ประสานความช่วยเหลือเด็กหนีออกจากบ้าน​ หลังถูกพ่อทำร้ายเพราะแต่งหญิง

เพจดังติดต่อบ้านพักเด็กฯ พร้อมช่วยเหลือหากอยากปรับความเข้าใจ ด้านนักปกป้องสิทธิฯ -ส.ส.ก้าวไกล สะท้อนทัศนคติล้าหลัง เรียกร้องหน่วยงานรัฐ ใช้มาตรการทางกฎหมายโดยรัดกุม คำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กตามหลักสากล


จากกรณีเพจเฟซบุ๊ก ‘กัน จอมพลัง’ โพสต์ภาพร่างกายบอบช้ำของเยาวชนวัย 13 ปี ที่อ้างว่าถูกพ่อที่เป็นนักการเมืองทำร้าย เนื่องจากถูกจับได้ว่าแต่งตัวเป็นผู้หญิง จนต้องหนีออกจากบ้านและเข้าขอความช่วยเหลือกลางดึก โดยโพสต์เหตุการณ์นี้เมื่อวันที่ 14 ต.ค.65

“น้องเล่าว่าโดนมาหลายครั้งแล้วน้องแค่อยากให้พ่อฟังและเข้าใจน้องบ้าง ไม่ใช่แค่น้องไม่เป็นอย่างที่พ่อต้องการก็ทำร้ายน้อง ผมจะช่วยน้องอย่างเต็มที่ครับ”

ในเวลาต่อมาทางเพจยังได้เปิดเผยความคืบหน้า ระบุว่า ได้ช่วยเหลือเยาวชนที่หนีมาขอความช่วยเหลือโดยเดินทางไปรับที่ จ.เพชรบุรี พร้อมทั้งพาไปที่สถานีตำรวจทันที และประสานสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบุรี จัดหาที่อาศัยในบ้านพักเด็กและครอบครัวเป็นการชั่วคราว

เจ้าของเพจยังระบุอีกว่า ถ้าพ่อดูอยู่สิ่งที่น้องอยากได้คือ อยากให้พ่อรักน้องเหมือนมนุษย์คนหนึ่ง อย่าใช้ความรุนแรงกับน้อง และ เข้าใจในเพศสภาพของน้อง และยินดีช่วยให้ทั้ง 2 คนกลับมารักกันเพราะเชื่อว่าพ่อรักน้อง

ด้าน ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและรองกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ว่า การที่มีลูกนักการเมืองท่านหนึ่ง หนีออกจากบ้านเนื่องจากถูกผู้เป็นพ่อลงโทษด้วยเหตุผล อัตลักษณ์ และรสนิยมทางเพศ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ล้าหลัง ไม่เพียงแต่เป็นการทำร้ายร่างกายลูก แต่เป็นการเหยียบย่ำตัวตนของลูกด้วย

เด็ก เยาวชน ความหลากหลายทางเพศเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นครอบครัวทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าปัจจุบันที่สังคมจะยอมรับและก้าวหน้าไปมากแล้วก็ตาม วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่หลายครอบครัวยึดถือสร้างความกดดันและความรุนแรงกับผู้ที่มีความหลากหลายมาตลอด บางคนไม่สามารถแสดงตัวตนได้ที่บ้านเพราะกลัวพ่อแม่จะรับไม่ได้ พ่อแม่ผิดหวังเสียใจ การปลูกฝังแนวคิดแบบนี้จากในครอบครัวสู่สังคมคืออุปสรรคใหญ่ไม่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ไม่เพียงแต่มิติความเท่าเทียมสากล แต่รวมถึงมิติทางกฎหมาย ทำเนียมปฏิบัติที่แสดงออกต่อกันของคนในสังคม

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนที่สุดในสังคมคือการสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการสร้างความรักความเข้าใจ หน้าที่สำคัญของเราทุกคนคือการปกป้องเด็กและเยาวชน และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หากเรามีความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และไม่ต้องกลัวว่าเด็กที่มีความหลากหลายจะถูกเลือกปฏิบัติหรือรังเกียจจากสังคมอย่างที่พ่อแม่กังวล หากเขาได้รับความรักความเข้าใจที่แข็งแรงจากครอบครัว เขาจะทำหน้าที่ทำความเข้าใจในสังคมได้


“ธัญขอฝากถึงทุกครอบครัว คุณอาจเจ็บปวด ผิดหวัง หรือรับไม่ได้ที่ลูกไม่ได้เป็นในแบบที่คุณคิด แต่อยากให้พ่อแม่ทุกคนลองเข้าไปในหัวใจของลูกคุณ ยอมรับตัวตนของเขา พูดคุยรับฟังเรียนรู้สิ่งที่เขาเป็นเพราะความรักความเข้าใจจากครอบครัวคือเกราะที่จะเสริมให้ทุกคนเติบโตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ เพราะความรักนี้เองที่จะติดตัวเขาจนเติบใหญ่ที่จะแบ่งปันให้คนอื่นเช่นกัน”

ด้าน นาดา ไชยจิตต์ ที่ปรึกษางานรณรงค์มูลนิธิมานุษยะ และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ทวิตแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้เช่นเดียวกัน พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐจะต้องรีบดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมายโดยรัดกุม ร่องรอยบาดแผลที่เกิดขึ้นต่อร่างกายส่งผลต่อจิตใจของเด็กที่ก่อขึ้นโดยบิดาของเด็กที่อัตลักษณ์ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องถูกดำเนินการทางกฎหมายโดยต้องไม่เกรงกลัวต่อสถานะความเป็นนักการเมืองของผู้เป็นบิดา และต้องเร่งส่งเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพเข้ามาดูแลสภาพจิตใจ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กตามหลักการ The Best Interest of the Child และต้องไม่บังคับหรือผลักดันให้เด็กกลับไปอยู่กับครอบครัวจนกว่าจะออกมาตรการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กโดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสวัสดิภาพของเด็กสูงสุด

“ขอย้ำว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าว ไม่ใช่การแสดงความรักของบิดาต่อบุตร แต่คือการแสดงความเกลียดชังต่อคนข้ามเพศ #Transphobia เราจะต้องมองให้ลึกถึงความทับซ้อน เพราะความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ เป็นทั้ง #ความรุนแรงต่อเด็ก #ความรุนแรงต่ออัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และ #ความรุนแรงภายในครอบครัว”

ขณะที่ในโลกออนไลน์มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความห่วงใย พร้อมสื่อสารประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยของเยาวชน หากขาดการเปิดใจ เปิดพื้นที่รับฟัง เด็กอาจไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active