหนึ่งพันรายชื่อ มิติที่สอง จะทำงานกับพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อนำร่างฯ ฉบับนี้ ไปต่อยอดเป็นนโยบายของตัวเอง และมิติที่สามคือภาครัฐ โดยธรรมเนียมการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ต้องมีร่างฯ ของภาครัฐเข้าไปประกบหรือทำงานร่วมด้วย ซึ่งบันไดแต่ละขั้นไม่ง่าย จึงขอเชิญชวนประชาชนทุกคนร่วมกันสื่อสาร และเป็นส่วนร่วมหนึ่งของร่างฯ ฉบับนี้
อ่าน ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …
ในกิจกรรมยังมีการเดินขบวนบนถนน Walking Street สยามสแควร์ พร้อมร่วมปล่อยลูกโป่งสีรุ้งหลากสีสัน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ ในกรุงเทพฯ ให้ได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม.ในฐานะหน่วยงานรัฐ รวมถึงประชาชนให้ได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ และถือเป็นการปิดเทศกาล pride month อย่างเป็นทางการ